ผลการประชุมทีมประเทศไทยในอินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต
ได้เป็นประธานการประชุมทีมประเทศไทยในอินเดีย โดยมีกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ กัลกัตตา และเจนไน และหัวหน้าหน่วยงานไทย ในอินเดีย ทั้งจากกรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ กัลกัตตา และเจนไน พร้อมทั้งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมด้วย โดยมีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการประจำปีงบประมาณ 2555
ในปีงบประมาณ 2555 โครงการที่ทีมประเทศไทยในอินเดียจะให้ความสำคัญสูงสุดและร่วมกันดำเนินการ คือ โครงการศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย-อินเดีย (www.thaiindia.net) และ Destination Thailand
ในส่วนของโครงการศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย-อินเดีย กงสุลใหญ่ทั้งสามแห่งเห็นประโยชน์ตามดำรินำร่องของ
สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่จะจ้างเจ้าหน้าที่คนไทยที่มีประสบการณ์ด้านข่าวหรือการวิเคราะห์ธุรกิจทำงานเต็มเวลาที่
สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อติดตามคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจในอินเดียสำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอเพิ่มงบประมาณปี 2555 เพิ่มเพื่อการจ้างเจ้าหน้าที่ประจำแล้ว และสถานกงสุลใหญ่ทั้งสามแห่งจะของบประมาณเพิ่มเช่นกัน เพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ประจำในสถานกงสุลใหญ่ดำเนินการในแนวทางเดียวกัน
ทุกหน่วยงานไทยในอินเดียจะร่วมกันปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ มุ่งตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจ
ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้สนใจอินเดียในไทย ในเว็บไซต์ thaiindia.net จะเริ่มให้มีการบันทึกจำนวนผู้เข้าชม
และรณรงค์ให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มธุรกิจไทย เพื่อวัดผลความสนใจ ดังเช่นเว็บไซต์ของคณะผู้แทนไทยประจำอียู (www.thaieurope.net) ได้ทำสำเร็จมาแล้ว จากยอดผู้เข้าชม 3 ปีแรก เพิ่มปีละ 1-2 ล้านครั้งต่อปี
จนถึงปี 2552 ขยายตัวจาก 7 ล้านเป็น 14 ล้านครั้งต่อปี
สำหรับโครงการ Destination Thailand หัวหน้าสำนักงานต่างเห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อ
การส่งเสริมความนิยมไทยในอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะประสานงานในการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติกัน
ต่อไป เช่น การนำบริษัทภาคเอกชนไทยที่มีธุรกิจในอินเดียมาร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าหรือการบริการของตน
2. ปัญหาและอุปสรรคของนักธุรกิจไทยในอินเดีย
ที่ประชุมรับทราบผลการหารือเรื่องการจัดทำ Social Security Agreement กับอินเดีย และ/หรือทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอินเดีย ซึ่งจัดโดยกรมเอเชียใต้ฯ กระทรวงการต่างประเทศ
พบว่ามีอุปสรรคเรื่องพระราชบัญญัติของไทยที่บังคับให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุน หากจะทำความตกลงกับอินเดียที่จะไม่เก็บก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งคงเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน เอกอัครราชทูตฯ จึงขอให้กระทรวงฯ นำผู้เชี่ยวชาญกระทรวงแรงงานเดินทางไปหารือกับฝ่ายอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหาทางออก เช่น โอกาสที่อินเดียจะยอมลดภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุน ในระดับเดียวกับที่ไทยเรียกเก็บจากนักธุรกิจอินเดียในไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมหารือเรื่องปัญหาที่เกิดจากระเบียบการตรวจลงตราประเภททำงาน ซึ่งกำหนดเพดานเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับฝ่ายอินเดียต่อไป
3. ปัญหาและอุปสรรคของพระสงฆ์ไทยในอินเดีย
ที่ประชุมหารือเรื่องปัญหาและอุปสรรคของพระสงฆ์ไทยเกี่ยวกับการตรวจลงตราเข้าอินเดีย ซึ่งแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ
ดังนี้ (1) พระธรรมทูตไทยที่ถือหนังสือเดินทางราชการ แต่ได้รับคำแนะนำจาก สถานเอกอัครราชทูตอินเดียในไทยให้ใช้สิทธิของการถือหนังสือเดินทางเดินทางราชการ เดินทางเข้าอินเดีย พำนักอยู่ได้ 90 วัน จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อใช้สิทธิดังกล่าวเดินทางกลับเข้าอินเดีย ทุก ๆ 90 วัน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานขอให้กระทรวงฯ
สอบถามข้อเท็จจริงจากสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ในไทยแล้ว และ (2) พระสงฆ์ แม่ชีและอาสาสมัครที่ถือหนังสือ
เดินทางธรรมดา ร้องขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ออกหนังสือนำให้ โดยระบุว่า เดินทางมาอินเดียเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ
สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า ไม่ควรพิจารณาออกหนังสือนำให้เป็นกรณีไป และขอให้กรมเอเชียใต้ฯ หารือกับภาคเอกชน พระไทย และเอกอัครราชทูตอินเดียในไทย เกี่ยวกับแนวทางการตรวจลงตราและการอำนวยความสะดวกให้แก่
พระสงฆ์ นักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญ และนักธุรกิจชาวไทยที่เดินทางเข้าอินเดีย อย่างเป็นระบบต่อไป
4. การจัดทำคู่มือคนไทยในอินเดีย
ที่ประชุมรับทราบการจัดทำคู่มือคนไทยในกรุงนิวเดลีและเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ และเห็นพ้องว่า
สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั้งสามแห่งควรร่วมกันจัดทำให้เป็นฉบับเดียวกัน โดยอาจมีภาคผนวกแทรก
ในส่วนที่เป็นข้อมูลเฉพาะของเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยเห็นว่า
น่าจะมีข้อมูลของตนที่เป็นประโยชน์กับคนไทยที่เดินทางมาอินเดีย ก็อาจส่งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รวบรวมนำไปจัดพิมพ์ฉบับใหม่ต่อไป
5. การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
ที่ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน และดำเนินการจัดการเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักร
6. การร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย
ที่ประชุมรับทราบถึงกรณีร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น การไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยาน แม้ว่าได้รับการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ ทำให้ถูกส่งกลับประเทศ การถูกทำร้ายร่างกาย และการถูกหลอกลวงค่าใช้บริการเจ็ทสกี และประธานเห็นว่า น่าจะมีการติดตั้งป้ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อแจ้งราคาบริการต่าง ๆ สิทธิของนักท่องเที่ยว คำเตือน พร้อมชื่อ และเบอร์ติดต่อของหน่วยงานไทยให้นักท่องเที่ยวทราบอย่างชัดเจน พร้อมการกวดขันดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ในเรื่องนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบแจ้งว่า ได้ติดป้ายประกาศที่บริเวณรับคำร้องขอการตรวจลงตราเพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้าว่า การได้รับการตรวจลงตราไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเดินทางเข้าเมืองได้โดยอัตโนมัติ
7. ประเด็นด้านความมั่นคง
ที่ประชุมได้มีการหารือและได้ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ภัยคุมคามที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนไทยในอินเดีย
และเห็นว่า ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการไปอยู่ในที่ชุมชน เช่น ตลาด หรือย่านธุรกิจ และติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ
8. การแบ่งงานของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่
ที่ประชุมเห็นพ้องว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ดูแลภาพรวมการทำรายงาน การเมืองและความมั่นคง ในระดับชาติ
และภาพรวมด้านเศรษฐกิจ โดยสถานกงสุลใหญ่ทั้งสามแห่งสามารถเสริมข่าวที่น่าสนใจในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่
ณ เมืองมุมไบควรเน้นเรื่องการค้า การลงทุน การเงิน สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไนเน้นเรื่อง IT และอุตสาหกรรม
ยานยนต์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาเน้นเรื่องศาสนา กงสุลและแรงงานไทย สำหรับเรื่องการศึกษา
สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ทั้งสามแห่งร่วมกันดูแล โดยเฉพาะนักศึกษาไทยที่มีอยู่ทุกภาค