Manufacturing Summit ครั้งที่ 13: Make in India แค่ขายฝันหรือความเป็นจริง
เอกชนอินเดียรวมตัวระดมสมองหารือเกี่ยวกับบทบาทของเอกชนและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลโมดีในการทำนโยบาย Make in India ให้เป็นความจริง ชี้ต้องตั้งเป้าให้ชัดและขจัดอุปสรรคภายใน
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา ทีมประเทศไทยประจำเมืองมุมไบประกอบด้วยสถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้า และสำนักงานบีโอไอ ณ เมืองมุมไบ ได้เข้าร่วมการสัมมนา Manufacturing Summit 2014 ครั้งที่ 13 ที่โรงแรม Taj Mahal Palace Hotel เมืองมุมไบ ที่จัดโดย Confederation of Indian Industry (CII) Western Region เพื่อระดมความเห็นในการดำเนินการตามนโยบาย Make in India ของ นรม. โมดี
งานดังกล่าวมีผู้แทนเอกชนอินเดียเข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีมีวิทยากรจำนวน 27 คน บรรยายใน 4 หัวข้อสำคัญ ดังนี้
1. Make in India – Redefining the Manufacturing Opportunity
ที่ประชุมสะท้อนให้เห็นว่า การจะทำให้นโยบาย Make in India เป็นความจริงยังมีหนทางอีกยาวไกล เพราะแม้ปัจจุบันร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกของอินเดียมาจากอุตสาหกรรมการผลิต และคิดเป็นร้อยละ 15 ของ GDP แต่มีอัตราการเจริญเติบโตเพียงร้อยละ 2.3 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั้งชาวอินเดียเองและชาวต่างชาติเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศอื่นมากกว่าอินเดีย แม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีต้นทุนในการตั้งโรงงานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่การทำธุรกิจในอินเดียยังเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอินเดียอยู่ที่อันดับ 152 ของโลกสำหรับ Ease of Doing Business
ถึงแม้อินเดียจะมีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก แต่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอินเดียจะต้องร่วมมือกันให้มากกว่านี้เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้ โดย Boston Consulting Group (BCG) ได้จัดทำรายงานเพื่อให้นโยบาย Make in India ประสบความสำเร็จได้จริง โดยเน้นการดำเนินการ 3 ขั้นตอน
1) การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิต โดยการดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้สำเร็จจริง โดยเฉพาะระเบียงอุตสาหกรรมต่าง ๆ และ World Class Townships และการปฏิรูป กม. แรงงาน เพื่อให้มีการจ้างงานง่ายขึ้น และเกิด incentives แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต
2) สร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยดึงดูดนักลงทุนจาก ตปท. เข้ามาลงทุนในอินเดียเพื่อใช้อินเดียเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย
3) การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก โดยภาคเอกชนจะต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการประกอบธุรกิจและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินเดียเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยม
2. Digital Impact in Manufacturing
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตให้มากขึ้นและเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคของ Intelligence ซึ่งเครื่องจักรกลสามารถคิด เข้าใจและสื่อสารระหว่างกันได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ (Machine to machine communication) และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะในขั้นตอนของการผลิตเท่านั้น แต่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่การออกแบบจนถึงการให้บริการหลังการขาย โดยบางบริษัทสามารถประหยัดต้นทุนการตั้งโรงงานได้ถึงร้อยละ 30 เนื่องจากใช้บริการการออกแบบโรงงาน 3 มิติ และสามารถจำลอง test run โรงงานได้ก่อนเริ่มการสร้าง รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบคุณภาพและความทนทานของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
นักธุรกิจของอินเดียเห็นว่า ผู้บริโภคมีความคาดหวังใหม่ ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จะต้อง smart และ connected (มีเทคโนโลยีร่วมสมัยและเชื่อมต่อกับ Internet ได้) ซึ่งเว็บไซต์ค้าปลีกอย่าง flipkart.com ก็อาศัย software เพื่อศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะสามารถให้บริการได้ตรงต่อความต้องการและความสนใจของลูกค้า
การที่อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตได้ อินเดียจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะใน emerging science อาทิ Genomics, Artificial Intelligence, Connectomics, Chaos Theory, Cloud Computing, Nano materials และจะต้องมีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอในการผลิตและมีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โดยนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ พลังงานทดแทนที่มีราคาสมเหตุสมผล ทรัพยากรน้ำ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่งและ healthcare
3. Make in India Conundrum: Solving the Manufacturing Puzzle
การที่จะพัฒนาให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกอย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืนได้ รัฐบาลจะต้องทำให้การประกอบธุรกิจที่อินเดียกลายเป็นเรื่องง่ายและได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าในการลงทุน และจะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณโรงงานเพื่อเพิ่มการจ้างงานเท่านั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อรองรับการผลิต จึงจะสามารถมีอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนได้ ซึ่งบริษัทเอกชนควรจัดสรรงบประมาณเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจการของตนด้วย
ปัจจุบัน หลายรัฐในอินเดียได้เร่งแก้ไขกฎระเบียบภายในเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่าง ๆ และกฎหมายแรงงาน เพื่อดึงดูดการลงทุนของนักธุรกิจอินเดียเองและจากต่างประเทศ กลไกของการแข่งขันในเรื่องกฎระเบียบดังกล่าวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจและลงทุนในอินเดียได้ง่ายขึ้น
รัฐบาลควรเลี่ยงการออกนโยบายที่จะสนับสนุนให้เงิน Incentives ในการตั้งโรงงานใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานระดับโลกมากกว่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคผลิตในภาพรวมทั้งโรงงานที่เปิดทำการอยู่แล้วและโรงงานที่จะตั้งใหม่
4. Talent Challenge – Making Manufacturing Glamorous
ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งของอินเดีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
4.1 บริษัท โดยเฉพาะบริษัท SME ไม่ค่อยเต็มใจลงทุนกับการจัดอบรมพนักงานให้มีทักษะที่เหมาะสมในการทำงาน ซึ่งร้อยละ 90 ของนักศึกษาที่จบใหม่ล้วนต้องการการอบรมก่อนที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อได้รับการอบรมเพิ่มทักษะแล้ว พนักงานก็อาจได้รับข้อเสนอจากบริษัทอื่นให้ไปทำงานโดยได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า บริษัทที่ลงทุนในการจัดอบรมก็จะเสียทั้งพนักงาน เวลาและงบประมาณ
4.2 ปัญหาภาพลักษณ์ของงานในอุตสาหกรรมการผลิตว่าเป็นงานที่น่าเบื่อ ไม่ท้าทาย เวลาทำงานไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ขณะเวลาทำงาน ไม่สร้างสรรค์ ได้รับเงินตอบแทนต่ำ เจริญเติบโตในหน้าที่การงานช้า
นักธุรกิจอินเดียเห็นว่า อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยการสร้างความภูมิใจให้แก่พนักงานว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก และบริษัทต้องรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเพื่อปรับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้น่าอยู่มากขึ้น รวมทั้ง ต้องมีการวาง career path ที่ชัดเจนให้แก่พนักงาน อีกทั้งยังสามารถจัดกิจกรรมให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานเพื่อศึกษาขั้นตอนการผลิต และใช้ social media เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเข้าถึงเยาวชนด้วย
ในที่สุดแล้ว แม้นโยบาย Make in India ของนายกฯ โมดีจะฟังดูสวยหรู ทำให้ทั้งประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เอกชนอินเดีย ซึ่งเป็นแกนสำคัญของนโยบายดังกล่าวยังเห็นว่า มีงานอีกมากที่อินเดียต้องทำเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ช่องว่างต่างๆ ที่เอกชนอินเดียได้ชี้ไว้อาจจะหมายถึงช่องว่างสำหรับเอกชนไทยที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็ม คงไม่เสียหลายที่เราจะคอยติดตามผลที่เป็นรูปธรรมของข้อเสนอแนะของเอกชนอินเดียในงานนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
20 พฤศจิกายน 2557