ข้อควรรู้สำหรับผู้ส่งสินค้าอาหารไปจำหน่ายในอินเดีย
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีได้รับแจ้งจากหน่วยงาน Food Safety and Standards Authority of India หรือ FSSAI ของอินเดียว่าได้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอินทผลัมจีนอบแห้ง (Dehydrated Fruits – Chinese Dates) ที่ถูกส่งมาจากผู้ส่งออกจากประเทศไทยผ่านท่าเรือเจนไนด้วยเหตุผลว่า
1) ระบุวันที่ผลิตและวันที่บรรจุสินค้าบนกล่องและผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน
2) ระบุแหล่งกำเนิดสินค้าแตกต่างกัน โดยบนผลิตภัณฑ์ (Package) มีสติ๊กเกอร์ “Made in Thailand” ในขณะที่บนกล่องที่บรรจุผลิตภัณฑ์ (Carton) ระบุว่า “Made in China” ทำให้ข้อมูลแหล่งกำเนิดสินค้าขัดแย้งกัน ซึ่งผิดจากข้อกำหนดกฎข้อ 2.2 ของ Food Safety and Standards หรือ FSS ว่าด้วยการบรรจุสินค้าและการปิดฉลาก ปี 2554 และเป็นการปิดฉลากไม่ถูกต้อง ตามหมวด 3(1)(zf)(A)(i) และ 3(1)(zf)(B)(iii) ของบทบัญญัติ FSS ปี 2549
จากกรณีดังกล่าว FSSAI ได้แจ้งเตือนย้ำข้อมูลการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ อีกครั้ง ซึ่งแอดมินขอนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ดังนี้
1. ต้องปิดฉลากสินค้าโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในด้าน Food Safety and Standards หรือ FSS ได้แก่
1.1 ระเบียบการบรรจุสินค้าและการปิดฉลาก ปี 2554 (Packaging and Labelling) Regulations, 2011
1.2 ระเบียบการนำเข้าอาหาร ปี 2560 (Food Import) Regulations, 2017
2. ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำสำหรับการปิดฉลากที่ออกโดย FSSAI โดยมีระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1 No. 1-17/FSSAI/T/2010 (Part J) ลงวันที่ 23 มีนาคม 2555 เรื่อง Guideline related to Food Import Clearance Process by FSSAI’s Authorized Officers-reg.
2.2 ข้อแนะนำเพิ่มเติม No.1-1570/FSSAI/Imports/2015 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2559 เรื่อง Guidelines related to Food Import Clearance Process by FSSAI’s Authorized Officers – reg.
(URL: http://old.fssai.gov.in/Portals/0/pdf/Guidelines_FICS_10_08_2016.pdf)
2.3 ระเบียบการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ No. 1-1570/FSSAI/Imports/2015 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เรื่อง Rectifiable labelling information for imported food consignments – reg.
3. ควรศึกษากฎระเบียบดังต่อไปนี้ก่อนที่จะดำเนินการส่งออกสินค้าอาหารมายังอินเดีย
3.1 กฎระเบียบ Food Safety & Standards (มาตรฐานคุณภาพอาหารและเครื่องปรุงอาหาร) ปี 2554 Food Safety & Standards (Food Products Standards & Food Additives) Regulations, 2011
3.2 กฎระเบียบ Food Safety & Standards (ข้อห้ามและข้อจำกัดในการขาย) ปี 2554 Food Safety and Standards (Prohibition and Restriction on Sales) Regulation, 2011
3.3 กฎระเบียบ Food Safety & Standards (การปนเปื้อน สารพิษ และสารตกค้าง) ปี 2554
3.4 กฎระเบียบ Food Safety & Standards (อาหารเสริมหรืออาหารเพื่อสุขภาพ เภสัชโภชนศาสตร์ การใช้อาหารและการควบคุมอาหาร อาหารสำหรับจุดประสงค์พิเศษทางการแพทย์ อาหารฟังก์ชั่น และอาหารใหม่) ปี 2559
3.5 กฎระเบียบ Food Safety & Standards (การนำเข้า) ปี 2560
โดยกฎระเบียบดังกล่าวทั้งหมดสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ FSSAI ตาม URL นี้
http://www.fssai.gov.in/home/fss-legislation/fss-regulations.html
การปฏิบัติตามระเบียบอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้สินค้าสามารถส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้ลดความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหายจากการถูกปฏิเสธการนำเข้าอีกด้วย สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกท่านศึกษาระเบียบให้ถี่ถ้วนเสมอ ก่อนดำเนินการส่งออกสินค้ามายังอินเดีย
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี