ไก่ห้าดาวไทยสยายปีกสร้างความนิยมในอินเดีย
เครือซีพีในอินเดียนำแบรนด์ไก่ห้าดาวมาตีตลาดอินเดีย เพิ่มมิติการลงทุนจาก 3 ธุรกิจหลักของบริษัทในแดนภารตะที่เดิมมีอยู่คือ ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ปีก และธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด
เมื่อเร็วๆ นี้ Thaiindia.net ได้รับรายงานมาว่า ไก่ห้าดาวของบริษัทซีพีเอฟ ของเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่ถูกนำเข้ามาลุยตลาดอินเดียตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่เมืองบังกะลอร์เป็นที่แรกนั้น มีผลประกอบการที่ดี และซีพีเอฟมีแผนจะขยายสาขาไปยังรัฐอานธรประเทศและรัฐทมิฬนาฑู
ทีม Thaiindia.net จึงขอถือโอกาสประมวลเสียงตอบรับของชาวอินเดียต่อไก่หน้าดาวซีพีว่าเป็นอย่างไร รวมถึงเจาะลึกเคล็ดลับของซีพีเอฟว่าทำอย่างไรไก่ห้าดาวของไทยจึงมาสยายปีกประสบความสำเร็จได้ในตลาดอินเดียสุดหินแห่งนี้
ไก่ย่างห้าดาวที่เริ่มต้นกิจการในไทยตั้งแต่ปี 1985 และคนไทยคุ้นหูกันว่าเป็น ไก่ย่างห้าดาวนั้น เข้ามาบุกตลาดเมืองบังกะลอร์เป็นเมืองแรกในอินเดียโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ลักษณะธุรกิจจะมีสองแบบ คือเป็นร้านจานด่วนแบบสั่งกลับบ้าน (take away) ไม่มีโต๊ะนั่งรับประทาน และร้านที่เปิดร่วมกับศูนย์อาหาร (food court) และขายร่วมกับร้านอาหารท้องถิ่น
เมนูเด็ดไก่ทอด Crunchy Masala
เมนูไก่ห้าดาวที่ขายอยู่ในขณะนี้ประกอบด้วย เมนูกินเล่นคือ Chilly Nugget และ Spicy Finger และเมนูอาหารหลักได้แก่ Star Amazing (Thai), Masala Delight (Indian), Thai Crispy, Crunchy Masala, Spicy Rolls และ Chicken Cheesy Balls
ผลตอบรับของผู้บริโภคอินเดียปรากฏว่า ชาวอินเดียชื่นชอบไกห้าดาวของซีพีเพราะรสชาติที่ถูกปากและที่สำคัญคือคุณภาพของไก่ ที่เป็นไก่คุณภาพและมีรสชาติเนื้อไก่แท้ๆ และดูจะถูกยกให้เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารฟาสต์ฟูดหลายๆ แห่ง
คุณ Sanjeev Pant รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ของซีพีเอฟ กล่าวว่า หลักการของไก่ห้าดาวในอินเดียประกอบด้วย Great taste คือการผสมผสานรสชาติแบบอินเดีย ไทย และเอเชียเข้าด้วยกันโดยทีม R&D ของซีพี Superior Quality รับประกันคุณภาพและความปลอดภัยจากฟาร์มถึงจาน และ Great Value for Money ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นการจัดการของซีพีทั้งหมด ทำให้สามารถส่งต่อคุณภาพไก่มายังผู้บริโภคได้ในราคาที่เหมาะสม
คุณ Sanjeev ยังกล่าวอีกว่า คำขวัญของไก่ห้าดาวในอินเดียคือ Chicken for Everyone and Everywhere เพราะซีพีเลือกที่จะนำไก่คุณภาพของซีพีไปสู่กลุ่มตลาดขนาดใหญ่ คือให้เข้าถึงได้ทุกครัวเรือน ด้วยเหตุนี้ ซีพีจึงมีการโปรโมทไก่ห้าดาวเป็นอาหารฮาลาล 100% เพื่อเอาใจชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีอยู่เกือบ 200 ล้านคนด้วย
ด้วยหลักการตลาดที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ขณะนี้ไก่ห้าดาวมีเอาท์เล็ตในบังกะลอร์แล้วถึง 33 สาขา และซีพีเอฟมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 50 สาขาภายในปีนี้ และ 500 สาขาทั่วอินเดียใน 5 ปีข้างหน้า ให้ครอบคลุมเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น ไฮเดอราบัด มุมไบ และเดลี เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดีย
การต่อยอดธุรกิจไก่ห้าดาวของซีพี จะเริ่มต้นด้วยการให้แบรนด์สินค้าติดตลาด โดยเฉพาะการขยายไปสู่ฟู้ดคอร์ต ซี่งมีแผนจะใช้พื้นที่ขนาดเล็กเพียง 150 ตารางฟุต และบุคลากรเพียง 2 คนในการบริหาร สร้างความคล่องตัวในการขยายสาขาเข้าสู่ทำเลพื้นที่จำกัดเช่นอาคารสำนักงาน ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์อาหาร และศูนย์การค้า
กลยุทธ์เด็ด ร้าน Five Star Cafe
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีกลยุทธ์ใหม่ โดยได้เปิดตัว "Five Star Café" ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับร้าน Chester Grill ในประเทศไทย ไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดย Five Star Café ให้บริการตั้งแต่ชากาแฟไปจนถึงไก่หลายรูปแบบ นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเตรียมจะรุกต่อด้วยแผนขยายตลาดในเมืองเจนไน เมืองหลวงรัฐทมิฬนาฑูในเดือนตุลาคมนี้ด้วย
ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดเชนในอินเดีย เช่น เคเอฟซี, แมคโดนัลด์ และซับเวย์ เติบโตอย่างรวดเร็วประมาณ 20-30% ต่อปี เนื่องจากจำนวนประชากรของอินเดีย กว่า 60% อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่ง นิยมบริโภคอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) และแนวโน้มประชากรจะหันมาบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นจากปัจจุบันที่ผู้บริโภคมังสวิรัติและเนื้อสัตว์มีปริมาณเท่ากันคือ 50:50 ของจำนวนประชากร
ไก่ห้าดาวเป็นธุรกิจภายใต้ซีพีเอฟ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย มีสาขามากกว่า 6 พันสาขา ที่ผ่านมาซีพีเอฟได้ใช่ประสบการในธุรกิจ ทั้งด้านการผลิต การควบคุมคุณภาพและการกระจายสินค้า ขยายธุรกิจไก่ห้าดาวไปในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาวและบังกลาเทศ รวมทั้งอินเดียในปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันซีพีเอฟมีโรงงานอาหารสัตว์ในอินเดีย 7-8 แห่ง ตามแผนพัฒนาธุรกิจ 5 ปีของบริษัทรายได้จากธุรกิจอาหารจะมีสัดส่วนเป็น 25% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์ม
คณิน บุญญะโสภัต
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
17 กรกฎาคม 2556