พี่ใหญ่สอนน้อง 20 ปี บทเรียนล้ำค่าสำหรับก้าวต่อไปของซีพี
ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน ปัญหาโลกแตกที่ซีพีไม่เสียเวลาแย้ง เพราะทั้งไก่และไข่ต่างเป็นคำตอบที่พลิกเป็นโจทย์ข้อใหญ่ในการมาบุกตลาดอินเดีย ดินแดนซึ่งเป็นแหล่งกสิกรรม และมีคนครึ่งประเทศบริโภคอาหารมังสวิรัติ
เป็นเวลาเกือบ 20 ปี แล้วนับตั้งแต่ที่ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งมีรายได้รวมในปี 2553 ที่ 1.89 แสนล้านบาท จากการลงทุนใน 25 ประเทศทั่วโลก ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศอินเดียในกิจการสัตว์บก และสัตว์น้ำ และวันนี้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาของบริษัทสร้างความมั่นใจในการขยายธุรกิจในอินเดียต่อไป โดยตั้งงบลงทุน 7 พันล้านรูปี (หรือราว 4.2 พันล้านบาท) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
“เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดอินเดีย และเรามีความพร้อม มีความรอบรู้ในการทำธุรกิจที่นี่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา” นายปรีดา จุลวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) กล่าวกับ thaiindia.net.
สำหรับประเทศอินเดียปัจจุบันซีพีได้เข้ามาลงทุนใน 3 บริษัทฯ คือ (1) บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและปลา เพาะฟักลูกกุ้ง (2) บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เพาะฟักลูกไก่ และ (3) บริษัท Charoen Pokphand Seeds (India)จำกัด ผลิตและจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดพันธุ์ผสม
ภาพรวมธุรกิจสัตว์บก
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) เริ่มทำธุรกิจที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ในปี 2540 โดยตั้งโรงงานอาหารสัตว์ และทำฟาร์มไก่เนื้อระบบจ้างเลี้ยง จากนั้นจึงขยายไปยังกิจการสร้างฟาร์มไก่พันธุ์ และโรงฟักที่เมืองบังคาลอร์ ตามมาด้วยเมืองวิจายาวาดา รัฐอานธรประเทศ, เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ, เมืองเวลลอร์ รัฐทมิฬนาฑู, เมืองชิททู รัฐอานธรประเทศ,รัฐปัญจาบและรัฐฮารียาน่า
ปัจจุบันบริษัทมีการจ้างเกษตรกรท้องถิ่นเลี้ยงไก่ราว 2,000 ราย ภายใต้การควบคุมคุณภาพของเจ้าหน้าที่คนไทยราว 60 คนที่ประจำการอยู่ที่อินเดีย ขณะนี้บริษัทกำลังมีแผนขยายกิจการไปที่เวสเบงกอล
แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีประชากรกว่า 1.2 พันล้านคน แต่ปริมาณการบริโภคไก่และไข่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งมีประชากรน้อยกว่าหลายสิบเท่า ดังนั้น บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจในประเทศอินเดีย โดยคาดว่ารายได้จากกิจการสัตว์บกในประเทศอินเดียจะมีการเติบโตอย่างน้อย 30% ต่อปี
ภาพรวมธุรกิจสัตว์น้ำ
บริษัทเข้ามาลงทุนในนามของบริษัท C P Aquaculture (India) ตั้งแต่ปี 2535 ภายใต้คำเชิญของนายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้นโดยเริ่มสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำแห่งแรกที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรท้องถิ่น และสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำแห่งที่สอง ณ เมืองไวแซก รัฐอานธรประเทศ เนื่องจากธุรกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ทั้งนี้ อาหารกุ้งที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียและศรีลังกา นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงเพาะฟักลูกกุ้ง และฟาร์มสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงอีกด้วย โดยทางบริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนี้ รวมทั้ง มีความสนใจที่จะลงทุนทางด้านธุรกิจห้องเย็นเพื่อการส่งออกกุ้งจากประเทศอินเดีย
บริษัทมองเห็นศักยภาพการเติบโตในประเทศอินเดีย ทั้งนี้เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก แต่มีการเลี้ยงกุ้งจริงๆ ไม่ถึง 10% ของพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่พื้นที่การเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยมีน้อยกว่าประเทศอินเดียเกือบ 40 เท่า ในส่วนของการบริโภคกุ้งภายในประเทศของอินเดียก็ยังมีสัดส่วนอยู่น้อยมาก
เขียวหวานไก่ ไข่เจียว ไม่มีอด
ยกเครื่องปรุงมาจากกรุงเทพฯ อิมพอร์ตแม่ครัวจากไทยแลนด์ คนไทยเกือบ 200 ชีวิตใต้ร่มเงาของซีพีอิ่มท้องทุกมื้อเหมือนอยู่บ้านตัวเองไม่มีผิดเพี้ยน ยิ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเองแล้ว เรื่องอาหารการกินของพนักงานซีพีที่อินเดียช่วยบรรเทาความคิดถึงบ้านไปได้ครึ่งหนึ่ง
บริหารก้านสมอง กับทัศนคติแบบคนอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ทัศนคติแบบคนอินเดียไม่มีคำนิยามที่สามารถจำกัดความและถ่ายทอดความเป็นคนอินเดียทั้งหมดได้ ไม่ว่าคุณจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของชาวอินเดียเรื่องใดมา เรื่องนั้นเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและไม่จริงในเวลาเดียวกัน
ในขณะที่การปกครองคน 1.1 พันล้านคน เป็นไปได้ในอินเดียเพราะความยอมรับในระบบชนชั้น แต่การยอมรับดังกล่าวทำให้ลูกจ้างชาวอินเดียโดยทั่วไปคุ้นเคยกับการทำเฉพาะงานในความขอบเขตความรับผิดชอบของตนเท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและทัศนะคติในการทำงานจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ทำให้ดินแดนนี้เป็นสนามฝึกสติปัญญา ไหวพริบ และความอดทน เรียกได้ว่า จบหลักสูตรอินเดียแล้ว จะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ นายชัยพร มณฑา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) ให้ข้อคิดกับ thaiindia.net
โอกาสที่มาพร้อมต้นทุน
การทำธุรกิจในอินเดียยังมีความท้าทายเรื่องเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในอินเดีย นั่นหมายถึงการตั้งกำแพงในเรื่องเงินเดือนขั้นต่ำ $25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และการส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตรา 12% ซึ่งจะไถ่ถอนคืนได้ต่อเมื่ออายุ 58 ปี บริษัทใดจะส่งพนักงานของตนมาก็ต้องไตร่ตรองให้ดีถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ภาครัฐรับหน้าที่สานต่อถกปัญหากฎระเบียบ
การขยายกิจการของธุรกิจไทยไปต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการเสริมธุรกิจของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศที่เห็นบริษัทคนไทยก้าวไกลไปในเวทีระดับนานาชาติ ดังนั้นเมื่อมีข้อติดขัดในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยล่าสุดนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี และนายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่เมืองเจนไน ได้เข้าพบนางสาวจายาลลิตา มุขมนตรีรัฐทมิฬนาฑู และ นาย S.V. Ranganath ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chief Secretary (เทียบเท่าปลัดรัฐ) รัฐกรณาฎกะ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศอินเดียที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยให้ความสำคัญ นำร่องจนมีบริษัทอื่นๆ ตามเข้ามาลงทุนในประเทศอินเดีย ดังนั้นปัญหาในเรื่องกำแพงกฎระเบียบจะได้มีการสานต่อในระยะต่อไป
วิชาแขก กระบวนท่าที่ไม่มีในตำรา
ประเทศอินเดียเป็นทั้งขุมทรัพย์และหายนะของผู้ประกอบการ เพราะการทำธุรกิจในอินเดียไม่ใช่ข้อสอบปรนัย จึงไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดเพียงข้อเดียวหรือทั้งหมด ปัญหาสหภาพแรงงานเรียกร้องข้อต่อรองมีมาให้ประเทืองปัญญาไม่ว่างเว้น กลยุทธ์การซื้อขายที่ดินที่สามารถล้มไม่เป็นท่าได้แม้จะทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนอกจากจะต้องทำธุรกิจอย่างรอบคอบ และทำการบ้านมาอย่างดีแล้ว นักธุรกิจควรเตรียมใจว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ในประเทศนี้
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียไม่บริโภคเนื้อวัว เนื้อหมู และอาหารทะเล ยกเว้นกุ้ง ทำให้ธุรกิจของซีพีในประเทศอินเดียจำกัดอยู่เพียงสินค้าประเภทไก่ ไข่ กุ้งและอาหารสัตว์ แต่ถึงกระนั้น ตลาดที่เหลือก็ยังมีศักยภาพมากพอที่ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจต่อไป ไม่เพียงแต่เพื่อการขายในประเทศอินเดียเท่านั้น แต่ยังมองถึงโอกาสในการส่งออกจากประเทศอินเดียที่เพิ่มสัดส่วนมากขึ้นด้วยในอนาคต
ปิยรัตน์ เศรษฐศิริไพบูลย์
9 สิงหาคม 2554
บทความที่เกี่ยวข้อง การดำเนินธุรกิจของบริษัทซีพีในอินเดีย (20 มิถุนายน 2554)
บริษัท: |
เจริญโภคภัณฑ์ฟูดส์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 3 บริษัทย่อยที่ดำเนินการในประเทศอินเดีย (1) บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและปลา เพาะฟักลูกกุ้ง (2) บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เพาะฟักลูกไก่ และ (3) บริษัท Charoen Pokphand Seeds (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดพันธุ์ผสม |
|
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ฟูดส์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2530
บริษัทมีรายได้รวมในปี 2553 ที่ 1.89 แสนล้านบาท จากการลงทุนใน 25 ประเทศ และส่งสินค้าออกขายทั่วโลก
บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศอินเดียในกิจการสัตว์บก และสัตว์น้ำตั้งแต่ปี 2535 โดยตั้งงบลงทุนเพิ่มเติมอีก 7 พันล้านรูปี หรือราว 4.2 พันล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้าสำหรับกิจการในประเทศอินเดีย |