เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เอกอัครราชทูตพิศาล มาณวพัฒน์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเช็คเงินสดจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเงินบริจาคจำนวน 5000 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา โดยมี ดร. Gopa Sabharwal รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นผู้รับมอบ
ในอดีต มหาวิทยาลัยนาลันทาเคยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในเอเชีย และถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมและความรู้ของเิอเชียในอดีต โดยมีอินเดียเป็นฐานของการเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังเอเชียตะวันออก
การฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงโบราณสถาน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Look East ของอินเดีย และในโอกาสที่อินเดียได้เชิญนายกรัฐมนตรี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนอินเดียในฐานะแขกเกียรติยศงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย นายกไทยได้ประกาศว่าไทยจะให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีดำริให้เปิดบัญชีเพื่อขอรับบริจาคจากภาคเอกชนไทย ซึ่งขณะนี้นอกจากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว ยังมีบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารกรุงเทพฯ และบมจ. ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ ร่วมบริจาคในบัญชีดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงินของภาคเอกชนกว่า 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีบริษัทไทยอื่นๆ บริจาคเพิ่มอีกในอนาคต
ดร. Gopa Sabharwal ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่สองที่แสดงการสนับสนุนมหาวิทยาลัยนาลันทาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นประเทศแรกที่ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วม
สำหรับเอกชนไทยที่สนใจร่วมบริจาคเงินเข้าโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านสามารถบริจาคผ่านบัญชีพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้
ชื่อบัญชี
ภาษาไทย: กองทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย
ภาษาอังกฤษ: Thailand Fund for Nalanda University
รายละเอียดบัญชี
ธนาคารกรุงไทย สาขาสามยอด
บัญชีกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 002-6-18813-9
สกุลเงินสำหรับการโอน: สกุลเงินบาท
กระทรวงการต่้างประเทศจะออกใบเสร็จรับเงินและจัดส่งให้หน่วยงานที่บริจาคในโอกาสแรก เมื่อได้รับแจ้งจากธนาคารฯ ว่าได้รับเงินบริจาคแล้ว
การบริจาคเงินสนับสนุนโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา ไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร เรื่้องเงินบริจาคที่รัฐอนุญาตให้นำไปหักลดหย่อนภาษี ผู้บริจาคจึงไม่สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินเพื่อลดหย่อนภาษีได้
ในระยะแรก กระทรวงการต่างประเทศจะเปิดรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี
แจ่มใส เมนะเศวต