รัฐพร้อม เอกชนพร้อม จับมือลุยอินเดียอีกระลอก
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คลื่นความตื่นตัวในการตะลุยทำธุรกิจในอินเดียของภาคเอกชนไทยที่ทีมประเทศไทยในอินเดียได้ร่วมกันผลักดันมาตลอด 2-3 ปี ดูจะนิ่งสงบไปเล็กน้อย ด้วยปัญหาการเมืองของบ้านเราบวกกับการเมืองอินเดียที่ยังไม่แน่ไม่นอน รอคอยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
แต่ความนิ่งสงบนี้ก็ไม่ทำให้ทีมประเทศไทยในอินเดียหยุดนิ่งดูดาย ล่าสุดทูตไทยประจำอินเดีย นายชลิต มานิตยกุล ที่ย้ายมากุมบังเหงียนที่อินเดียได้ประมาณครึ่งปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอินเดียได้พอสมควร ก็ได้ฤกษ์เดินสายพบเอกชนไทย เพื่อกวนคลื่นใต้สมุทรอินเดียให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ทูตชลิตได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดการประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมเกือบ 40 คน ทั้งเอกชนไทยที่ลงทุนในอินเดียอยู่แล้ว เช่น ซีพี อิตาเลียน-ไทย ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ บ้านพฤษา เอสซีจีเทรดดิ้ง เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รวมถึงผู้แทนอุตสาหกรรมต่างๆ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงการต่างประเทศ บีโอไอและ สปส.
งานนี้ ทูตไทยประจำอินเดียเล่าให้เอกชนไทยฟังอย่างเปิดอกว่า ตลอดเวลาหกเดือนที่ผ่านมาตนเห็นโอกาสอะไรในอินเดียบ้าง โดยข้อความที่สำคัญ คือ อินเดียจะเป็นเหมือนจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า เอกชนไทยและประเทศไทยโดยรวมควรเตรียมตัวให้พร้อม และตัดสินใจให้ได้ว่าเราอยากได้อะไรจากอินเดีย
ทูตไทยย้ำว่า อุปสรรคที่สำคัญตอนนี้คือคนไทยยังยึดติดกับภาพเก่าๆ ของอินเดีย แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง คือ อินเดียมีโอกาสทางธุรกิจมหาศาล เพราะประเทศมีขนาดใหญ่ ประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคน และกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นหมายถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจเดลี-มุมไบ บังกาลอร์-เจนไน เจนไน-กัลกัตตา และกัลกัตตา-อมริตสา ซึ่งจะเชื่อมโยงโลจิสติกส์ทั้งประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในหลายสาขา อาทิ การก่อสร้างสาธารณูปโภคและที่พักอาศัย
นี่ยังไม่นับรวมโอกาสในภูมิภาคและรัฐต่างๆ ของอินเดีย ที่เอกชนต้องมองให้ลึก เพราะอินเดียมีรัฐน้อยใหญ่ที่แตกต่างกันมาก มีการปกครองที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศจากรัฐบาลกลาง เช่น รัฐคุชราต ที่นายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีคนใหม่สดๆ ร้อนๆ ของอินเดีย ได้ปั้นจนเป็นรัฐที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดรัฐหนึ่งในอินเดีย และต้นปี 2015 ก็จะจัดงาน Vibrant Gujrat 2015 ซึ่งเป็นการรวมตัวของเอกชนทั่วโลกอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เองก็ได้แสดงความสนใจที่จะจัดคณะเอกชนไทยไปร่วม
นอกจากนี้ ยังมีรัฐเจ็ดสาวน้อยทางภาคอีสานของอินเดีย ที่แม้จะเล็กในทั้งขนาดและประชากร แต่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่ออินเดียและประเทศไทย เพราะเป็นดินแดนที่เป็นสะพานเชื่อมทางกายภาพระหว่างอินเดียกับอาเซียนทั้งหมด ผ่านประเทศพม่าและไทย โครงการถนนสามฝ่ายไทย-อินเดีย-พม่า จะเป็นตัวกระตุ้นให้การค้าการลงทุนระหว่างอินเดียและไทยขยายตัวได้อีกมาก
ด้านเอกชนไทยก็กล่าวอย่างเปิดอกกับทูตไทยเช่นกัน โดยกลุ่มเอกชนที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจในอินเดียแล้ว ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรค ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ วีซ่าและภาษีที่ซับซ้อน ระบบการธนาคารที่ยังไม่ได้มาตรฐาน แต่หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และการเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียน่าสนใจมากขึ้นสำหรับภาคเอกชน โดยที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าไปทำธุรกิจของเอกชนไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1)การรวมกลุ่มเอกชน (cluster) อาทิ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทยในอินเดีย โดยอาจเป็นการจับกลุ่มกันเองระหว่างเอกชนไทย หรือการร่วมมือกับเอกชนต่างชาติเข้าไปลงทุน เช่น กรณีบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่จับมือกับบริษัทผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในอินเดียกันหลายราย
2)ระบบพี่เลี้ยง บริษัทที่เข้าไปลงทุนในอินเดียมานานจนเชนยุทธจักรภารตะแล้ว อย่างเช่นศรีไทยซุปเปอร์แวร์และซีพีก็ต่างเสนอตัวเป็นพี่เลี้ยงให้เอกชนไทยรายอื่นๆ รวมทั้ง SME ที่สนใจเข้าไปลงทุนในอินเดีย
3)การอบรมเอกชนไทยก่อนไปทำธุรกิจใน ตปท. ทูตไทยเสนอแนวคิดการจัดการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเอกชนไทยก่อนไปทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยใช้อินเดียเป็นประเทศนำร่อง และเชิญให้ภาครัฐและเอกชนรุ่นพี่มาให้ความรู้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ตอบรับที่จะให้ “โต๊ะอินเดีย” ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ไปต่อยอดความคิดดังกล่าวต่อไป
ข้อความสุดท้ายที่ทูตไทยฝากไว้ให้เอกชนไทยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา คือ การใช้ประโยชน์จากกลไกส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ที่หลายฝ่ายได้จัดตั้งขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาธุรกิจไทย-อินเดีย ภายใต้การดูแลของสภาหอการค้าฯ หรือ Thailand-India Business Forum ที่จัดตั้งขึ้นเป็นกลไกให้ผู้บริหารบริษัทชั้นนำของสองประเทศได้พบปะกัน โดยมีบีโอไอเป็นผู้ประสานงานในช่วงแรก
ดูจากผลการประชุมครั้งนี้แล้วก็น่าจะพอบอกได้ว่า เอกชนไทยยังมีความสนใจในอินเดียอยู่ไม่น้อย แต่ยังมีความกลัวๆ กล้าๆ เพราะยังติดภาพว่าการทำธุรกิจในอินเดียนั้นมีอุปสรรคมากมาย (มีที่ไหนที่ทำธุรกิจแล้วไม่มีอุปสรรค?) ดังนั้น หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือสนับสนุนกันและกันอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เอกชนไทยหันไปสนใจอินเดียแต่เนิ่นๆ ไม่ตกขบวนรถไฟแห่งการพัฒนาของอินเดีย
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
23 พฤษภาคม 2557