นายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับนักธุรกิจและทีมประเทศไทยในอินเดีย
ในระหว่างการเยือนอินเดียเป็นครั้งที่สองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันที่ 21 ธันวาคม 2555 นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับคณะนักธุรกิจและทีมประเทศไทยในอินเดียเพื่อติดตามการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและแก้ไขปัญหาการทำธุรกิจในอินเดีย รวมถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล
การเดินทางมาเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ครบรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้นำอาเซียนและอินเดียได้ทบทวนความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการเชื่อมโยง (connectivity) จากกลุ่มประเทศอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจา รวมถึงอินเดีย ซึ่งโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวายเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ผ่าน Eastern Seaboard ไปสู่ประเทศอินเดียได้
นอกจากนั้น โครงการถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดียก็จะส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบกด้วย และเพื่อรองรับการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนและการจัดทำ FTA ในกรอบต่างๆ รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาแรงงานในสายอุตสาหกรรมให้มีความชำนาญและความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของตลาด และการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านข้อมูลให้มีความเชื่อมโยง ทั้งด้านภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์
ทีมประเทศไทยในอินเดีย นำโดยทูตไทยประจำอินเดีย พร้อมด้วยกงสุลใหญ่ในเจนไน มุมไบ และกัลกัตตา และ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในนิวเดลี มุมไบ และเจนไน รวมถึง ผอ.ททท.ประจำนิวเดลี ได้กล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงการดำเนินงานของสถานทูต สถานกงสุล และทีมประเทศไทยในอินเดีย และตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของภาคเอกชนไทยในอินเดียที่สำคัญมี 2 ประเด็น ได้แก่
1) ความล่าช้าในการทำวีซ่าของ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไข และต้องมีช่องทางที่ภาคเอกชนจะสามารถติดตามได้จากสถานทูตอินเดีย ซึ่งในเรื่องนี้ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ของกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจด้านการกงสุลเพื่อติดตามและหารือปัญหาต่างๆ กับสถานทูตอินเดียแล้ว และ
2) ข้อกำหนดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานที่จะต้องติดตามการแก้ไข พรบ. ประกันสังคมให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถเจรจาจัดทำความตกลงด้านการประกันสังคมกับประเทศต่างๆ ได้
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่ดินทำกินที่ภาคเอกชนไทยเคยแจ้งว่าต้องการให้จัดสรรที่ดินในลักษณะนิคมอุตสาหรรมสำหรับภาคเอกชนไทย จึงขอให้ภาคเอกชนแจ้งตำแหน่งที่ประสงค์จะจัดตั้งธุรกิจ และสาขาที่จะลงทุน เพื่อเป็นข้อมูลในการประสานงานกับรัฐบาลอินเดียต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมข้อมูล
ทูตไทยยังแจ้งด้วยว่า ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของภาคเอกชนไทยในอินเดีย และเสนอให้ภาคเอกชนไทยพิจารณาจัดตั้งธุรกิจที่รัฐคุชราต ซึ่งเป็นรัฐที่ทูตไทยเห็นว่ามีความพร้อมสำหรับการลงทุนมากที่สุด และมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่มากกว่า 240 แห่ง โดยภาคเอกชนไทยสามารถสืบค้นข้อมูลด้านการค้าการลงทุน และข่าวสารอื่นๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดียจากเว็บไซต์ thaiindia.net
สำหรับภาคเอกชน ที่มีผู้แทนนำโดยนายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-India Business Council (AIBC) ซึ่งที่ประชุมตกลงจะร่วมมือด้านการเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร และด้านพลังงานโดยเฉพาะพลังงานทดแทน โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับไทยในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและการเกษตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล และการท่องเที่ยวโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นอกจากนั้น ฝ่ายอินเดียยังแสดงความสนใจโครงการทวายในการเชื่อมโยงมายังอินเดีย แต่ยังขาดข้อมูลและความเชื่อมั่น ซึ่งในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับโครงการทวายเพราะเป็นยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมโยงและโอกาสสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของโครงการความร่วมมือ ซึ่งได้ยกระดับจากบริษัทเป็นระหว่างรัฐ-รัฐ เพื่อเร่งรัดความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าประมาณเดือนเมษายนศกนี้ จะมีความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของความตกลงการค้าเสรี นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แจ้งข้อมูลล่าสุดว่า สำหรับกรอบ FTA อาเซียน-อินเดีย ภาคการค้าสินค้ามีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยจากสินค้า 500 รายการ จำนวน 70% จะลดภาษีเป็น 0 ภายในเดือนธันวาคม 2556 และสินค้าที่เหลือจะทยอยลดจนเป็น 0 ในปี 2559
สำหรับภาคบริการภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย อินเดียยอมผ่อนปรนไม่เจรจาเรื่อง individual professional ตามที่อาเซียนคัดค้านแล้ว แต่ยังคงต้องเจรจาต่อไปในเรื่องภาคการลงทุน ที่ไทยต้องการให้อินเดียส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนด้วย เพิ่มเติมจากที่อินเดียเสนอจะส่งเสริมการลงทุนเพียงอย่างเดียว สำหรับ FTA ไทย-อินเดีย นั้น ในส่วนสินค้ายังติดค้างอยู่ 2 ประเด็น คือ SPS (เกษตร) กับ TPT (อุตสาหกรรม)
ภาคเอกชนไทยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับนายกรัฐมนตรีอีกหลายประเด็น ที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน การเปิด rubber fund สนับสนุนอุตสาหกรรมยางในไทย และการยกระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตรให้ตอบสนองกับตลาดบน โดยการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพดีจากประเทศต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ข้อคิดว่า การลงทุนในอินเดีย จะต้องหา partner ที่ดี เพราะจะสามารถช่วยได้มาก และต้องใจเย็น และรู้จักการเจรจาต่อรอง
ในส่วนของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม รับที่จะไปรวบรวมข้อมูลความต้องการของภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับการลงทุนในอินเดีย และติดตามการจัดตั้ง business forum ซึ่งเป็นผลจากการเยือนอินเดียครั้งที่แล้วของนายกรัฐมนตรี โดยแจ้งว่า ได้ไปพบกับอธิบดีกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม (Department of Industrial Policy and Promotion – DIPP) เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง business forum
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมยังมีกำหนดการแยกไปพบกับนักธุรกิจชั้นนำของอินเดีย และได้แจ้งข่าวดีต่อภาคธุรกิจเกี่ยวกับความต้องการจัดทำความร่วมมือของบริษัทอินเดียกับไทยว่า บริษัท Punj Lloyd สนใจนิคมอุตสาหกรรมท่าอากาศยาน และ Aditya Birla Group ต้องการส่งเสริมโครงสร้างการผลิตแบบใหม่ที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังมีบริษัทยางอีก 2 บริษัทแสดงความสนใจด้วย และได้มอบหมายให้ BOI ติดตามและประสานงานกับภาคเอกชนอินเดียต่อไป
ก่อนจบการหารือกัน นายกรัฐมนตรีสรุปว่า ประเทศอินเดียมีศักยภาพด้านการค้าการลงทุน แต่เนื่องจากนักลงทุนไทยยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียอีกมาก จึงขอให้ BOI กระทรวงพาณิชย์ และสถานทูตไทย ร่วมกันจัดทำข้อมูลเชิงลึก และศึกษาวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้สามารถประมวลภาพรวมและประเมินผลการลงทุนในอินเดียได้
ในการเยือนอินเดียครั้งนี้ นักธุรกิจในสาขาต่างๆ อาทิ เช่น อาหาร/สินค้าเกษตร พลังงาน/เศรษฐกิจสีเขียว การท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงผู้แทนสภาธุรกิจและสมาคมต่างๆ ทั้งหมด 21 คน ได้ร่วมคณะกับนายกรัฐมนตรีมาด้วย
โดยนักธุรกิจบางส่วนได้เดินทางล่วงหน้ามาเข้าร่วมงาน India-ASEAN Business Fair ที่ศูนย์การประชุม Pragati Maidan ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 เพื่อจับคู่ธุรกิจกับฝ่ายอินเดีย
ก่อนหน้าจะพบปะกับนายกรัฐมนตรี ในช่วงบ่ายวันที่ 20 ธันวาคม คณะนักธุรกิจเหล่านี้ได้แบ่งกลุ่มไปดูงานตามธุรกิจที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ Punj Lloyd Limited, Gems and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) และ Jindal Steel & Power
พจมาศ แสงเทียน และ
คณิน บุญญะโสภัต
รายงานจากกรุงนิวเดลี
26 ธ.ค. 55