ร้อกเวิธเฟอร์นิเจอร์ไทยฐานแกร่งในอินเดีย
หากมองว่าปัญหาคือข้อจำกัด โอกาสประสบความสำเร็จย่อมเท่ากับศูนย์ โดยเฉพาะการก้าวเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพื้นที่ไม่คุ้นเคยอย่างประเทศอินเดีย ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ต่างขยาด ด้วยความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม แต่ “ร้อกเวิธ” คืออีกหนึ่งองค์กรไทยที่ประสบความสำเร็จด้วยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เรามาลองศึกษากันดูว่าร้อกเวิธมีวิธีคิดสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2515 “ร้อกเวิธ” ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทย โดย 2 ผู้ก่อตั้งที่มีวิสัยทัศน์คือ คุณชัชวาล พงษ์สุทธิมนัส และคุณสุรพงษ์ สิทธานุกูล แค่วิธีตั้งชื่อที่ดูอินเตอร์ก็วางแบรนด์ให้แข่งขันในระดับโลกได้ โดยชื่อเริ่มก่อตั้ง คือ “ร้อกเวลส์” ซึ่งในสมัยนั้นเชี่ยวชาญเรื่องชั้นเหล็ก จึงครองตลาดชั้นวางของที่ทำจากเหล็ก เช่น ชั้นวางหนังสือในห้องสมุด ไปจนถึงชั้นวางของในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์ททั้งหลาย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 เมืองไทยเริ่มมีองค์กรต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงาน ซึ่งองค์กรเหล่านั้นมองหาเฟอร์นิเจอร์สำนักงานแบบที่เคยใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่จะขนข้ามน้ำข้ามทะเลมาก็ลำบาก สิ้นเปลืองค่าขนส่ง ไหนจะต้องเสียภาษี ร้อกเวิธจึงเริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามสั่งให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งปรากฎว่าไปได้ดี ในปี พ.ศ. 2537 จึงได้จดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ปี พ.ศ. 2542 เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวไปแตะ 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แทนที่จะท้ออยู่ในเมืองไทย ร้อกเวิธมุ่งหน้าบุกเบิกตลาดใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรอินเตอร์ ต่อมาใน พ.ศ. 2554 ร้อกเวิธได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ส่งผลให้สินค้าในโกดังที่นวนคร และที่โรงงานบางปะอิน เสียหายเกือบ 100% แต่ทีมผู้บริหารร้อกเวิธก็ไม่หวั่น สั่งเดินหน้าโรงงานผลิตที่อินเดีย ซึ่งเปิดมาได้เพียง 10 วัน แบบเต็มกำลังสูบทำให้สามารถกอบกู้วิกฤติการณ์ของร้อกเวิธมาได้อีกครั้งอย่างงดงาม
ปี พ.ศ. 2552 คือปีที่ร้อกเวิธตัดสินใจปักหมุดหมายลงบนแผ่นดินอินเดีย โดยเปิดบริษัท Rockworth Systems Furniture (India) Private Limited ซึ่งจับมือร่วมทุนกับบริษัท Al Reyami Group (Dubai) ตั้งโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม Sri City ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐทมิฬนาฑู เชื่อมต่อกับพื้นที่ตอนใต้ของรัฐ อานธรประเทศ การตั้งโรงงานที่นี่มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโรงงานให้รองรับการผลิตขนาดใหญ่ แถมยังตั้งอยู่ในโซนเศรษฐกิจพิเศษซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี 10 ปี มีถนนไฮเวย์สาย NH5 ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองเจนไน ตัดผ่านนิคม Sri City เชื่อมเส้นทางฝั่งตะวันออกของอินเดียเลียบอ่าวเบงกอลไปสิ้นสุดที่ รัฐโอริสสา ให้ประโยชน์โดยตรงในด้านการขนส่งสินค้า
คุณชาคริต วรชาครียนันท์ กรรมการผู้อำนวยการ Rockworth Systems Furniture (India) Private Limited คุณถวิล หอกลอง มือหนึ่งขององค์กรด้านการควบคุมการผลิต คุณปภัทท์ ภูวเศรษฐ มือหนึ่งขององค์กรด้านอุตสาหการ และคุณวรรณา สดากร ด้านจัดซื้อ-จัดหา คือสี่บุคคลากรสำคัญที่ช่วยกันปลุกปั้นโรงงานร้อกเวิธในอินเดียขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ
ปัจจุบัน โรงงานร้อกเวิธประเทศอินเดียมีทีมงานชาวไทยเพียง 7 คน ดูแลพนักงานชาวอินเดียไม่ต่ำกว่า 300 ชีวิต มีมูลค่าการส่งออกจากโรงงานที่อินเดียถึง 800 ล้านรูปีในปี พ.ศ. 2557
ถ้าร้อกเวิธมองโลกอย่างคนที่เห็นแต่อุปสรรคอยู่ตรงหน้า คงต้องบอกว่า “อินเดียยังใช้เฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อินเหมือนเมืองไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วอยู่เลย ร้อกเวิธก็จะขายได้อย่างไร” แต่คุณชาคริตกลับไม่ได้มองแบบนั้น แต่เห็นว่าเป็นโอกาสขนาดใหญ่ที่แสดงว่าร้อกเวิธมีตลาดเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่รออยู่แล้ว “เพราะสินค้าของเราล้ำหน้าไปกว่าที่มีในท้องตลาด” คุณชาคริตกล่าว
การตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ประเทศอินเดีย นอกจากจะเป็นหนทางเข้าถึงตลาดอินเดียโดยตรงแล้ว ยังได้ลูกค้าจากตะวันออกกลาง ดูไบ และแอฟริกา ซึ่งกำลังเติบโตและมีแนวโน้มของการใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานในแบบทันสมัย นี่คือวิธีคิดแบบ “ร้อกเวิธ” ซึ่งพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และไม่เคยจนมุมต่ออุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เช่นไรก็ตาม
ในตอนต่อไปเราจะมาเรียนรู้ดูตลาดอินเดีย จากประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างร้อกเวิธ
*******************************
รายงานโดยนางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน