อินเดียรุกคืบหาแหล่งถ่านหิน รองรับการเติบโต
ในขณะที่การพัฒนาเพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเทศอินเดียยังคงมีความต้องการการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าและเหล็กเพื่อรองรับการเติบโตของประชากร 1.2 พันล้านคน
เนื่องจากขณะนี้การผลิตกระแสไฟฟ้ายังขาดแคลนอีกมากในประเทศอินเดีย และหากอินเดียจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงไว้ให้ได้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกมาก เพราะปัจจุบันรัฐต่างๆ ของอินเดีย ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ มีไฟฟ้าดับเป็นประจำ โรงงานอุตสาหกรรมบางเขตยังไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น อินเดียยังต้องการถ่านหินเพื่อใช้ในการผลิตเหล็กเพื่อรองรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยอย่างขนาดใหญ่อีกด้วย จากภาวะดังกล่าว บริษัทอินเดียจะต้องเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวย่อมเป็นการแข่งขันกับจีนที่ดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว
อินเดียมีแหล่งสำรองถ่านหินภายในประเทศประมาณ 267,000 ล้านตันหรือประมาณร้อยละ 14 ของโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นถ่านหินประเภท thermal ซึ่งมีคุณภาพต่ำ เหมาะที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น และมีสำรองถ่านหินคุณภาพดีประเภท coking ที่สามารถใช้ในการผลิตเหล็กอีกในสัดส่วนประมาณร้อยละ 13
ทั้งนี้ในการจัดหาถ่านหินในประเทศ รัฐบาลอินเดียได้กำหนดให้บริษัท Coal India Ltd (CIL) ซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลมีเอกสิทธิ์ในการทำเหมืองและจำหน่ายถ่านหินแต่เพียงผู้เดียว โดยขณะนี้ บริษัท CIL ได้รับสัมปทานทำเหมืองถ่านหินประเภท thermal ในปริมาณสำรองประมาณ 65,000 ล้านตัน ส่วนบริษัทเอกชนอินเดียที่ดำเนินกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตเหล็ก สามารถรับสัมปทานช่วงต่อไปในการขุดถ่านหินได้ แต่ถ่านหินที่ขุดได้ให้ใช้ได้เฉพาะกับกิจการของโรงงานตนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดเปิดได้
อินเดียยังไม่สามารถผลิตถ่านหินได้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและเมื่อประกอบบกับประเทศได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าและเหล็กอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนถ่านหินมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงปี 2552-2553 อินเดียได้นำเข้าถ่านหินเป็นมูลค่าถึง 8.183 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและในปี 2554 ได้นำเข้าถ่านหินแล้วเป็นมูลค่า 6.993 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากการที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่เศรษฐกิจโลกได้เริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอย บริษัทขนาดใหญ่ของอินเดียที่ดำเนินกิจการด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตเหล็กได้ออกไปซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันในแหล่งสำรองวัตถุดินใช้ป้อนโรงงานของตน
ปี 2553 บริษัท Adani Enterprises ได้เข้าซื้อเหมืองถ่านหินของบริษัท Linc Energy ของออกสเตรเลียเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัท Tata Power, Reliance Power, Lanco Infratech, Essar และบริษัทอื่นๆ ของอินเดีย ได้เข้าซื้อกิจการเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ โมซัมบิก มีมูลค่ารวมกันประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากบริษัทเอกชนอินเดียจะได้เข้าซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศแล้ว แม้แต่บริษัท Coal India ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดการขุดและจำหน่ายถ่านหินของอินเดียก็ยังออกไปซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศด้วย โดยมีงบลงทุนด้านนี้ประมาณ 1.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ และขณะนี้ได้เข้าซื้อเหมืองถ่านหินในโมซัมบิกแล้ว
ก่อนปี 2549 การผลิตถ่านหินทั่วโลกยังมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค โดยในช่วงดังกล่าวจีนยังเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหิน แต่ภายหลังปี 2549 จีนได้เริ่มใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งถ่านหินนับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึงร้อยละ 79 ทำให้อุปสงค์และอุปทานถ่านหินในตลาดโลกเริ่มไม่สมดุล ก่อให้เกิดความผันผวนในราคา ทั้งนี้เมื่อมาถึงปี 2552 จีนได้เริ่มใช้ไฟฟ้ามากกว่าสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นประเทศที่นำเข้าถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบันจีนมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 1,000 กิกะวัตต์ และได้มีการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะนี้อินเดียยังต้องขยายกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าอีกมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ การนำเข้าและการเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศมีปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากถ่านหินที่นำเข้ามีราคาสูงกว่าที่ผลิตได้ในประเทศอย่างมาก โดยราคา thermal coal ในประเทศตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ่านหินนำเข้าราคาตันละ 130 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ต้องคิดค่าไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย
สำหรับการเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมีไม่กี่ประเทศที่ถ่านหินมีคุณภาพดีเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นถ่านหินประเภท coking coal ที่ใช้ในการผลิตเหล็ก โดยแหล่งที่สำคัญอยู่ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้และโมซัมบิก โดยในส่วนของอินโดนีเซียที่บริษัทอินเดียได้เข้าไปซื้อเหมืองถ่านหินแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มจำกัดการส่งออกถ่านหินแล้ว อีกทั้งการทำเหมืองถ่านหินในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบข้อยุ่งยากในการได้รับ environment clearance
ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา แหล่งถ่านหินมักจะอยู่ลึกเข้าไปในเขตที่ม่ความยากลำบากในการขุดเจาะและขนส่งกลับอินเดีย และนอกจากอินเดียจะต้องแข่งขันกับจีนในการหาแหล่งสำรองถ่านหินจากทั่วโลกแล้ว ยังต้องแข่งขันกับบริษัทขุดเจาะและจำหน่ายถ่านหินรายใหญ่ของโลกที่มีไม่กี่บริษัทเช่น Rio Tinto, BHP Billiton และ Xstrata
แม้ถ่านหินสำรองในโลกยังมีอยู่อีกมากถึง 860,000 ล้านตัน แต่การที่จะขุดเจาะนำถ่านหินมาใช้ก็มีอุปสรรค เพราะการใช้ถ่านหินได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดมลพิษอย่างมากนับตั้งแต่การขุดเจาะที่อาจต้องมีการทำลายป่าไม้และหน้าดิน รวมทั้งกระบวนการขนส่งจนถึงการใช้ถ่านหินได้ก่อให้เกิดมลพิษสูงตลอดห่วงโซ่ และแม้จะได้มีการปลูกป่าทดแทนก็ยังไม่อาจเรียกคืนระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไปแล้วกลับมาได้ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าแม้โลกจะยังมีแหล่งสำรองถ่านหินอีกมาก แต่ก็ใช่ว่าทุกแหล่งจะได้รับอนุญาตให้สามารถขุดเจาะมาใช้ได้ แม้แต่ในอินเดียเองก็มีข้อจำกัดในการทำเหมืองถ่านหินเช่นกัน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความล่าช้าในการได้รับ environment clearance
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ถ่านหินจะทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นที่จะสามารถทดแทนถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเหล็กได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่น นิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลอินเดียในการสรรหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอ แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากจนเป็นชนวนให้เกิดปัญหาอื่นตามมา
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
12 กันยายน 2554