ระบบภาษีในอินเดีย
การทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอินเดีย จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องโครงสร้างภาษี เพื่อให้ทราบว่า จะต้องชำระภาษีอะไรบ้าง อัตราเท่าไร โดยเฉพาะในอินเดียถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจทำ ความหนักใจให้กับผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเรื่องภาษีมีความยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร
ก่อนอื่นขอเริ่มที่ภาพรวมของการเก็บภาษีในอินเดียก่อน ภาษีที่จัดเก็บในอินเดียจะมีทั้งที่เก็บโดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยทั่วไป รัฐบาลกลางจะเก็บภาษีหลักๆ เช่น ภาษีเงินได้ (Income Tax) ภาษีทรัพย์สิน (Wealth Tax) ภาษีดอกเบี้ย (Interest Tax) ภาษีกำไรจากส่วนทุน (Capital Gain Tax) ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) เป็นต้น ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ภาษี สิ่งฟุ่มเฟือย (luxury tax) เป็นต้น
ตารางที่ 1 ภาษีที่มีการจัดเก็บจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น | ||
ประเภทภาษี | รัฐบาลกลาง | รัฐบาลรัฐและท้องถิ่น |
Corporate Income Tax | √ | |
Dividend Distribution Tax | √ | |
Fringe Benefit Tax | √ | |
Wealth Tax | √ | |
Securities Transaction Tax | √ | |
Banking Cash Transaction Tax | √ | |
Profession tax | √ | |
Customs Duty | √ | |
Value Added Tax | √ | |
Central Sales Tax | √ | |
Service Tax | √ | |
Octroi | √ | |
Luxury Tax | √ | |
Vehicle Tax | √ | |
Entertainment Tax | √ | |
Advertisement Tax | √ | |
Research and Development Cess | √ | |
Union Excise Duty | √ | |
State Excise Duty | √ | |
Stamp Duty and Registration Fees | √ | |
Land Revenue | √ | |
Electricity Duty | √ | |
Municipal/Local Taxes | √ | |
Total | 11 | 12 |
ข้อมูลจาก FICCI และ PriceWaterHouseCoopers
สำหรับโครงสร้างทางภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจ หรือ Corporate Taxation นั้น ขอสรุปอย่างย่อๆ ว่า มีโครงสร้างหลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจ (Corporate Income Tax) ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) และภาษีอื่นๆ (Other Taxes)
ภาษีธุรกิจ (Corporate Income Tax)
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล: โดยปกติ บริษัทอินเดียจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ร้อยละ 30 รวมถึงต้องเสียค่าธรรมเนียม (Surcharge) และภาษีเพื่อการศึกษา (Education Cess) ด้วย ทำให้โดยรวมอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคลของบริษัทอินเดียอาจอยู่ที่ร้อยละ 30.90 หรือ 32.45 หรือ 33.99 ทั้งนี้ ขึ้นกับรายได้ของบริษัท
อย่างไรก็ดี บริษัทต่างชาติ ซึ่งจดทะเบียนในอินเดีย จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ร้อยละ 40 ซึ่งเมื่อรวมค่าธรรมเนียม (Surcharge) และภาษีเพื่อการศึกษา (Education Cess) แล้ว ทำให้โดยรวมอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคลของบริษัทต่างชาติอาจอยู่ที่ร้อยละ 41.20 หรือ 42.02 หรือ 43.26 ตามรายได้ของบริษัท
ตารางที่ 2 ค่าธรรมเนียม (Surcharge) ที่จัดเก็บ | |||||
ช่วงการประเมินปี 2557-2558 | ช่วงการประเมินปี 2558-2559 | ||||
หากรายได้สุทธิไม่ถึง10 ล้านรูปี | หากรายได้สุทธิเกิน 10 ล้านรูปี | หากรายได้สุทธิไม่ถึง 10 ล้านรูปี | หากรายได้สุทธิอยู่ในช่วง 100 ล้านรูปี | หากรายได้สุทธิเกิน 100 ล้านรูปี | |
บริษัทท้องถิ่น | ไม่เสีย | ร้อยละ 5 | ไม่เสีย | ร้อยละ 5 | ร้อยละ 10 |
บริษัทต่างชาติ | ไม่เสีย | ร้อยละ 2 | ไม่เสีย | ร้อยละ 2 | ร้อยละ 5 |
หลักวิธีคิดง่ายๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ (1) หากบริษัทอินเดียมีรายได้ 10,001,000 รูปี จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับ 3,000,300 รูปี บวกค่าธรรมเนียม (surcharge) ร้อยละ 5 ของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะเท่ากับ 150,015 รูปี (๒) กฎหมายอินเดียกำหนดให้บริษัทที่มีรายได้เกิน 10 ล้านรูปี สามารถนำส่วนต่างของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นฐานมาหักลบจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจะต้องเสีย เพื่อคิดเป็นค่าธรรมเนียมสุทธิ(net surcharge) และกำหนดมิให้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมสุทธิ เกิน 1,000 รูปี ซึ่งในกรณีนี้ คำนวณได้จากการนำภาษีเงินได้นิติบุคคล 3,000,300 รูปี ลบด้วย ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นฐาน 3,000,000 รูปี เท่ากับได้ส่วนต่าง 300 รูปี จากนั้น นำมาหักลบกับ 1,000 รูปี จะได้อัตราค่าธรรมเนียมสุทธิ เท่ากับ 700 รูปี หรือเท่ากับว่าบริษัทได้รับการผ่อนปรนการจ่ายค่าธรรมเนียม (Marginal Relief in Surcharge) รวม 149,315 รูปี (3) จากนั้น จึงนำภาษีเงินได้นิติบุคคลบวกกับอัตราค่าธรรมเนียมสุทธิ ซึ่งในกรณีนี้ เท่ากับ 3,001,000 รูปี มาคำนวณภาษีเพื่อการศึกษาอีกร้อยละ 3 ซึ่งเท่ากับ 90,030 รูปี ดังนั้น โดยรวม บริษัทจะต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 3,091,030 รูปี
นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติยังจะต้องชำระภาษีขั้นต่ำแบบทางเลือก (Minimum Alternate Tax หรือ MAT) ด้วย ซึ่งคิดคำนวณจากผลกำไรตามบัญชีกำไรขาดทุนของบริษัท โดยทั่วไป MAT จะอยู่ที่ร้อยละ 19.06 หรือ 19.44 หรือ 20.01 ซึ่งรวมค่าธรรมเนียม (surcharge) และภาษีเพื่อการศึกษา (Education Cess) แล้ว
ตารางที่ 3 การเก็บภาษีขั้นต่ำแบบทางเลือก (Minimum Alternate Tax) ช่วงการประเมินปี 2558-2559 | ||||||||||||
หากผลกำไรไม่เกิน 10 ล้านรูปี | หากผลกำไรอยู่ในช่วง 10-100 ล้านรูปี | หากผลกำไรเกิน 100 ล้านรูปี | ||||||||||
IT | SC | EC+SHEC | รวม | IT | SC | EC+SHEC | รวม | IT | SC | EC+SHEC | รวม | |
บริษัทท้องถิ่น | 18.5 | 0.555 | 19.055 | 18.5 | 0.925 | 0.58275 | 20.00775 | 18.5 | 1.85 | 0.6105 | 20.9605 | |
บริษัทต่างชาติ | 18.5 | 0.555 | 19.055 | 18.5 | 0.37 | 0.5661 | 19.4361 | 18.5 | 0.925 | 0.58275 | 20.00775 |
หมายเหตุ IT หมายถึง Income Tax ภาษีเงินได้ SC หมายถึง Surcharge หรือค่าธรรมเนียม
EC+SHEC หมายถึง Education Cess หรือ ภาษีเพื่อการศึกษา + Secondary and Higher Education Cess หรื่อภาษีเพื่อการศึกษาขั้นมัธยมและขั้นสูง
หลักการคำนวนง่ายๆ ของ MAT ก็คือ สมมุติว่า บริษัทมีกำไรตามบัญชี เท่ากับ 700,000 รูปี และภายหลังจากหักค่าเสื่อมและอื่นๆ แล้ว มีกำไรที่สามารถมาคำนวณภาษีได้ 400,000 รูปี ถ้าคำนวณเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 30 จะเท่ากับ 120,000 รูปี ขณะที่ในการคำนวนหา MAT จะเท่ากับ 129,000 รูปี โดยคิดจาก 700,000 รูปี ที่ร้อยละ 18.5 แล้วบวกด้วย ภาษีเพื่อการศึกษาและภาษีเพื่อการศึกษาขั้นมัธยมและขั้นสูง
2. หลักถิ่นที่อยู่: บริษัทที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศอินเดีย หรือดำเนินกิจการในอินเดียในช่วงรอบปีงบประมาณ คือ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคม ถือว่าเป็นบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศอินเดีย โดยบริษัทท้องถิ่น (Resident Companies) จะต้องจ่ายภาษีโดยคิดฐานภาษีจากเงินได้ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย (global income) ขณะที่บริษัทต่างชาติ (Non-resident Companies) ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในอินเดีย จะเสียภาษีโดยคำนวณจากเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเท่านั้น
3. การจ่ายภาษี: ทางการอินเดียกำหนดวันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงภาษีไว้ คือ วันที่ 30 กันยายน ของทุกปี และขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน สำหรับบริษัทที่มีธุรกรรมด้านต่างประเทศ
4. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย: มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย หลายรายการ ได้แก่
4.1 เงินปันผล (Dividend): อินเดียไม่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับเงินปันผลจากผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ดี บริษัทอินเดียที่ประกาศว่าจะจ่ายเงินปันผล จะต้องจ่ายภาษีจ่ายเงินปันผล (Dividend Distribution Tax หรือ DDT) ในอัตราร้อยละ ๒๐.๔๗ (และรวมค่าธรรมเนียมและภาษีเพื่อการศึกษาแล้ว) ทั้งนี้ การคิดภาษีเงินปันผลจะคิดคำนวณจากจำนวนเงินของหุ้นที่จ่ายเงินปันผลได้ทั้งหมด
4.2 ค่าสิทธิในการให้บริการทางเทคนิค (Royalty Fees for Technical Services หรือ FTS): บริษัทต่างชาติที่จ่ายค่าสิทธิ (FTS) มีหน้าที่นำส่งภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 (ทั้งนี้ อัตราดังกล่าว อาจแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขที่ต่างกัน) โดยหากรวมค่าสิทธิ (FTS) กับค่าภาษีการศึกษา (Education Cess) และค่าธรรมเนียม (Surcharge) แล้ว อัตราภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าสิทธิอาจอยู่ในระดับร้อยละ 25.75 หรือร้อยละ 26.27
4.3 ภาษีดอกเบี้ย: โดยปกติบริษัทต่างชาติที่ปล่อยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศจะต้องจ่ายภาษีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 โดยเมื่อรวมกับค่าภาษีการศึกษา (Education Cess) และค่าธรรมเนียม (Surcharge) แล้ว อัตราภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายของภาษีดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ร้อยละ 20.60 หรือ 21.01 อย่างไรก็ดี บริษัทต่างชาติอาจได้รับการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 หากบริษัทต่างชาติดังกล่าวเป็นบริษัทผู้ให้เงินกู้แก่บริษัทอินเดียในรูปของสัญญาเงินกู้หรือการออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว ซึ่งมีกำหนดจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หรือการออกพันธบัตรระยาวในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 มิถุนายน 2560
4.4 การทำธุรกรรมซื้อขายซึ่งต่างจากราคาตลาด (Transfer Pricing): บริษัทที่ทำ Transfer Pricing ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยใช้หลักการคำนวณเช่นเดียวกับหลักสากล คือ ใช้หลักปกติราคาตลาด (Arm’s Length Principle) เป็นวิธีคิดราคาโอนสินค้าระหว่างกันของนิติบุคคล และหักภาษี
ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax)
ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ของอินเดียหลักๆ ประกอบด้วยภาษีหลากหลายประเภทมาก ชนิดที่เรียกว่าตามจำแทบไม่หมด ซึ่งได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ภาษีขายซึ่งจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง (Central Sales Tax หรือ CST) ภาษีเข้าเมือง (Entry Tax) ภาษีผ่านแดนหรือข้ามรัฐ (Octroi) ภาษีท้องถิ่น (Local Body Tax หรือ LBT) ภาษีสรรพสามิตส่วนกลาง (Central Excise Duty) และภาษีบริการ (Service Tax)
Indirect Tax | Definition | Rate |
Value Added Tax (VAT) | VAT is levied by State Governments on intra-State sale of goods in India. | The general rate of VAT is 12.5%, 4% and 0%. |
Central Sales Tax (CST) | CST is a tax on sales of goods levied by the Central Government of India and applicable only in the case of inter-state sales. | In an inter-state sale to a registered dealer against form C the rate of CST is 2% or local sales tax rate whichever is lower. |
Entry Tax | Entry tax is levied on movement of the goods from one state to into another and is levied by the recipient state to protect their tax base. | n.a. |
Octroi | Octroi is a municipal levy, currently applicable only in the State of Maharashtra | n.a. |
Local Body Tax (LBT) | LBT is the tax imposed by the local civic bodies of India on the entry of goods into a local area for consumption, use or sale therein | n.a. |
Central Excise Duty (CST) | Central Excise duty is an indirect tax levied on goods manufactured in India. The tax is administered by the Central Government under the authority of Entry 84 of the Union list (List I) of the Constitution of India. | Generally, the effective rate of the central excise is 10.30%. |
Service Tax | Service Tax is a Central levy on provision of notified taxable services specified under Chapter V of the Finance Act, 1994. | Currently the rate of Service Tax is 12% plus education cess of 2% and secondary & higher education cess of 1% i.e. 12.36%. |
ข้อมูลจาก Taxpert, ๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๗ http://www.taxpertpro.com/value-added-tax-vat
ภาษีดังกล่าว มีการเรียกเก็บที่แตกต่างกัน โดยขอสรุปสั้นๆ ดังนี้
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT): เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการขายสินค้าภายในรัฐ (Intra state) และเรียกเก็บโดยรัฐบาลแต่ละรัฐ สำหรับอัตราการเก็บ VAT ของแต่ละรัฐนั้น อาจจะมีอัตราการจัดเก็บที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว การเรียกเก็บ VAT จะอยู่ที่ร้อยละ 12.5 ร้อยละ 4 หรือร้อยละ 0 ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า เช่น สินค้าที่จัดเก็บร้อยละ 0 จะเป็นสินค้าจำเป็น เช่น สินค้าจากธรรมชาติ หรือไม่ผ่านการแปรรูป เช่น สินค้าเกษตรและสินค้าวัตถุดิบ สินค้าที่จัดเก็บร้อยละ 4 เป็นสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เช่น ยา เวชภัณฑ์ วัตถุดิบที่ใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม และสินค้าทุน 270 รายการ ส่วนสินค้าอื่นๆ เป็นสินค้าที่จัดเก็บร้อยละ 12.5
สำหรับการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของอินเดียนั้น เท่าที่ทราบ ผู้ชำระภาษีจะประเมินภาษีโดยการประเมินตนเอง (Self assessment) แล้วชำระภาษี โดยวิธีคิดหรือสูตร คือ VAT = Output Tax – Input Tax วิธีหา Input VAT ง่ายๆ คือ หากต้นทุนสินค้าและบริการเท่ากับ 100 รูปี และ VAT เท่ากับร้อยละ 12.5 ดังนั้น Input VAT จะเท่ากับ 12.50 รูปี ส่วน Output VAT หาได้โดย สมมุติให้ราคาสินค้าที่ขายเท่ากับ 200 รูปี ก็จะได้ Output VAT เท่ากับ 25 รูปี ดังนั้น การจ่าย VAT ก็จะเท่ากับ 12.50 รูปี
2. ภาษีขายซึ่งจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง (Central Sales Tax หรือ CST): เรียกเก็บจากการขายหรือซื้อสินค้าระหว่างรัฐ (Inter-state) โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะจัดเก็บในรัฐที่สินค้ามีการซื้อขายสินค้า โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 2
3. ภาษีเข้าเมือง (Entry Tax): เป็นภาษีที่จัดเก็บระดับรัฐ เรียกเก็บจากการเคลื่อนย้ายสินค้าจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง โดยรัฐสุดท้ายที่สินค้าถูกส่งจำหน่ายไป จะเป็นผู้จัดเก็บ ภาษีดังกล่าวมีอัตราแตกต่างกันตามแต่ละรัฐจะกำหนด
4. ภาษีผ่านแดนหรือข้ามรัฐ (Octroi): เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการเคลื่อนย้ายสินค้าจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง โดยเมือง (Municipality) เป็นผู้จัดเก็บ ปัจจุบันมีเพียงรัฐมหาราษฏระรัฐเดียวที่มีการจัดเก็บภาษีนี้ อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลของรัฐมหาราษฏระมีแผนที่จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอนาคต
5. ภาษีท้องถิ่น (Local Body Tax หรือ LBT): เป็นภาษีที่สองรัฐ คือ รัฐคุชราต และรัฐมหาราษฏระนำมาใช้ทดแทนภาษีผ่านแดนหรือข้ามรัฐ โดยภาษี LBT เป็นการคิดภาษีในการนำสินค้าเข้ามายังรัฐ เพื่อใช้หรือจำหน่าย โดยเดิมภาษี Octroi ใข้มูลค่าต้นทุนวัตถุดิบเป็นฐานภาษี แต่สำหรับ LBT ใช้มูลค่ายอดหมุนเวียนของสินค้าแทน โดยวิสาหกิจที่มียอดมูลค่าหมุนเวียนของสินค้าไม่เกิน 300,000 รูปีต่อปี จะได้รับยกเว้นภาษี อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลอินเดียกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษี GST ทั่วทั้งประเทศแล้ว ก็จะให้มีการยกเลิกการจัดการเก็บภาษี LBT ต่อไป
6. ภาษีสรรพสามิตส่วนกลาง (Central Excise Duty): เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ผลิตในอินเดีย ตาม พรบ. สรรพสามิต Central Excise Act 1944 และ Central Excise Tariff Act 1985 โดยสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนี้จะเป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ โดยอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10.30 และจัดเก็บทุกเดือน
7. ภาษีบริการ (Service Tax): มีอัตราร้อยละ ๑๒ บวกกับภาษีเพื่อการศึกษา (Education Cess) อีกร้อยละ 2 ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการเป็นบริการรายย่อย รายได้ไม่เกิน 8 แสนรูปีต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีบริการ
ภาษีประเภทอื่นๆ
ภาษีศุลกากร (Customs Duty) การเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสินค้าในอัตราต่างๆ นั้นเป็นไปตามกฏหมายของอินเดียว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหรือ Customs Tariff Act 1975 ทั้งนี้ เมื่อส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศอินเดีย ผู้นำเข้าหรือผู้รับจำเป็นจะต้องชำระภาษีอากรขาเข้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าใช้ส่วนบุคคล หรือสินค้าเพื่อการพาณิชย์
วิธีการประเมินก็คิดคำนวณตามราคาซีไอเอฟ (CIF) คือ การชำระอากรและภาษีคำนวณจากมูลค่าของสินค้านำเข้าเต็มจำนวนซึ่งรวมค่าสินค้า ค่าประกันภัยและค่าขนส่ง (Cost, Insurance & Freight) โดยเฉพาะอากรจะคำนวณจากยอดรวมของราคาซีไอเอฟ (CIF) บวกค่าธรรมเนียมเทียบท่า (Landing Charges) ร้อยละ 1
อย่างไรก็ดี การเก็บอากรของสินค้าบางชนิดขึ้นอยู่กับหน่วยวัด และยังมีการเรียกเก็บภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ซึ่งเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก และค่าธรรมเนียมการศึกษา (Education Cess) ต่างๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าของท่านต้องการนำเข้าโทรทัศน์ LED ขนาด 39 นิ้ว ซึ่งมีพิกัดภาษี รหัสฮาร์โมไนซ์ (HS Code) 8528.72.19 จากประเทศไทยเข้ามาอินเดีย วิธีการคำนวณภาษีอย่างง่ายๆ ก็คือ คำนวณอัตราภาษีศุลกากรนำเข้า ร้อยละ 10 บวกกับค่าธรรมเนียมเทียบท่า (Landing Charges) ร้อยละ 1 ของราคา CIF บวกค่าภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากราคา CIF กับค่า CVD บวกกับค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 3 ของจำนวนภาษีนำเข้าและและภาษี CVD บวกกับค่า Additional Countervailing Duty ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 4 ด้วย ทั้งนี้ การคิดคำนวณภาษีดังกล่าวอาจสร้างความงงงวยให้แก่ผู้ส่งออกได้ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน ประเทศไทยและอินเดียได้มีการเจรจาและทำความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Thailand-India Free Trade Agreement: TIFA) มาตั้งแต่ปี 2546 โดยผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากการได้ลดภาษีนำเข้าไปอินเดียในรายการสินค้าเร่งลดภาษีบางส่วน (Early Harvest Scheme) รวม 83 รายการ ซึ่งแยกเป็น กลุ่มสินค้าเกษตร 7 รายการ กลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป 4 รายการ สินค้าเกลือ 1 รายการ กลุ่มสินค้าแร่และเคมีภัณฑ์ 5 รายการ กลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ 10 รายการ สินค้าไม่อัดบาง 1 รายการ กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 4 รายการ กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ 9 รายการ กลุ่มสินค้าอลูมิเนียม 2 รายการ กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล เครื่องสูบของเหลว เครื่องระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกลการเกษตร 24 รายการ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Free Trade Agreement: AIFTA) ได้อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียได้ร่วมกันลงนามความตกลงการค้าสินค้าระหว่างกันเมื่อปี 2552 โดยให้มีการลดภาษีด้านการค้าสินค้าระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยมีสินค้ากว่า 7,775 รายการ หรือร้อยละ 63.99 ของรายการสินค้าทั้งหมดตามพิกัดศุลกากรที่เข้าข่ายได้รับการลดภาษีศุลกากร เป็นร้อยละ 0 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป (สำหรับกลุ่มสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่ม Normal Track1 ) จนเหลือร้อยละ 5 ภายในปี 2561 (สำหรับกลุ่มสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว หรือ Sensitive List1)
ตัวอย่างสินค้าที่อินเดียยกเลิกภาษีแล้ว ได้แก่ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น พัดลม ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น และของเล่น เป็นต้น ส่วนรายการที่จะยกเลิกภาษีในอนาคตในปี 2559 ก็เช่น โทรทัศน์สี สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล หม้อแปลง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
อากรแสตมป์ (Stamp duty) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน เป็นต้น อัตราการเก็บอากรแสตมป์ของอินเดียในแต่ละรัฐมีอัตราที่แตกต่างกัน เช่น รัฐทมิฬนาฑู เรียกเก็บอัตราร้อยละ 6 รัฐอานธรประเทศ ร้อยละ 3 และรัฐกรณาฏกะ ร้อยละ 7.01 เป็นต้น
ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) หน่วยงานด้านศุลกากรอินเดียจะเรียกเก็บเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน อาคาร ที่ถือครองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าและมีมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านรูปี นอกจากนี้ ยังเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของยานยนต์ เรือยอร์จ เรือและอากาศยาน เครื่องเงินเครื่องทอง ที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินเดียจะเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง แต่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีมรดก (Inheritance tax) โดยทั้งชาวต่างชาติและชาวอินเดียที่เข้าข่ายเกณฑ์จะต้องเสียภาษีความมั่งคั่งจะต้องจ่ายภาษีโดยไม่มีข้อยกเว้น
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Property Tax) เรียกเก็บโดยหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีอัตราเรียกเก็บแต่ละพื้นที่ต่างกัน ภาษีโรงเรือนและที่ดินจะจัดเก็บจากรายได้ที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยเจ้าของทรัพย์สินต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี และทางการจะเป็นผู้ประเมินภาษีโดยอาจพิจารณาจากการประเมินรายได้จากทางการท้องถิ่น ค่าเช่าที่ได้รับ และค่าเช่าเฉลี่ยของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น
***************
จัดทำโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน