ปัจจุบัน อินเดียได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศอินเดียอย่างมากมาย บริษัทไทยเป็นจำนวนมากก็ให้ความสนใจในตลาดอินเดียเช่นกัน และหลายบริษัทก็ได้เข้ามาลงทุนดำเนินกิจการในประเทศอินเดียแล้ว ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความครั้งก่อนๆ เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อบเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซัมมิท โอโตซีท อินดัสตรี จำกัด บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
บริษัทซีพีเป็นบริษัทไทยอีกบริษัทหนึ่งที่ได้เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศอินเดีย และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 นายบุญญฤทธิ์ ยี่สาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส นายเฉลิมเกียรติ พลรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด และนายเทพ เทพสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัด ได้เดินทางมาเข้าพบหารือกับนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต
กว่า 19 ปีแล้วที่บริษัทซีพีเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศอินเดีย โดยเริ่มเข้ามาอินเดียเมื่อปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเปิดประเทศ ตามคำเชิญของนาย Narasimha Rao นายกรัฐมนตรีอินเดียโดยในยุคนั้น ซึ่งมีนาย Manmohan Singh (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐบาลอินเดียในยุคนั้นดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียต มาเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดแทน และได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและเปิดประเทศมากขึ้น ตลอดจนเริ่มส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและภาคบริการสาขาต่างๆ
หลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา (ปี 2537) บริษัทฯ จึงเริ่มการลงทุนในอินเดียและได้ขยายกิจการมาเป็นลำดับ โดยปัจจุบัน
มี 3 บริษัทในอินเดีย คือ (1) บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและปลา เพาะฟักลูกกุ้ง (2) บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายอาหารไก่ เพาะฟักลูกไก่ และ (3) บริษัท Charoen Pokphand Seeds จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดพันธุ์ผสม และบริษัทเหล่านี้มีแผนที่จะขยายธุรกิจในอินเดียต่อไป
สิ่งที่น่าเรียนรู้จากบริษัทซีพี ก็คือ เนื่องจากการดำเนินงานของบริษัทฯ นั้น มีการสร้างมลภาวะด้วย ดังนั้น เพื่อลดแรงต่อต้านและสร้างแรงสนับสนุนจากคนในชุมชนบริเวณใกล้เคียง บริษัทฯ จึงได้นำคณะแพทย์ประจำโรงงานไปให้บริการการแพทย์และยาให้ชุมชนเหล่านั้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำธุรกิจในอินเดียให้กับบริษัทไทยอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อที่ดินตั้งโรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจในอินเดียมีข้อควรพึงระวังที่นักธุรกิจไทยควรรับทราบเอาไว้ เช่น อิทธิพลของสหภาพแรงงานในรัฐที่ตั้งของบริษัท/โรงงาน กฎระเบียบเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีสำหรับการขอรับวีซ่าประเภททำงาน และปัญหา/ความไม่สะดวกที่เกิดจากกฎระเบียบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของแรงงานต่างชาติ ซึ่งกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่จ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสามารถขอรับคืนเงินสะสมทั้งหมดพร้อมผลประโยชน์ได้ เมื่อเกษียณอายุภายหลังอายุครบ 58 ปีไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทซีพีในอินเดียได้จากเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ http://www.mycpindia.com และ http://aqua.mycpindia.com/
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
20 มิถุนายน 2554