ความขัดแย้งระหว่างธนาคารกลางแห่งชาติของอินเดีย (RBI) กับรัฐบาลอินเดียกระทบไทยหรือไม่
ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมในปีที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวสารของอินเดียย่อมจะได้ยินข่าวคราวความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบางอินเดียกับธนาคารกลางแห่งชาติของอินเดีย (Reserve Bank of India - RBI) ในประเด็นที่ว่า RBI กำลังถูกรัฐบาลกลางเข้าแทรกแซงการทำงาน ลามไปถึงประเด็นการประกาศลาออกอย่ากระทันหันของผู้ว่าการ RBI เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เรื่องราวเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มภาคธุรกิจไทยว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอินเดียหรือไม่ วันนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีจึงขอนำเรื่องราวดังกล่าวมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ดังนี้ค่ะ
ประเด็นความขัดแย้ง
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เรียกร้องเงื่อนไขต่าง ๆ จาก RBI ประกอบด้วย (1) ขอให้ RBI ลดความเคร่งครัดของกฏระเบียบการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กและธนาคารของรัฐ (2) ขอให้ RBI เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ให้บริการด้านการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Banking Financial Companies) (3) ขอแบ่งเงินสำรองทางการของประเทศจำนวนประมาณ 3.6 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเงินสำรองฯ ทั้งหมดมาใช้บริหารประเทศ โดยเฉพาะใช้ช่วยเหลือ MSME และคนจน และ (4) ขอตั้งคณะกรรมการพิเศษดูแลกฎระเบียบของระบบการชำระเงินออนไลน์ โดยจะไม่ใช้คณะทำงานของ RBI ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ RBI รู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงการทำงาน และคาดว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้นาย Urjit Patel ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ RBI เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 อย่างกะทันหัน
ผู้ว่าการคนใหม่
นาย Shaktikanti Das ผู้ว่าการ RBI คนใหม่
อินเดียได้แต่งตั้งนาย Shaktikanti Das ขึ้นเป็นผู้ว่าการ RBI คนใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โดยถือเป็นผู้ว่าการ RBI คนที่ 25 ของอินเดีย ทั้งนี้ นาย Das อายุ 63 ปี เป็นข้าราชการเกษียณ (Indian Administrative Service - IAS ) เคยดำรงตำแหน่งปลัดฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง เป็นตำแหน่งสุดท้ายในช่วงสิงหาคา 2558 – พฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ ภายหลังเกษียณ ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการการคลังชุดที่ 15 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ RBI ในครั้งนี้
พัฒนาการภายหลังการรับตำแหน่งของนาย Das
ได้มีการจัดประชุมคณะผู้บริหาร RBI แล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 และจัดการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้แทนธนาคารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ซึ่งล้วนเป็นการรับฟังและหารือแนวทางการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล โดยนาย Das ย้ำว่าจำเป็นต้องพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างที่ถี่ถ้วน ทั้งนี้ นาย Das มีลักษณะการทำงานแบบประนีประนอมจึงอาจช่วยลดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับ RBI ลงได้ สำนักข่าวหลายฉบับเห็นตรงกันว่านาย Das เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และน่าจะมีรูปแบบการทำงานที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากกว่านาย Patel นอกจากนี้ นาย Das ยังเคยดำรงตำแหน่งปลัดฝ่ายเศรษฐกิจในช่วงที่รัฐบาลอินเดียดำเนินนโยบายยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีในชั่วข้ามคืน หรือ demonetization (อ่านข้อมูลเพิ่มได้ที่ https://www.thaiindia.net/knowledge/finance-and-banking/item/2548-pm-modi-announcing-large-notes) จึงถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีประสบการณ์สูงในระบบการเงินการคลังอินเดีย
ผลกระทบหาก RBI ดำเนินการตามคำขอของรัฐบาล
สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่าหาก RBI ดำเนินการตามคำขอของรัฐบาล จะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจาก
(1) จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและช่วยให้ GDP เติบโต ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินเดียดำเนินนโยบายทางการเงินถึง 2 นโยบายที่กระทบต่อการเติบโตของ GDP คือนโยบาย demonetisation และระบบภาษี GST (อ่านเพิ่มได้ที่ https://www.thaiindia.net/knowledge/tax-system/item/2501-india-gst.html) การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและการผ่อนปรนกฎระเบียบการปล่อยกู้จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์
(2) การนำเงินสำรองฯ ของ RBI ออกมาใช้ประโยชน์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ค่าเงินรูปีอ่อนตัวลงซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นการส่งออกของอินเดีย อีกทาง อย่างไรก็ดี RBI จะต้องติดตามและรักษาเสถียรภาพทางการเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาทางการเงิน อาทิ ปัญหาหนี้เสียจำนวนมากในระยะยาว
ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่าง RBI และรัฐบาลกลางจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในอินเดียเพราะถือเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยไม่ต้องกังวลไปค่ะ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
4 มกราคม 2562