ถึงเวลาที่เอกชนไทยต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับตลาดอินเดียกันหรือยัง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานทูตไทยประจำประเทศอินเดีย นำโดยนายชลิต มานิตยกุลเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในอินเดียที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
งานนี้ มีเอกชนไทยจากหลากหลายสาขาที่มีศักยภาพในอินเดียมาร่วมกันคับคั่งมากกว่า 150 คน โดยนอกจากการบรรยายและเสวนาของผู้แทนหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินเดียที่สถานทูตไทยลงทุนเชิญมาไขข้อข้องใจของเอกชนไทยที่กำลังคิดจะไปลงทุนในอินเดียแล้ว ไฮไลต์ของงานน่าจะอยู่ที่คำกล่าวในช่วงพิธีเปิดของทูตไทยประจำอินเดียและคุณกร ทัพพะรังสี ในฐานะแขกพิเศษ ที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจไทย-อินเดียมานาน
ทูตไทยกล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาครั้งนี้ว่า ต้องการกระตุ้นให้ภาคเอกชนไทยหันไปมองอินเดียในฐานะโอกาสทางธุรกิจอย่างจริงจัง เพราะอินเดียได้เปลี่ยนไปมากจากภาพเดิมๆ ที่คนไทยยังมีเกี่ยวกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่อินเดียถือเป็นมิตรที่สำคัญของไทยในช่วงที่ไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. เพราะอินเดียไม่เคยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อไทยหลังการเข้ายึดอำนาจ
ที่สำคัญอินเดียเพิ่งได้นายกฯ คนใหม่อย่างนายนเรนทร โมดี ที่กำลังจะเนรมิตให้อินเดียกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ถ้านายโมดีเป็นนายกฯ 2 สมัย) เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด นายโมดีได้ประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะ 100 เมือง ตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสี่เหลี่ยมทองคำที่รัฐบาลชุดนี้มุ่งมั่นพัฒนาให้สำเร็จ นั่นหมายถึงโอกาสที่เอกชนไทยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งก่อสร้างและการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมเพื่อป้อนให้กับชุมชนเมืองและชนชั้นกลางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ด้านคุณกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดที่นอกกรอบที่เอกชนไทยน่าเก็บไปคิด คือเสนอให้ไทยเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจอินเดียกับจีน โดยใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมของไทยกับทั้ง 2 ประเทศ โดยชูตัวเลขมหัศจรรย์ 3.2 ซึ่งหมายถึงจำนวนประชากร 3.2 พันล้านคนของจีน อินเดียและอาเซียน นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีความร่วมมือของภาคอีสานของอินเดีย มณฑลยูนนาน (สิบสองปันนา) ของจีนและภาคเหนือของไทย ที่มีความใกล้ชิดของชนเผ่าไต
การสัมมนาครั้งนี้ สถานทูตไทยยังได้รับเกียรติจากผู้แทนบริษัทเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจแล้วในอินเดีย เช่น ซีพี เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ และอิตาเลียนไทย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ โดยส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลาดอินเดียมีศักยภาพมาก แม้จะมีความท้าทายสูงแต่ผลตอบแทนคุ้มค่ามาก โดยในแง่ของความท้าทาย สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคืออุปสรรคความซับซ้อนด้านภาษีของอินเดีย ที่นอกจากจะไม่มีความแน่นอนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว การที่อินเดียปกครองในระบบสหพันธรัฐ รัฐต่างๆ จึงมีอำนาจในการกำหนดและเก็บภาษีของตนเองในบางส่วนด้วย ทำให้การทำธุรกิจในอินเดียมีความซับซ้อนต่างกันในแต่ละพื้นที่
แต่ปัญหานี้ก็มีโอกาสที่จะได้รับการแก้ไขสูงภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของอินเดีย เพราะเมื่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลนายโมดีก็ประกาศที่จะผลักดันระบบภาษีเดียวทั้งประเทศ หรือ GST ให้สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องที่ติดค้างมานานเนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและกระทบกับการบริหารจัดการของรัฐ 28 รัฐในอินเดีย และเมื่อดูจากสไตล์การทำงานของนายโมดีที่เป็นคนเถรตรง กล้าชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ปัญหานี้น่าจะได้รับการผลักดันโดยรัฐบาลชุดนี้จนสำเร็จ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากภาพรวมการลงทุนในอินเดียแล้ว การสัมมนาครั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของอินเดียที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกับอาเซียน (ติดเมียนมาร์) โดยได้ชี้ให้เอกชนเห็นว่า หากแผนการเชื่อมโยง ASEAN-India Connectivity สำเร็จ โดยมีถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมาร์-อินเดีย รวมถึงการเชื่อมโยงทางเรือจากอินเดียผ่านโครงการท่าเรือในเมียนมาร์ต่อทางบกไปยังไทยเป็นเส้นทางเชื่อมโยง ก็จะทำให้การไปมาหาสู่และการเคลื่อนที่ของสินค้าจากไทยไปอินเดียและเอเชียใต้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยสาขาที่ภาคอีสานของอินเดียต้องการการลงทุนจากไทยในขณะนี้ ได้แก่ การก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสาขาเทคโนโลยีการเกษตรและการแปรรูปอาหาร
ใครที่พลาดการสัมมนาครั้งนี้ก็ไม่ต้องเสียใจ หากท่านมีความสนใจที่จะไปทำธุรกิจในอินเดียแต่ยังสงสัยว่าจะเริ่มต้นยังไง เราขอแนะนำให้ท่านติดต่อไปที่โต๊ะอินเดีย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งจะจัดตั้งขึ้นมา และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเอกชนไทยไปอินเดียอย่างเต็มที่โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการไทยในอินเดียอย่างใกล้ชิด
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี