กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India ตอน เอกชนไทยไปอินเดีย: ต้องก้าวข้ามอคติเดิมๆ
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ตีพิมพ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2555
เดือนหน้า นายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นผู้นำไทยในประวัติศาสตร์ที่เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ในปีเดียวกัน โดยครั้งแรกเมื่อปลายมกราคมเป็นแขกเกียรติยศสูงสุดคนเดียวของวันสถาปนาสาธารณรัฐ
ระหว่าง 20-21 ธันวาคม ศกนี้ ที่กรุงนิวเดลี อินเดียจะปูพรมแดงต้อนรับผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ครบ 20 ปี อินเดีย-อาเซียน ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญมากที่สุดงานหนึ่งในปีนี้
ก่อนจะมาถึงงานฉลองใหญ่โดยผู้นำ อินเดียได้วางแผนปูพื้นไว้ด้วยกิจกรรมหลายหลาก เริ่มจากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนกับอินเดียด้านเกษตรตามด้วยด้านพลังงาน การเดินเรือย้อนยุคจากอินเดียไปประเทศอาเซียนเพื่อรำลึกความสัมพันธ์ทางการค้า วัฒนธรรมและศาสนาที่เคยรุ่งเรืองในช่วง 700 ปีที่แล้ว เรือ “สุชาธินี” เป็นเรือฝึก 3 เสากระโดงของกองทัพเรืออินเดีย มีกำหนดจะแวะกรุงเทพฯ และภูเก็ตประมาณต้นมีนาคม ศกหน้า
ทางบกก็จะมีการแสดงความเชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับอาเซียนโดยกิจกรรมคาร์แรลลี่ คือขบวนรถยนต์จากสิงคโปร์ผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลาว พม่าและอินเดียกว่า 7,743 กิโลเมตร โดยจะผ่านไทยมากที่สุดด้วยระยะทาง 2,200 กิโลเมตร จะมีกิจกรรมทางธุรกิจและวัฒนธรรมตลอดทาง นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานพิธีปล่อยรถที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม
กิจกรรมแรกของผู้นำอาเซียนในวันแรกที่ไปถึงกรุงนิวเดลี คือการต้อนรับขบวนรถ 11 ประเทศนี้ ที่กลางกรุงนิวเดลีร่วมกับตัวแทนเยาวชน นักการทูตรุ่นใหม่ เกษตรกร ศิลปินนักแสดงและบรรณาธิการ/ผู้สื่อข่าวจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนที่รัฐบาลอินเดียลงทุนเชิญให้ไปเยือนอินเดีย เพื่อมุ่งหวังผลให้เกิดความประทับใจต่ออินเดียและระหว่างกัน
สำหรับภาคธุรกิจ ก็จะเป็นจุดเด่นของการฉลองความสัมพันธ์เช่นกัน เพราะภาคเอกชนอินเดียเป็นโต้โผจัดงาน India-ASEAN Business Fair (IABF) คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำที่กรุงนิวเดลี 18-20 ธันวาคม ระหว่างงานจะมีการประชุมสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย มีการเชิญภาคเอกชนจากทุกประเทศอาเซียนไปร่วมกับบริษัทอินเดียออกบูธ เน้นการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (บีทูบี) เป็นหลัก
งานครั้งก่อนบางประเทศเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จัดบริษัทชั้นนำไป แต่อาเซียนอื่นรวมทั้งอินเดียจัดผู้ส่งออกที่ต้องการค้าปลีกไปเป็นหลัก ปีนี้เพื่อเน้นการจับคู่ให้ชัดเจน จึงกำหนดสาขาหลัก 7 สาขา คือ ยานยนต์/เครื่องไฟฟ้า เคมีภัณฑ์/ยา/พลาสติก โครงสร้างพื้นฐาน/ก่อสร้าง อัญมณี/เครื่องประดับ เกษตร/อาหารแปรรูป สิ่งทอ/เครื่องแต่งบ้าน/เฟอร์นิเจอร์ และบริการไอที/สุขภาพ/อายุรเวชศาสตร์
กรมส่งเสริมส่งออกได้จองพื้นที่ในงานไว้แล้ว 285 ตารางเมตร ในอาคารที่มีความโดดเด่นมาก สถานทูตก็ได้พยายามประสานอย่างเต็มที่ให้สถาบันภาคเอกชนไทยตื่นตัวและใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เอกชนไทยมักขอให้ภาครัฐช่วยอยู่เนืองๆ คือการจัดให้พบหุ้นส่วนฝ่ายอินเดีย
แม้สาขาทั้งเจ็ดข้างต้น สถานทูตก็เป็นผู้ผลักดันโดยพิจารณาจากประเภทของธุรกิจไทยที่ลงทุนในอินเดียอยู่แล้วและศักยภาพที่จะเข้าไปได้ แต่เท่าที่สดับตรับฟังดูยังติดขัดเรื่องท้าทายเดิมๆ ที่เป็นปกติในสังคมไทย
ข้อท้าทายแรกคือ การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองและกับภาคเอกชนและระหว่างเอกชนกันเอง สรุปคือทำอย่างไร ข้อมูลที่มีประโยชน์และครบถ้วนจะไปถึงที่เอกชนที่สนใจได้ ถูกบริษัท ถูกตัวบุคคลและถูกเวลา
สิ่งที่สถานทูตทำได้คือ การประสานงานกับฝ่ายอินเดียและระหว่างหน่วยราชการไทยในอินเดียอย่างต่อเนื่อง แล้วรายงานผ่านช่องทางราชการและผ่านเว็บไซต์ thaiindia.net ที่ทำไว้เพื่อนักธุรกิจไทยที่สนใจอินเดียโดยเฉพาะ เวลานี้ก็ยังตามติดโดยตรงว่าจะไปร่วมได้กี่ราย ถึงเวลาจริงส่วนใหญ่อาจอยากตามติดนายกรัฐมนตรีมากกว่าก็ได้
ข้อท้าทายที่สองคือ นักธุรกิจไทยมีความสนใจอินเดียแบบหลายหลาก ตั้งแต่สนใจจริง ลงทุนจริง สนใจเพราะตามกระแส ไปจนถึงพูดอย่างเดียวว่าอินเดียสำคัญ แต่ไม่มีแอคชั่นเพราะยังไม่พร้อม หรือจมปลักอยู่ในอคติเดิม
กลุ่มแรกคือ บริษัทชั้นนำไม่กี่บริษัทที่สนใจจริง เพราะมองว่าต้นทุนถูก ตลาดมีขนาดใหญ่ เข้าไปลงทุนแล้วจริง รู้จักอินเดียจริง ไม่ต้องรอการชี้นำจากภาครัฐ สิ่งที่ต้องการจากภาครัฐมีเรื่องเดียว คือขอให้ช่วยทำความตกลงกับอินเดียเพื่อยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอินเดีย หรือหากต้องจ่ายเงินสมทบ ก็ขอเบิกคืนได้ทันทีที่กลับประเทศ ไม่ต้องรอจนอายุ 58 ปี
กลุ่มที่สองคือ บริษัทที่สนใจอินเดีย แต่อยากพึ่งพาราชการในการจับคู่หุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งทีมประเทศไทยในอินเดียช่วยได้และที่ได้ทำไปแล้วในปีนี้ คือ การจัดสัมมนาหลายครั้งทั้งที่เดลีและกรุงเทพฯ และการนำคณะนักธุรกิจเหล่านี้ไปพบมุขมนตรีและเอกชนอินเดียที่รัฐคุชราต ซึ่งเป็นรัฐเด่นในอินเดียที่สามารถตอบคำถามภาคเอกชนไทยที่ฝากไว้กับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เมื่อต้นปีได้เกือบหมด โดยเฉพาะที่ดินตั้งโรงงาน น้ำ ไฟ และแรงงาน
นอกจากนั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ก็ทำกิจกรรมช่วยผู้ส่งออกไทยได้เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน และอัญมณี
กลุ่มที่สามคือ บริษัทที่สนใจแต่ไม่อยากเสี่ยง เพราะทำธุรกิจในบ้านหรือรอบบ้านก็ดีอยู่แล้ว บางอย่างผลิตแทบไม่ทัน เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายเอกชนอินเดียไปขอร้องสถานทูตให้เชิญเอกชนไทยด้านชิ้นส่วนรถยนต์กับแปรรูปอาหารไปร่วมจับคู่ทางธุรกิจที่รัฐคุชราตในเดือนมกราคม ศกหน้า ขนาดออกค่าใช้จ่ายร่วมงานหลายแสนบาทให้ด้วย แต่สุดท้ายไม่มีใครจากไทยสนใจ แบบนี้ สถานทูตงง ไม่รู้จะตอบอินเดียอย่างไรไทยจึงยังดูดีอยู่
กลุ่มสุดท้ายคือ ข้อท้าทายที่สาม คือคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐยังไม่ก้าวข้ามอคติเดิมๆ เอกชนกลุ่มนี้ต้องเปิดใจและค้นหาความจริงอีกด้านของเหรียญ เพราะมีผู้กล่าวถึงอินเดียว่า ไม่ว่าจะมองเห็นอะไรในอินเดีย ในความเป็นจริงจะสามารถค้นหาสิ่งตรงข้ามเรื่องนั้นๆ ได้เช่นกัน
เอกชนไม่ว่าอยู่กลุ่มใด หากมุ่งมั่นกับอินเดียแล้ว จำเป็นต้องทำความเข้าใจอินเดีย อย่ามองจากมาตรฐานฝ่ายเราเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับข้อตกลงภาษาอังกฤษ หาหุ้นส่วนอินเดียที่ดีเป็นพันธมิตร และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรจ้างนักบัญชี นักกฎหมายอินเดียไว้ใช้งาน เรื่องปวดหัวจะลดลง
โดยสรุปภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ยังพอใจในการทำธุรกิจในบ้าน หรืออย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน จะกระตือรือร้นกันทีก็ต่อเมื่อมีการเยือนระดับสูงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ ภาครัฐก็ไม่ควรผิดหวัง เพราะยังมีเอกชนไทยที่ตื่นตัว เปิดใจและพร้อมโกอินเตอร์ที่สมควรได้รับการสนับสนุนและน่าจะมีมากชึ้นเรื่อยๆ