เรื่องของเนื้อปูที่บทความนี้นำเสนอสามารถเป็นกรณีศึกษาของหัวข้อ “Global Supply Chain” (ห่วงโซ่อุปทานในยุคโลกาภิวัฒน์) ในห้องเรียนวิชาบริหารธุรกิจได้
หากท่านได้เดินทางไปต่างประเทศและต้องแวะเข้าไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตของประเทศนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าอาหารแปรรูปประเภทปลากระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นทูน่า ซาร์ดีน หรือแมคคาเรล จะผลิตในประเทศไทย หรือมีบริษัทไทยอยู่เบื้องหลังในกระบวนการผลิต แม้ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นจะประทับตราว่า “Made in India” หรือประเทศอื่นๆ ก็ตาม
ผู้บริโภคเมนูเนื้อปูในภัตตาคารหรือโรงอาหารที่สหรัฐอเมริกา คงไม่ทราบว่า ทอดมันปูสไตล์แมรี่แลนด์อันโอชะที่อยู่ตรงหน้า
มีต้นเกิดในทะเลอันดามัน ไม่ไกลจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย มีนักลงทุนไทยที่ได้เข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจเนื้อปกระป๋องพาสเจอร์ไรส์ จดทะเบียนเป็นบริษัท Sandy Bay Seafoods (India) Private Limited อยู่เบื้องหลังกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมข่าว thaiindia.net ได้ติดตามทูตไทยในอินเดีย ไปเยือนเมืองวิสาขปัทนัม รัฐอานธรประเทศ ที่ตั้งของโรงงาน Sandy Bay Seafoods (SBS) และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคุณทวี จิตติบพิตร กรรมการผู้จัดการ ที่นำพวกเราเยี่ยมชมโรงงานและอธิบายกระบวนการทำ ‘ปูกระป๋อง’ ตั้งแต่ต้นจนจบ
คุณทวี เล่าว่า บริษัท SBS ได้เข้ามาเปิดกิจการทำเนื้อปูบรรจุกระป๋องที่อินเดียตั้งแต่ปี 2548 โดยซื้อวัตถุดิบจากชาวประมงในอินเดียในรัฐที่ติดชายฝั่งต่างๆ แล้วจึงนำปูสดที่ต้มสุกแล้วขนส่งทางรถบรรทุกมาแยกชิ้นส่วนเป็นเนื้อส่วนต่างๆ บรรจุลงในกระป๋องและผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ที่เมืองวิสาขปัทนัม หลังจากนั้นจึงนำใส่ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแล้วไปขึ้นเรือที่ท่าเรือน้ำลึกของเมืองดังกล่าว ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ให้แก่บริษัท Chicken of the Sea ไปจำหน่ายให้บริษัททำ catering โดยเฉพาะ
ในปี 2554 SBS ส่งออกเนื้อปูประเภทต่างๆ (เนื้อก้าม เนื้อกรรเชียง เนื้อกรรเชียงใหญ่ เนื้อขา เนื้อขาว) จำนวน 800,000 กระป๋อง (น้ำหนัก 1 ปอนด์) ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าขึ้นอยู่กับการมาได้ซึ่งวัตถุดิบ (ปูทะเล) ซึ่งมีจำนวนไม่สม่ำเสมอในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในท้องทะเลที่มีผลต่อจำนวนประชากรปูในปีนั้นๆ
เนื่องจากงานแคะเนื้อปูเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะเนื้อแต่ละชิ้นจะต้องได้มาตรฐาน ถูกต้องตามสัดส่วนที่บริษัทพี่สเป็คมา SBS จึงจ้างพนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เรียกว่าเป็นการส่งเสริมสิทธิสตรีให้หญิงในชนบทอินเดียในทางอ้อมก็ได้ เพราะการสร้างรายได้ให้กับสตรีทำให้พวกเธอมีสิทธิเสรีภาพและอำนาจตัดสินใจในครอบครัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณทวีก็อดบ่นไม่ได้ว่าแรงงานในอินเดียแม้ว่าจะมีค่าแรงถูกเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทย แต่ศักยภาพ ความรับผิดชอบ และทักษะยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าแรงงานในไทยมาก ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการ เพราะการฝึกฝนแรงงานต้องใช้ความอดทนและใจเย็นมากเป็นพิเศษ ผู้บริหารต้องลงแรงลงใจกับการควบคุมประสิทธิภาพของพนักงาน ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อรักษาระดับและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ประสบการณ์ของบริษัทไทยสัญชาติอินเดียนี้ ควรจะเป็นกรณีศึกษาให้บริษัทไทยที่คิดจะหนีกฎค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทมาเปิดโรงงานที่อินเดียโดยต้องทบทวนผลได้ผลเสียให้ดีๆ ก่อน และหากพร้อมที่จะมา ก็ต้องสามารถเปิดใจรับกับวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องปรับตัวเปิดใจประยุกษ์การบริหารจัดการเป็นพิเศษให้เข้ากับแรงงานท้องถิ่นได้ เพราะพวกเขาก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกเช่นกัน
แจ่มใส เมระเศวต
22 พฤษภาคม 2555