ปัจจุบัน บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ประเทศอินเดียมีพนักงานชาวอินเดีย ทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ประมาณ 5,000 คน ทั่วประเทศ เฉพาะพนักงานที่สำนักงานใหญ่ของ CP Aquaculture (India) Private Limited ซึ่งตั้งอยู่ที่ Red Hills District ในรัฐทมิฬนาฑู ก็มีถึง 700-800 คน การที่คนไทยซึ่งไม่รู้ภาษาอินเดีย ไม่ชำนาญภาษาอังกฤษ มาดูแลลูกจ้างต่างถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วอะไรคือเทคนิคพิชิตใจ “คน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในห่วงโซ่การผลิต ในสไตล์ของซีพี
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณขวัญชัย ชัยเปรม รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ดูแลกิจการ CP Aquaculture (India) Private Limited และคุณเฉลิมเกียรติ พลรัตน์ ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่ายบุคคล ทำให้เห็นมุมมองหลากหลาย จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับลูกจ้างชาวอินเดียมาไม่ต่ำกว่า 15 ปี
คุณ ขวัญชัยให้แนวคิดว่า “ทำงานกับคนอินเดีย ต้องทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้ไปเอาเปรียบเขา ธุรกิจของเราไม่ได้ทำงานกับคนรวย แต่เป็นเกษตรกร คุณต้องรักเขา เขาถึงจะรักคุณ คุณต้องให้เขาก่อน เขาถึงจะให้คุณ เราให้เขา 100 แล้วค่อยแบ่งมา 10 อาศัยว่าเราขายเยอะเลยอยู่ได้ ทุกวันนี้พูดถึงซีพีก็น่าจะรู้จักกันทั้งประเทศอินเดีย เพราะเดิมทีเรามีเฉพาะทีมธุรกิจสัตว์น้ำอยู่ทางตะวันออกด้านติดชายฝั่ง แต่ตอนนี้เรามีทีมธุรกิจสัตว์บกซึ่งกระจาย ไปทั่วประเทศอินเดีย”
การเรียนรู้วิธีคิด และทัศนคติของคนอินเดียทำให้เราปรับตัวเข้ากันง่ายขึ้น “ต้องเข้าใจว่าประเทศอินเดียเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน ซึ่งมีส่วนทำให้คนอินเดียเป็นคนขี้กลัว หวาดระแวง คิดละเอียด เรื่องเสี่ยงๆ ไม่ค่อยเสี่ยง แต่ถ้าเรามีหลักฐานมาพิสูจน์ให้ดูว่าทำแบบนี้แล้วดี ถ้าเขาเห็นว่ามันใช่ เขาถึงเชื่อ Seeing is Believing ดังนั้น จุดแข็งของเราคือทีมวิจัยและพัฒนาและทีมช่างเทคนิคที่สามารถให้คำแนะนำได้ เรามีฟาร์มตัวอย่างให้เขาเข้ามาเรียนรู้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปิดรับ” คุณขวัญชัยกล่าว
ชาวอินเดียมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางชีวิต บนโต๊ะทำงานของคุณขวัญชัยจึงมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้สูงสุด และมีเทพอินเดียตั้งอยู่หลายองค์ เช่นเดียวกับโต๊ะทำงานของพนักงานแทบจะทุกโต๊ะก็เต็มไปด้วยเทพตามความศรัทธา เฉพาะบุคคล ไม่น่าแปลกที่คนอินเดียจะมีวันหยุดทางศาสนาหลายวัน ถ้าไม่สร้างกติกาที่ชัดเจน ย่อมส่งผลกระทบต่องานได้ คุณขวัญชัยเล่าว่า “โรงงานเรามีพิธีบูชาเครื่องจักรกันทุกปี ก็เหมือนกับบ้านเรามีแม่ย่านาง ส่วนวันหยุดตามปกติมีวันอาทิตย์วันเดียว แต่ถ้าใครจะหยุดในวันสำคัญทางศาสนาก็ต้องสับเวรกันไป”
แม้กระนั้นการ หายตัวไปโดยบอกกล่าวก็เกิดขึ้นได้ คุณเฉลิมเกียรติ มือหนึ่งด้านบริหารบุคคลากรเล่าว่า “ถ้าหายไปนานๆ มักจะเป็นญาติป่วย ซึ่งกฏหมายของอินเดียการดำเนินการตามวินัยนั้น มีขั้นตอนอยู่ ต้องมีการไต่สวนว่าหายไปขนาดนี้เกิดปัญหาอะไร จำเป็นมากน้อยแค่ไหน กฏระเบียบของบริษัทว่าไว้อย่างไร บางทีก็ต้องยืดหยุ่น เวลาตำหนิ ก็มีจดหมายตักเตือน ยื่น notice”
ดังนั้น ผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่เก่งต้องรู้จักลูกน้อง รู้จักบ้าน ครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหาย และสามารถสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน ซึ่งทำให้พนักงานตักเตือนกันเองก่อนที่จะมาถึงฝ่ายบริหาร การให้พนักงานออกทันทีเมื่อมีความผิดเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีกฏหมายคุ้มครองพนักงานโดยกำหนดช่วงทดลองงานนานถึง 1 ปี เพื่อให้นายจ้างสอนงานจนกว่าจะเป็น และให้เวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา
คุณขวัญชัยกล่าวว่า “ที่เมืองจีน ภาษาเขียนใช้ภาษาเดียวกันทั้งประเทศ ภาษาพูดอาจจะมีสำเนียงต่างกัน แต่อินเดียนี่ 29 รัฐ อย่างน้อยๆ ก็มี 29 ภาษาเขียน ส่วนภาษาพูดอีกเป็นพัน สำหรับที่นี่มี 2 ภาษาที่เป็นภาษากลางสำคัญ คือ ภาษาอังกฤษกับภาษาฮินดี เวลาคุยกันทีเมื่อยมือ เวลาสื่อสารกับลูกน้อง ถ้าล่ามก็แปลถูกก็ดีไป แต่ถ้าเกิดความผิดพลาด อย่าไปโทษเขา 100% ขอให้เป็นความผิดของเราก่อน”
คนอินเดียแสวงหาความมั่นคงในชีวิต หากใครมาทำงานที่ซีพีถือว่ามีหน้ามีตา ผู้ชายถ้ามีตำแหน่งสูงๆ ก็จะได้รับค่าสินสอดแพง เพราะทำงานในบริษัทมาตรฐานอินเตอร์ “มีลูกน้องบางคนบอกว่าช่วยโปรโมทตำแหน่งให้ได้ไหม ถามว่า ทำไม เขาตอบ จะได้สินสอดเพิ่มขึ้น แล้วพนักงานที่นี่มีพาสปอร์ตทุกคน เพราะเราพาเขาไปอบรมต่างประเทศ คนอินเดียมีพาสปอร์ตนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เวลามีคนไปเมืองไทย เขาจะไปส่งกันทั้งหมู่บ้านคน เดินทาง 15 คน แต่คนไปส่งเป็นร้อย” คุณขวัญชัยเล่าไปหัวเราะไป
การโปรโมทตำแหน่งเป็น วิธีเลี้ยงคนเก่งให้อยู่นาน ซึ่งต้องวางแผนตั้งแต่ใบสมัคร นอกจากมีช่องการศึกษาแล้วยังต้องมีช่องให้ระบุวรรณะ โดยเฉพาะพนักงานระดับกลาง ซึ่งสามารถจะพัฒนาขึ้นมาเป็นทีมบริหารจะสามารถคุมลูกน้องในวรรณะที่ต่ำกว่าได้
อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือคนอินเดียถูกสอนให้เชี่ยวชาญงานทักษะเดียว ขับรถก็ขับรถอย่างเดียว รับโทรศัพท์ก็รับอย่างเดียว อย่าไปคาดหวังให้คนอินเดียทำงานสารพัดนึกนอกเหนือหน้าที่อย่างธรรมเนียมไทย
เรื่องชั้นวรรณะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสังคมชาวอินเดีย คนขับรถถ้าไปกับผู้บริหารคนไทย เวลาทานข้าว เขาจะต้องแยกออกไปนั่งห่างๆ แต่คนไทยไม่ถือ เขาจึงมีความรู้สึกว่าคนไทยให้เกียรติ ไม่ดูถูก เรื่องความแตกต่างด้านชนชั้น เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่รองเท้าที่ถอดไว้หน้าบริษัท ซึ่งเป็นของพนักงานวรรณะจัณฑาล และนั่งกินข้าวกับพื้นในโรงอาหาร ขณะที่พนักงานวรรณะสูงกว่าจะนั่งเก้าอี้ ภาพแบบนี้อาจจะดูน่าเศร้า สำหรับคนไทย แต่คุณขวัญชัยบอกว่า “ที่เรารับคนวรรณะจัณฑาลมาเป็นพนักงานระดับล่าง เพราะเราให้ความสำคัญกับเขา คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกจะตายหรือเป็นได้ เวลาที่เขาได้รับสิ่งนี้จากบริษัท เขารักบริษัทเรามากเลยนะ”
ค่านิยมเรื่องนี้ยังส่งผลไปถึงความร่วมมือจากสหภาพแรงงาน เนื่องจากประเทศอินเดียมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทุกๆ 4 ปีจะมีการเรียกร้องผลประโยชน์จากบริษัทต่างชาติในอัตราสูง แต่ซีพีก็สามารถประนีประนอมข้อตกลงเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่มีการประท้วงจากลูกจ้าง อีกทั้งนโยบายสนับสนุนชุมชน เช่น การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มารักษาฟรีให้กับชุมชนรอบๆ เป็นประจำ ทุนการศึกษาให้กับบุตรพนักงาน สิ่งเหล่านี้เสริมสร้างปราการบุคคลที่เข้มแข็ง
คุณเฉลิมเกียรติกล่าว ปิดท้ายว่า “สิ่งสำคัญก็คือ นโยบายท่านประธานฯ ที่ต้องการให้เรามาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นที่นี่ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นประโยชน์และเราทำให้คนท้องที่และลูกจ้างเห็น เขาก็มีจะมีความเชื่อมั่น เวลาทำงานร่วมกันเขาก็ให้ความร่วมมือด้วยดี”
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม บริษัทอย่าง CP ถึงได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอินเดีย ก็เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลอย่างมากนั่นเอง
*******************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน