Asiana Hotel เผยแพร่ภาพลักษณ์ไทยสู่ชาวโลก ณ นครเจนไน
ถนนมหาพาลิปุรัมสายเก่า ซึ่งนำนักท่องเที่ยวไปยัง "มหาพาลิปุรัม" อุทยานประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเป็นความภูมิใจของชาวอินเดีย ปัจจุบันได้ทวีความสำคัญสู่ถนนสายเศรษฐกิจแห่งนครเจนไน ภายใต้ชื่อ IT Corridor
ถนนสายนี้ได้รวมบริษัทชั้นนำด้านซอฟต์แวร์ และบริษัทผลิตยานยนต์ยี่ห้อดังจากทุกมุมโลกมาตั้งหลักปักฐานเรียงรายกันไม่ต่ำกว่า 650 องค์กร อีกทั้งยังมีสถาบันศึกษาและโรงแรม ชั้นนำหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ Asiana Hotel ที่นำกลิ่นอายความเป็นไทย มาเป็นจุดขายสำคัญในการบริการนักซอฟต์แวร์และวิศวกรจากนานาประเทศ ซึ่งพำนักและทำงานบนถนนสายนี้
ก้าวแรกที่เข้าไปภายในโรงแรม คุณจะได้พบกันการตกแต่งที่เจือกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ในหลายๆ ซอกมุม ตั้งแต่บริเวณล็อบบี้ที่ให้ความรู้สึกของการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไปจนถึงบริเวณสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับ Thai Spa และโดยเฉพาะการตกแต่งห้องอาหาร SILK ซึ่งตั้งใจให้เป็นห้องอาหารไทยรสชาติแบบต้นตำรับรวมไปถึงมารยาทการให้บริการของพนักงานในโรงแรม ก็ดูละมุน ละไม ใส่ใจลูกค้าเป็นพิเศษ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ MD หรือ CEO ของโรงแรม คือคุณศรี ชิฮาราน (ShriSriharan) นั้น มีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใคร และยังมีความผูกพันกับประเทศไทยเป็นพิเศษ นับตั้งแต่วันที่คุณศรี ชิฮาราน ซื้อที่ดินผืนนี้มาในปี พ.ศ.2546 เพื่อสร้างเป็นโรงแรมหรู ทุกคนล้วนหัวเราะขำขันในความฝันของเขา ในปีนั้น ถนนสายนี้ยังไม่มีอะไรเลย สองข้างทางมีแต่ทุ่ง และความว่างเปล่า แทบจะไม่มีชาวบ้านมาพักอาศัย จนกระทั่งนโยบายพัฒนารัฐทมิฬนาฑูกลายเป็นรูปร่างอย่างรวดเร็ว ดึงดูดให้ผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์ และยานยนต์มาปักเสาเข็มกันอย่างคึกคัก โดยเริ่มจากปี พ.ศ.2549 ประมาณสองปีต่อมาโรงแรม Asiana Hotel ก็สร้างเสร็จซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2551
เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้จัดการของโรงแรม ซึ่งทำงานที่นี่มาตั้งแต่โครงการโรงแรมยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เขาเล่าให้ฟังว่า โรงแรมถูกวางคอนเซ็ปต์ให้หรูหรา และโดดเด่นด้วยการบริการมาตรฐานแบบไทยๆ ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ของคุณศรี ชิราฮาน ซึ่งเคยร่วมงานกับเครือโรงแรม Four Seasons ในประเทศไทยถึง 10 ปี เขาคุ้นชินกับเมืองไทยในฐานะบ้านหลังที่สองจนสามารถนำเสน่ห์ไทยมาใส่ในการให้บริการอย่างเข้าถึง ไม่ขาด ไม่เกินและจับต้องได้จริง และมีเจ้าหน้าที่ชาวไทยมาทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ อย่าง Thai Spa ที่มีผู้จัดการชาวไทย และเทอร์ราปิสชาวไทย 1 คนรวมถึงห้องอาหารไทย "SILK" ก็ยังมีเชฟสาวชาวไทยถึง 2 ท่านประจำการอยู่ และ Executive Chef ชาวอินเดีย ซึ่งคร่ำหวอดการการทำงานกับพ่อครัวไทยในโรงแรมชั้นนำระดับโลกมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี
ในด้านความนิยมของลูกค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ Thai Spa นั้น ต้องจองกันก่อนล่วงหน้า หากต้องการใช้บริการในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาจะให้บริการลูกค้าที่มาพักในโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนห้องอาหารไทย "SILK" ซึ่งเปิดให้บริการเฉพาะมื้ออาหารเย็นนั้น ก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวอินเดีย ซึ่งมากันเป็นครอบครัว และจะใช้เวลาด้วยกันนานๆ
ที่นี่รับลูกค้าได้ 65 โต๊ะ หรือประมาณ 350 คนต่อวัน ซึ่งก็ให้บริการเต็มเกือบทุกวัน แถมยังมีครอบครัวชาวอินเดียที่นิยมรับประทานอาหารเย็นค่อนข้างดึก มาใช้บริการในช่วง 21.00– 22.00 น. อีกรอบ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับลูกค้าต่อหัวก็ราวๆ 800 รูปี หรือ 400 บาท ซึ่งแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยเมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้ว ที่ครอบครัวชาวอินเดียจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แล้วจ่ายเงินขนาดนี้ ถ้ามากันทั้งครอบครัวประมาณ 5 คน ก็ต้องจ่ายเงินราว 4,000 รูปีเลยทีเดียว
"เมื่อสิบปีที่แล้ว ชาวเจนไนจะมาโรงแรม 5 ดาว ก็เฉพาะเวลาที่ไปงานแต่งงานเท่านั้น" คุณอัศวิน วี (Ashwin V.) ผู้จัดการโรงแรมกล่าว "ทว่า ในช่วง 10 ให้หลัง เมืองเจนไนเติบโตอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนทำงานในย่าน IT Corridors มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย พวกเขาจึงให้รางวัลตัวเองด้วยการกินข้าวนอกบ้าน และชื่นชอบอาหารไทย ซึ่งที่นี่เป็นแห่งเดียวในเมืองเจนไนที่ให้บริการอาหารไทยแบบต้นตำรับ
นอกจากนี้ ในรัฐทมิฬนาฑูยังมีชาวญี่ปุ่นอาศัยกว่า 300,000 คน และยังมีชาวเกาหลีอีกเป็นจำนวนมาก พวกเขายินดีจ่ายเพื่อมาตรฐานการบริการที่ดี และชื่นชอบการบริการแบบไทยๆ"
"ผมคิดว่าธุรกิจของเรายังไปได้ดีกว่านี้อีก หากผู้ที่ซื้อบ้านและซื้อคอนโดบนถนน IT Corridor เข้ามาอาศัยอยู่จนเต็ม" แน่นอนว่า หากผู้อยู่อาศัยอีกราวๆ 10,000 – 11,000 ครอบครัว มาอยู่กันอย่างคึกคักบนสาย IT Corridor บริการแบบไทยๆ ซึ่งสัมผัสได้ ณ โรงแรม Asiana Hotel คงเป็นเสมือนหน้าต่างเปิดสู่ประเทศไทย ได้อย่างแน่นอน
*********************************
รายงานโดย นางสาวสุทธิมา เสืองาม
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน