ไทยซัมมิทรุกอินเดีย จับกลยุทธ์เคียงคู่ยามาฮ่า
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557 นายชลิต มานิตยกุล ทูตไทยประจำอินเดีย ได้ฤกษ์เดินทางไปเยือนอินเดียใต้ เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นฐานสำคัญของธุรกิจไทยยักษ์ใหญ่ในอินเดีย อย่างซีพี (สัตว์น้ำ) และร็อกเวิร์ธ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
แต่การเดินทางไปครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพียงการไปพบเอกชนไทยที่ทำธุรกิจอยู่แล้วที่นั่น แต่งานสำคัญคือการไปเป็นสักขีพยานการเข้าไปลุยตลาดอินเดียของบริษัทไทยรายใหญ่อีกรายอย่างกลุ่มไทยซัมมิท ที่โลดแล่นร่วมทุนกับบริษัท้องถิ่นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียมากว่า 10 ปี แต่ถึงคราวสยายปีกลุยเดี่ยวในนามไทยซัมมิท ออโต้พาร์ท อินเดีย
งานนี้ ไทยซัมมิทจัดพิธีวางศิลาฤกษ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ป้อนโรงงานยามาฮ่า มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะทูตของไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ผู้อำนวยการบีโอไอ สำนักงานมุมไบ (คุณกนกพร โชติปาล) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทยามาฮ่า อินเดีย ที่สำคัญมีคุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการกลุ่มไทยซัมมิท บินมาเป็นประธานถึงที่
พิธีนี้มีขึ้นในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงงานฯ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม SIPCOT ชานเมืองเจนไน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานผลิตจักรยานยนต์ของบริษัท India Yamaha Motors Pvt.Ltd. มีพื้นที่กว่า 43,000 ตารางเมตร เป็น 1 ใน 9 โรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ก่อตั้งในพื้นที่ของบริษัทยามาฮ่า (Yamaha Vendor Park) เพื่อป้อนชิ้นส่วนให้โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
เมื่อสร้างเสร็จในเดือน ต.ค. 2557 โรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์แห่งที่ 3 ของกลุ่มไทยซัมมิทในอินเดีย (อีก 2 แห่งอยู่ที่เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะ) โดยจะผลิตตัวถังรถป้อนให้กับโรงงานยามาฮ่า ที่คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีกำลังผลิตจักรยานยนต์สูงถึง 1.8 ล้านคันต่อปี
นายฮิโรยูกิ ซูซูกิ ประธานกรรมการ บริษัท India Yamaha Motors Pvt.Ltd. ที่ได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาฮินดูด้วย กล่าวว่า ยามาฮ่าร่วมงงานกับไทยซัมมิทมายาวนาน ทั้งที่อินโดนีเซียและเวียดนาม เป็นบริษัทที่ไว้ใจได้และยามาฮ่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับไทยซัมมิทอีกในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก
ปัจจุบัน ยามาฮ่ายังถือว่าอยู่ท้ายๆ แถวเมื่อพูดถึงส่วนแบ่งตลาดในอินเดียที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 5% แต่ถ้านับเป็นจำนวนจักรยานยนต์ที่ขายได้ก็หลายอยู่ ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในอินเดียสูงสุดขณะนี้ ได้แก่ Hero, Bajaj, TVS, Honda, Suzuki และ Yamaha ตามลำดับ
ด้านคุณชนาพรรณฯ ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยซัมมิทที่จะยังคงลุยต่อในตลาดอินเดีย โดยกล่าวถึงความทรงจำเมื่อ 10 ปีก่อนที่เป็นคนมาบุกเบิก เดินลุยหาลูกค้าและหาที่ทางตั้งโรงงานด้วยตัวเอง แม้วันนี้จะดำเนินธุรกิจด้วยลำแข้งตัวเองแล้ว แต่ไทยซัมมิทยังให้ความสำคัญกับความเห็นหุ้นส่วนกับยามาฮ่า เรียกว่าไปด้วยกันไปได้ไกลจริงๆ
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ทูตไทยถือโอกาสจัดเลี้ยงอาหารเพื่อรวมพลเอกชนไทยและหน่วยงานไทยในเมืองเจนไน (เรียกว่าทีมประเทศไทย) เพื่อแนะนำผู้ร่วมทีมใหม่ (ไทยซัมมิท) ให้ทุกคนรู้จัก นอกจากสถานกงสุลฯ แล้วก็ยังมีสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บริษัทการบินไทย ซีพี ร็อกเวิร์ธเข้าร่วมกันคับคั่งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบกาณ์ในการทำธุรกิจในอินเดีย
งานนี้ ทูตไทยตอกย้ำราชการไทยพร้อมสนับสนุนเอกชนไทยเต็มที่ อยากให้ทุกคนทำงานกันเป็นทีม และลองหาจังหวะเหมาะๆ จัดกิจกรรมแบบบูรณาการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อไทยกลับมา นอกจากนี้ ทูตไทยยังชี้ช่องโอกาสทางธุรกิจในภาคอีสานของอินเดีย ที่จะมาจากโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงอาเซียน-อินเดีย ( ASEAN-India Connectivity) ทั้งทางบกและทางอากาศ
สิ่งที่สำคัญที่ราชการไทยถือว่าได้เรียนรู้จากภาคเอกชนในครั้งนี้ ก็คือรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทไทยซัมมิท ที่ใช้วิธีการสร้างพันธมิตรกับบริษัทญี่ปุ่นและร่วมลงทุนในสาขาที่ต้องพึ่งพากัน เป็นรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมมากในบริบทของประเทศอินเดีย เพราะการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในอินเดียมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนในพื้นที่ที่ไว้ใจได้
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เอกชนไทยยังไม่กล้าเข้าไปลงทุนในอินเดียเท่าที่ควร การมีหุ้นส่วนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น ที่เข้าไปทำธุรกิจในอินเดียมานานจนมีประสบการณ์และสามารถให้การสนับสนุนในพื้นที่ได้ ย่อมทำให้เอกชนไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น สถานทูตจึงเตรียมส่งเสริมการทำธุรกิจรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ทูตไทยก็ได้เคยเข้าพบทูตญี่ปุ่นประจำอินเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และจะพยายามสร้างเครือข่ายกับผู้บริหารบริษัทเอกชนต่างชาติเพื่อเปิดช่องทางให้เอกชนไทยเพิ่มขึ้น
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
28 มีนาคม 2557