ชาวอินเดียชอบรับประทานขนมหวานที่มีรสชาติหวานจัด หากท่านใดเคยได้ลองชิมขนมหวานของอินเดียแล้ว คงจะสามารถจินตนาการตามได้นะคะว่าขนมของอินเดียมีรสชาติหวานเพียงใด ขนมที่เป็นที่รู้จักของคนไทยที่เราสามารถหารับประทานได้ไม่ยากนักตามร้านอาหารอินเดียคงจะหนีไม่พ้น "กุหลาบจามุน" "ราสมาลัย" "คูลฟี่" และ "ฮัลวา" ซึ่งล้วนแต่มีส่วนผสมของนม เนยและถั่ว เป็นหลัก ชาวอินเดียนิยมซื้อขนมหวานแจกครอบครัวและเพื่อนฝูงในช่วงงานเทศกาล
นอกจากขนมหวานแบบอินเดียแท้ๆ แล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวอินเดียเริ่มเปิดรับขนมหวานจากตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาวอินเดียที่พำนักในตัวเมืองใหญ่ ๆ และมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเมื่อก่อนอาจทานขนมหวานเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในช่วงงานเทศกาลหรือตามงานเลี้ยงฉลองในโอกาสสำคัญต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันชาวเมืองจำนวนมากหันมารับประทานขนมหวานหลังอาหารจานหลักตามแบบตะวันตก และยังพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นหากได้ลิ้มลองขนมหวานใหม่ๆ หรือรสชาติแปลกใหม่อีกด้วย
ตลาดขนมหวานที่มีแบรนด์ ทั้งของอินเดียเองและของต่างประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตถึงปีละ 15% ผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ เช่นเมืองมุมไบหรือกรุงนิวเดลี สามารถหาไอศกรีม Baskin Robbins, Haagen Daz, Movenpick, Magnum, Gelato Vinto รับประทานได้ไม่ยากนัก และยังมีแบรนด์ ไอศกรีม Natural ของอินเดียที่ขายไอศกรีมแบบตะวันตกแต่ใช้ผลไม้ท้องถิ่นที่แม้แต่คนไทยเองก็คุ้นเคย ได้แก่ ขนุน ละมุด น้อยหน่า ก็ประสบความสำเร็จขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนเจ้าของแบรนด์ไม่มีเวลาสนใจไปเปิดสาขาในต่างประเทศ คาดว่าในปี 2557 - 2558 ตลาดขนมหวานแช่แข็งที่มีแบรนด์จะมีมูลค่าถึง 7.2 หมื่นล้านรูปี (หรือประมาณ 4.32 หมื่นล้านบาท)
กระแสความนิยมขนมหวานแบบตะวันตกในอินเดียยังรวมไปถึงขนมหวานที่เรียกได้ว่า exclusive ด้วยสนนราคาประมาณ 45 - 85 รูปี ต่อชิ้นเล็กๆ อย่างขนมมาการองซึ่งมีต้นตำรับมาจากประเทศฝรั่งเศส มาการองเป็นหนึ่งในขนมตะวันตกที่มาแรงในเมืองมุมไบเป็นอย่างมาก เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สามารถหาขนมมาการองรับประทานได้เฉพาะในโรงแรมห้าดาวบางแห่งเท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีร้านขายขนมมาการองแบบ stand alone เปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ร้าน Marie-Antoinette ซึ่งเป็นกิจการของชาวฝรั่งเศส หรือร้าน La Folie และร้าน Le 15 patisserie ซึ่งเป็นร้านของชาวอินเดียที่ไปฝึกฝนการทำมาการองจากฝรั่งเศส และร้านอาหารชั้นนำในเมืองมุมไบต่างพยายามนำขนมมาการองมาบรรจุในเมนูของหวานของตนอีกจำนวนมาก แม้กระทั่งร้านขายขนมและขนมปังบบแตะวันตก (แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของอินเดีย) อย่าง Gaylord ก็ลองทำมาการองจำหน่ายด้วยเช่นกัน โดยมีการฉลองวันมาการองโลกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พร้อมกับประเทศอื่นๆ ด้วย
ล่าสุด ช็อกโกแลตญี่ปุ่นยี่ห้อ Royce ก็ได้เข้ามาเปิดร้านที่ห้างชื่อดังของเมืองมุมไบอีกด้วย โดยตั้งราคาขายประมาณกล่องละ 1.08 พันรูปี (หรือประมาณ 650 บาท) แต่ก็มีลูกค้าชาวอินเดียสนใจซื้อช็อกโกแลต Royce เป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา) เนื่องจากเป็นช็อกโกแลตที่แตกต่างจากช็อกโกแลตทั่วไป จึงเห็นได้ว่าราคาของขนมหวานไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจซื้อของชาวอินเดียที่มีฐานะดีและอาศัยในตัวเมือง หากเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีรสชาติถูกปาก และสามารถให้ประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคได้
โดย กนกภรณ์ คุณวัตน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,943 วันที่ 27 - 30 เมษายน พ.ศ. 2557