สถานกงสุลใหญ่เมืองเจนไนจับมือสมาคมภาพยนตร์ท้องถิ่น Indo Cine Appreciation Foundation จัดงาน Thai Film Festival ระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม 2555
นายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน พร้อมภรรยา เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าว ที่ Russian Centre of Science & Culture เมืองเจนไน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมงานเทศกาลเล็กๆ แต่อบอุ่นนี้ ทั้งอินเดียและไทยประมาณ 70 คน
ในพิธีเปิด นาย Emandae Thangaraj, Director, Chennai International Film Festival (ICAF) รายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ที่มุ่งส่งเสริมให้ชาวเมืองเจนไนมีโอกาสชมภาพยนตร์ไทยที่ดีมีคุณภาพระดับสากล
กงสุลใหญ่กล่าวยินดีต่อการจัดงานนี้ร่วมกับ ICAF ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดย สถานกงสุลใหญ่ฯ ยินดีที่ได้ร่วมงานกับ ICAF และเห็นว่า การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศอีกทางหนึ่ง เพิ่มเติมจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาของอินเดียมีอิทธิพลต่อไทยอย่างยิ่ง
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เริ่มฉายหลังพิธีเปิดคือ “รักที่รอคอย (October Sonata)“ สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมชาวเจนไนที่ลุกขึ้นปรบมือให้เมื่อภาพยนตร์จบ พร้อมชื่นชมความสามารถในการแสดงของนักแสดงไทย
ชาวเจนไนที่มาร่วมงานต่างขอบคุณสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่เปิดโอกาสให้ชมภาพยนตร์ไทยที่ดีมีคุณภาพ และมีรูปแบบต่างจากอินเดียทั่วไป ทั้งเนื้อเรื่อง การถ่ายทำ และฉากต่างๆ สะกดผู้ชมให้นั่งชมตลอด 2 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพักครึ่งเวลาแบบภาพยนตร์อินเดียส่วนใหญ่นิยมทำ
งานเทศกาล Thai Film Festival ครั้งที่ 3 จัดฉายภาพยนตร์ 3 วัน ระหว่าง 20 – 22 สิงหาคม 2555 โดยมีภาพยนตร์ไทยฉายทั้งหมด 4 เรื่อง คือ รักที่รอคอย (October Sonata) สุดเสน่หา (Blissfully Yours) สามชุก (Samchuk) และไชยา (Muay Thai Fighter)
ทั้งนี้ ชาวอินเดียในภาคใต้นิยมชมภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจ โดยมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภาษาท้องถิ่นของตนเองเรียกว่า Kollywood ผลิตเป็นภาษาท้องถิ่นของรัฐภาคใต้ทั้ง 4 รัฐ ได้แก่ ทมิฬ (Tamil) เตเลกู (Telegu) คานาดา (Kanada) และมาลายัม (Malayam) และเริ่มนิยมภาพยนตร์ต่างประเทศมากขึ้นทั้งแนวแอคชั่น ดราม่า และแนวรักโรแมนติก สำหรับภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ องค์บาก และสุริโยทัย
สถานกงสุลใหญ่เจนไนมีแผนจะจัดงาน Thai Film Festival ขึ้นอีก เพราะเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมตามแนวทางการทูตด้านวัฒนธรรม ทำให้คนอินเดียรู้จักความสามารถของคนไทยในการทำภาพยนตร์รวมถึงการเผยแพร่สถานที่ต่างๆ ที่มีความสวยงามในไทยที่ปรากฏในภาพยนตร์ให้เป็นที่นิยมแก่ชาวอินเดียและดึงดูดให้เดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อเห็นด้วยตาของตัวเอง
ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
รายงานจากเมืองเจนไน
28 สิงหาคม 2555