ITD Cementation ความภาคภูมิใจของคนไทยในอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก ในปี 2555 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมวัดตามความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (GDP-PPP Based)อยู่ที่ 4.487 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นแหล่งที่ธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนติดอันดับต้นๆ ของโลก ขณะนี้นักลงทุนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือจากทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย จากทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส เช็ก เป็นต้น ต่างก็ยกทัพเข้ามาลงทุนในอินเดียกันขนานใหญ่ เพราะมองเห็นศักยภาพของอินเดียที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆประกอบกับมีประชากรที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และค่าแรงที่ยังไม่แพงจนเกินไป
เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโคลแดม (Koldam)ที่รัฐหิมาจัลประเทศ หนึ่งในโครงการก่อสร้างของ ไอทีดีในอินเดีย ในส่วนของไทยมีการลงทุนในอินเดียเป็นอันดับที่ 38 คิดเป็นสัดส่วน 0.06% นับว่าน้อยมาก แต่ในจำนวนที่น้อยนี้ มีหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยคือ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกย่อๆ จนติดปากว่า ITD บริษัทก่อสร้างแถวหน้าจากประเทศไทยที่หาญกล้าเข้ามาแข่งขันในตลาดอินเดียที่ขึ้นชื่อว่าโหดและหิน โดยเริ่มจากปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทย ตลาดภายในประเทศหดตัวอย่างหนัก ส่วนบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ เริ่มได้รับผลกระทบจริงๆ เมื่องานในมือเริ่มลดลงหลังปี 2542 เป็นปัจจัยผลักดันให้บริษัทต้องออกไปหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย หลังจากใช้เวลานานถึง 2 ปี ความพยายามในอินเดียก็เริ่มผลิดอกออกผล โดยในปี 2544 บริษัทโดยการร่วมมือแบบ Joint Venture กับบริษัทท้องถิ่นในอินเดียชนะการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวง 4 เลน ความยาว 77 กิโลเมตร ในเมืองกานปูร์ รัฐอุตตรประเทศ มูลค่ากว่า 2.89 พันล้านรูปี ตามมาด้วยโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำมูลค่ากว่า 6.87 พันล้านรูปี ในรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดียในปี 2546 โดยครั้งนี้ได้ประมูลและทำงานโดยบริษัทเอง ไม่มีพันธมิตรท้องถิ่นร่วมด้วย และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้รับชัยชนะในการประมูลโครงการสำคัญอื่นๆ อีกมากมายอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศอินเดีย
ก้าวสำคัญของการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอินเดีย คือการเข้าซื้อกิจการบริษัทก่อสร้าง Skanska Cementation India Ltd. ในปลายปี 2547 และเปลี่ยนชื่อเป็น ITD Cementation Ltd. หรือ ITDCem โดย Skanska Cementation เป็นบริษัทลูกของ Skanska Inter ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำสัญชาติสวีเดน ปัจจุบัน ITDCem เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมืองมุมไบ (BSE-Bombay Stock Exchange)ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย โดยมี ITD เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยถึง 70% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
อดุลย์ สารบัญ คุณอดุลย์ สารบัญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ITDCem ได้ให้ข้อมูลว่า ต่างชาติที่ทำธุรกิจที่อินเดียสำคัญที่สุดจะต้องมีทีมทำงานต่างชาติที่มีใจคิดบวก สามารถปรับทัศนคติตัวเองได้กับวัฒนธรรมอินเดีย ที่ซึ่งความไม่แน่นอนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ และสามารถปรับกลยุทธ์บริษัทในทุกเรื่องไปตามสถานการณ์ให้ทันท่วงที การประกอบธุรกิจในอินเดียมีความยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายและภาษี มีการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนในหลายระดับ ทั้งภาษีระดับรัฐบาลกลาง ภาษีระดับรัฐบาลรัฐ (อินเดียมี 26 รัฐ) และภาษีขององค์กรท้องถิ่น ด้วยความที่อินเดียมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ประชากรจำนวนมหาศาล มีความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป รวมถึงระบบการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ทำให้แนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาของอินเดีย มีลักษณะเฉพาะที่ประเทศอื่นๆ เข้าใจได้ยากมาก ความไม่แน่นอนกลายเป็นความแน่นอนที่สุดในอินเดีย เงื่อนไขข้อตกลง สัญญา กำหนดนัด พร้อมที่จะเปลี่ยนไปได้เสมอเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ดังนั้น การตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องรัดกุม หากสุดท้ายแล้วการเห็นไม่ตรงกันนำไปสู่กระบวนการทางศาลยุติธรรม จะสามารถเป็นหลักฐานที่อ้างอิงได้
ดังนั้น คุณอดุลย์จึงแนะนำว่า ยุทธศาสตร์ความสำเร็จของการทำธุรกิจในอินเดีย ต้อง "ได้คนอินเดียที่ไว้ใจได้มาทำงานแทนเราและเพื่อผลประโยชน์เราจริงๆ" เท่านั้น เพราะคนอินเดียเท่านั้นที่จะเข้าใจวิธีคิดและการทำงานรวมทั้งการแก้ปัญหาแบบอินเดียดีกว่าคนชาติอื่นๆ
หากพิจารณาจาก 2 ช่องทางหลัก ที่หลายๆ บริษัทใช้เป็นช่องทางในการไปทำงานในอินเดีย คือ ไปประมูลงานเองเดี่ยวๆ หรือ Joint Venture กับบริษัทท้องถิ่น ซึ่ง ITD เคยใช้ทั้ง 2 แบบมาแล้ว ก่อนมีบริษัท ITDCem พบว่าแม้บางกรณีจะสำเร็จแต่ก็เป็นช่วงสั้น 1 หรือ 2 โครงการ ส่วนใหญ่แล้วไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เพราะกรณีผลประโยชน์ร่วมกันพันธมิตรท้องถิ่นอาจจะช่วยได้ แต่หากเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกันเอง มักจบลงด้วยความขัดแย้งที่ต่างชาติเสียเปรียบ หากต้องการผลประโยชน์เพิ่มจะต้องอาศัยช่องทางศาลมาช่วยแทบจะทุกรายไป
อย่างไรก็ตามการมีพันธมิตรท้องถิ่นก็ยังดีกว่าทำเองคนเดียว เพราะส่วนที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน บริษัทท้องถิ่นจะสามารถช่วยได้ และหากได้บริษัทท้องถิ่นที่ดีและไว้ใจได้จริงๆ หากมีปัญหาระหว่างกันก็จะสามารถหาข้อสรุปได้ง่ายกว่า และประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องอย่างที่ ITD ทำ นั่นคือ การเข้ามาจัดตั้งบริษัทลูกเป็นบริษัทท้องถิ่น และมีทีมงานต่างชาติจำนวนน้อยเพื่อการตัดสินใจและควบคุมระดับนโยบายหรือกลยุทธ์ ระดับปฏิบัติการหรือล่างลงมาจากนั้นทั้งหมดเป็นคนท้องถิ่น วิธีนี้นอกจาก ITD ก็มีบริษัทต่างชาติอื่นๆ หลายบริษัทดำเนินการอยู่ในแบบเดียวกัน หากบริษัทลูกต้องการการสนับสนุนในเรื่องใดๆ ก็ใช้บริการบริษัทแม่ได้ เช่นคุณสมบัติในการประมูลงาน เป็นต้น กรณีนี้บริษัทลูกก็ Joint Venture กับบริษัทแม่ได้ ทั้งแม่ทั้งลูกช่วยกันทำมาหากิน แน่นอนว่าปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจก็มีมากมาย ต้องอาศัยการเรียนรู้ ปรับตัว ฝ่าฟันอุปสรรค ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจและประเมินสถานการณ์ต่างๆ ให้ออก เพื่อจะได้หลบหลีกปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งสร้างทีมงานที่แข็งแรง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยได้อย่างงดงาม