เอกชนไทยยืนยัน ลุยอินเดียต่อแน่ ฝากความหวังทูตไทยคนใหม่
ทูตไทยประจำอินเดียบินลัดฟ้า ส่งท้ายก่อนอำลาตำแหน่ง จัดสัมมนากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ไทยในอินเดียที่กรุงเทพฯ ได้ทูตอินเดียประจำประเทศไทยร่วมไขปัญหาวีซ่าโลกแตก และเชิญชวนเอกชนไทยลงทุน 6 สาขาในอินเดีย
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย เป็นหัวหอกจัดการสัมมนาเพื่อสรุปผลการทำงานร่วมกันระหว่างทีมประเทศไทยในอินเดียกับภาคเอกชน ในการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทไทยในอินเดีย ส่งท้ายก่อนย้ายไปเป็นทูตที่แคนาดา
งานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไทยยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในอินเดียเข้าร่วมกันคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณอนุสรณ์ มุทรอิศ กรรมการบริหาร เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) ในฐานะประธานร่วมภาคเอกชนไทย-อินเดีย (Thailand-India Business Forum) คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรื่องกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท ดร.ณัฏฐวุฒิ อุทัยเสน ที่ปรึกษา อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ คุณขวัญชัย ชัยเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีกรุ๊ป (อินเดีย) คุณเมธา จันทร์แจ่มจรัส กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บ้านพฤกษา และคุณชาคริต วรชาครียนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร็อคเวิร์ธเฟอร์นิเจอร์
โดยนอกจากภาคเอกชนไทยแล้ว ผู้จัดยังได้รับเกียรติจากท่านทูตชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคไร ที่กำลังจะไปรับตำแหน่งทูตไทยประจำอินเดียคนใหม่แทนท่านทูตพิศาลเร็วๆ นี้ และนายอนิล วาธวา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ที่มาช่วยตอบคำถามเอกชนเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในอินเดีย ตลอดจนความคืบหน้าการแก้ปัญหาวีซ่าทำงานของคนงานไทย
ในช่วงต้น เอกชนไทยได้แสดงความพึงพอใจกับการลงทุนทำธุรกิจในอินเดีย ตลอดจนการสนับสนุนจากทีมประเทศไทยในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกลั่นกรองโอกาสและนำเอกชนไปบุกเบิกรัฐใหม่ๆ ขณะนี้ แทบทุกบริษัทมีผลการประกอบการที่ดี และมีแผนที่จะขยายธุรกิจในอินเดียทั้งสิ้น โดยมีหลายบริษัทกำลังเล็งที่จะไปตั้งโรงงานในรัฐคุชราต ที่ทีมประเทศไทยได้เบิกทางไว้ให้ก่อน ด้วยการนำทีมเยือนและเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของรัฐ
เอกชนไทยยังได้เน้นย้ำว่า การเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียไม่ได้เพียงแต่หวังกำไร แต่ต้องการช่วยสร้างงานให้กับคนอินเดียด้วยการจ้างงานคนอินเดียจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม งานหลายอย่างยังต้องการผู้เชี่ยวชาญจากไทยเพราะแรงงานท้องถิ่นอินเดียยังไม่สามารถทำได้ จึงต้องการได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอินเดียเรื่องวีซ่าทำงาน เพราะจะเป็นการช่วยถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีให้กับอินเดียด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทูตอินเดียชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านคณะทำงานเฉพาะกิจด้านกงสุลที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพราะการรัฐบาลอินเดียกำหนดรายได้แรงงานต่างชาติขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์ต่อปี ก็เพื่อปกป้องงานท้องถิ่นที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียก็ได้เริ่มอนุโลมให้แรงงานไทยที่มีรายได้น้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อปีไปทำงานในอินเดียได้แล้ว หากเห็นว่าเป็นงานที่จำเป็นต้องใช้ทักษะพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความล่าช้า ตลอดจนเอกสารการขอวีซ่าที่ซับซ้อน ซึ่งทูตอินเดียแจ้งว่า ที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียก็ได้ให้ความสะดวกกับบริษัทไทยรายใหญ่โดยออกวีซ่าธรุกิจให้ได้ภายใน 2-3 วันอยู่แล้ว แต่อาจติดปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างบริษัทรับคำร้อง outsource ของ สถานทูตฯ กับเอเย่นต์ที่ยื่นคำร้องแทนบริษัทไทย ทำให้บางรายต้องใช้เวลานาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน สถานทูตอินเดียได้เปลี่ยนบริษัท outsource ใหม่ และกำชับให้บริษัทรับคำร้องโดยห้ามปฏิเสธในทุกกรณี โดยสถานทูตจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าจำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มหรือไม่ ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้เอกชนไทยได้รับความสะดวกและกระบวนการมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายที่ประกาศให้มีระบบ fast track วีซ่าสำหรับนักธุรกิจ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ท่านทูตอินเดียประจำไทยยังได้เอ่ยปากเชิญชวนเอกชนไทยไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น เพราะไทยมีความเชี่ยวชาญในหลายสาขาที่ตรงความต้องการของอินเดีย โดยเฉพาะด้านชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และเครื่องทำความเย็น อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตสินค้าบริโภค
ขณะนี้รัฐบาลอินเดียกำลังเร่งออกมาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุนจากต่างชาติ เช่น การออกกฎหมายบูรณาการภาษี ซึ่งน่าจะมีความเป็นรูปธรรม มากขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปต้นปีหน้า
ในส่วนการลงทุนรายรัฐ ฝ่ายอินเดียยินดีที่ภาครัฐและเอกชนไทยสนใจรัฐคุชราตและมัธยประเทศ ซึ่งเป็นสองรัฐที่มีศักยภาพมากของอินเดีย ขณะเดียวกันก็เสนอให้เอกชนไทยศึกษา Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) และ Chennai-Bangalore Industrial Corridor ซึ่งเป็นโครงการที่จะดึงดูดการลงทุนไปในอีกหลายพื้นที่ของอินเดีย
ในช่วงท้าย ทูตอินเดียยังย้ำอีกว่า อินเดียสนใจร่วมมือกับไทยในการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งระหว่างอินเดียกับอาเซียน ทั้งทางบกผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่อินเดียต้องการให้เป็นประตูการค้าและการลงทุนกับอาเซียน ด้วยสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน รวมถึงทางน้ำ ด้วยการเชื่อมโยงท่าเรือกัลกัตตา/เจนไนกับอาเซียนผ่านท่าเรือทวาย ซึ่งอินเดียก็พร้อมร่วมมือกับไทยและพม่าในการพัฒนาท่าเรือทวาย
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงเทพมหานคร
29 กันยายน 2556