รวมพล "ทีมประเทศไทย" ในอินเดีย
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดียได้จัดกิจกรรมใหญ่ เชิญกงสุลใหญ่ไทยในอินเดีย พร้อมผู้แทนหน่วยงานราชการและธุรกิจไทยทั่วอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซีพี อิตาเลียนไทย พฤกษา ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เดลต้า การบินไทย เอสซีจี และแบงก์กรุงไทย รวมเกือบ 50 ชีวิต มาร่วมหารือแผนส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยในอินเดียที่เมืองหลวงนิวเดลี
การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมประเทศไทยในอินเดียแล้ว ยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะที่ทีมประเทศไทยในอินเดียจำเป็นต้องหารือเพื่อปรับจูนแผนงานและทิศทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในไทยและอินเดียที่มีขึ้นเกือบๆ จะพร้อมกัน
ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองไทยและปฏิกิริยาของอินเดีย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบ และชาวอินเดียทุกภาคส่วนยังคงพร้อมร่วมมือกับไทย ทีมประเทศไทยทุกคนจะเดินหน้าทำงานในอินเดียกันต่อไปแบบ business as usual
ในบริบทของการเมืองอินเดีย แม้รัฐบาลใหม่ของอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดีจะยังรอวันชี้แจงงบประมาณประจำปีต่อรัฐสภาในวันที่ 10 กรกฎาคมศกนี้ (ซึ่งตามธรรมเนียมถือเป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล) แต่ก็เป็นที่คาดเดากันว่า นโยบายของนายโมดีคงหนีไม่พ้นการคืนชีพเศรษฐกิจอินเดียที่ซบเซามาหลายปี ซึ่งหมายถึงโอกาสมหาศาลของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทูตไทยขอให้ทีมไทยแลนด์ช่วยกันมองไปข้างหน้า เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าหากอินเดียอยู่ภายใต้รัฐบาลโมดี 2 สมัย อินเดียจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก คนไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและวางแผนล่วงหน้าว่าเราต้องการเห็นความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเดินไปในทิศทางใด เพื่อไม่ให้เราตกขบวนเหมือนตอนที่ประเทศจีนพัฒนาแบบก้าวกระโดด
เพื่อชี้ให้ที่ประชุมเห็นภาพชัดเจนว่าอินเดียจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า ทูตไทยได้ยกตัวอย่าง โครงการระเบียงเศรษฐกิจเดลี-มุมไบ มุมไบ-บังกาลอร์ บังกาลอร์-เจนไน เจนไน-กัลกัตตา และกัลกัตตา-ปัญจาบ ซึ่งจะกลายเป็นวงแหวนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คลุมทั้งชมพูทวีป รวมถึงโครงการเชื่อมโยงถนนภายในอินเดียและกับไทยด้วยโครงการถนน 3 ฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดียและท่าเรือทวาย ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเปลี่ยนโฉมอินเดียไปอย่างที่เราคิดไม่ถึง
ด้านเอกชนแม้จะเห็นด้วยว่าอินเดียคือโอกาสในระยะยาว แต่ก็ได้สะท้อนอุปสรรคการทำธุรกิจในอินเดียในปัจจุบันให้ภาครัฐได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอวีซ่าเข้าไปดำเนินธุรกิจในอินเดีย ที่ยังถือว่ามีความยุ่งยาก รวมทั้งปัญหาการที่คนงานไทยต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของอินเดียโดยไม่สามารถได้รับเงินคืนจนกว่าจะอายุ 58 ปี ซึ่งทั้ง 2 เรื่องถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เอกชนต้องการให้รัฐช่วยเหลือและสะท้อนความรู้สึกของภาคเอกชนไทยที่ยังขยาดการเข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย
ผู้แทนซีพี อินเดีย เข้าร่วมประชุมครบทีม
ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลแก้ไข ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสถานทูตอินเดียที่ไทยเพื่อแก้ปัญหาวีซ่า ขณะที่สำนักงานประกันสังคมก็กำลังเจรจาทำความตกลงกับอินเดียเพื่อยกเว้นการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม แต่ก็ยังต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมซึ่งยังค้างอยู่ในสภาฯ
อีกหนึ่งกลไกที่ทูตไทยเสนอภาคเอกชนให้ใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนธุรกิจของไทยในอินเดียคือ Thailand-India Business Forum ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างเอกชนด้วยกันเองที่รัฐบาลผลักดันให้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างเอกชนด้วยกัน มีผู้บริหารบริษัทไทยและอินเดียใหญ่ๆ เป็นสมาชิกฝ่ายละ 15 บริษัท จึงอยากให้มีการประชุมระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายในเร็ววันนี้
ท้ายสุด ทูตไทยในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยก็รับที่จะนำแนวทางและปัญหาที่ได้รับฟังจากที่ประชุมไปปรับและแก้ไข ขณะเดียวกันก็ฝากให้ทีมประเทศไทยไปทำการบ้านเรื่องการมองอินเดียในอีก 10 ปีข้างหน้า ช่วยกันดูว่าไทยจะได้อะไรจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เราคงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นจากนี้ไป
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
6 กรกฎาคม 2557