ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 59)
ชื่อเสียงการบริการแบบไทยๆ ในรัฐกัว
กัว (Goa) เป็นรัฐขนาดเล็กของอินเดีย อยู่บนชายฝั่งตะวันตกติดทะเลอาหรับ ทางตอนเหนือเป็นรัฐมหาราษฎระ ที่ตั้งของมหานครมุมไบ ส่วนทางตอนใต้ติดกับรัฐกรณาฏกะ ที่ตั้งของเมืองบังกะลอร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที
แม้จะขนาบด้วยสองรัฐชั้นนำด้านเศรษฐกิจของอินเดีย แต่กัวที่อดีตเป็นเมืองอาณานิคมของโปรตุเกส และยังคงมีร่องรอยอารยธรรมเหลือให้เห็นตามสถาปัตยกรรมของเมือง ก็ยังคงเอกลักษณ์และความสบายๆ สไตล์เมืองตากอากาศอันดับหนึ่งของอินเดียเอาไว้ได้ดี
หากจะเปรียบเทียบแล้ว สำหรับชาวอินเดีย กัวก็เท่ากับเกาะภูเก็ตยอดนิยมของไทยนั่นเอง
กัวอยู่ภายใต้ความดูแลของสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองมุมไบ ที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้จัดคณะเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนชุมชนไทยที่นั่น เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและให้ความช่วยเหลือคนไทยไกลบ้านที่ไปทำงานกันในเมืองตากอากาศเล็กๆ แห่งนี้
ขณะนี้มีคนไทยอาศัยอยู่ในกัวเพียงประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานสปาและทำงานด้านบริการเช่น การสอนศิลปะไทย หรือเสริมสวย
กัวเคยเป็นเป้าหมายหนึ่งของบุปผาชนในยุคทศวรรษ 1960 ในช่วงหลัง แม้บุปผาจะโรยราไปตามกาลเวลา แต่นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวอินเดียเองก็ยังนิยมเดินทางไปพักผ่อนที่นั่นอย่างต่อเนื่อง
อาจคงเป็นเพราะความนิยมที่ติดมาจากเมืองตากอากาศชายทะเลของไทย ความนิยมบริการแบบไทยๆ ในกัวจึงเริ่มมีมากขึ้น และเป็นโอกาสให้คนไทยที่มีความสามารถมีฝีมือไปทำงานกัน
อย่างภัตตาคารไทย Chili Hip และสปาไทย Spa Cenvareen ของบริษัท Acron Place ที่ตั้งอยู่บนถนน Fort Aguada ในเมืองแคนโดลิม ก็มีพ่อครัวไทยและพนักงานสปาทำงานอยู่ร่วม 12 ชีวิต ผู้บริหารของบริษัทมีความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี และดูแลพนักงานให้ทำงานอย่างมีความสุข
คุณอุไรวรรณ รามกำแหง ผู้จัดการสปาไทย เล่าให้คณะของสถานกงสุลใหญ่ฟังว่า พนักงานทุกคนมีขวัญและกำลังใจดี ได้รับเงินเดือนเป็นธรรม บริษัทให้การดูแลเรื่องที่พัก อาหาร และรถรับส่งอย่างดี ส่วนเรื่องวีซ่าก็หมดปัญหาปวดหัว เพราะมีบริษัทที่ปรึกษาคอยดูแลให้
ไม่น่าแปลกใจเพราะ Acron Place ให้ Centara Hotels & Resorts ไปบริหารจัดการให้ ซึ่งนอกจากที่นี่แล้ว ยังมีแผนจะขยายเปิดรีสอร์ทอีกแห่งให้ Centara บริหาร มีทั้งภัตตาคารและสปาไทยให้บริการ ในช่วงกลางปีหน้า 2556 ด้วย
แสดงว่า คนไทยไม่ได้มีความสามารถแค่งานบริการด้วยฝีมือเท่านั้น แต่ฝีมือการบริหารจัดการแบบไทยๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจในอินเดียด้วย
ในกัว ยังมีคนไทยที่แต่งงานกับชาวอินเดียและปักหลักตั้งรกรากอยู่ที่นั่น เปิดโรงเรียนสอนการแกะสลักผักและผลไม้ ชื่อ Royal Thai Art และร้านเสริมสวย Hip Snip ซึ่งทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ
โรงเรียน Royal Thai Art เป็นที่นิยมของนักเรียนท้องถิ่น นอกจากสอนงานฝีมือไทยแล้ว ยังรับจ้างแกะสลักผักผลไม้เพื่อนำไปตกแต่งงานพิธีต่างๆ โดยเฉพาะงานอลังการอย่างงานแต่งงานอินเดีย จนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงจนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเอาไปชมเชย
ส่วน Hip Snip ร้านเสริมสวยฝีมือคนไทยก็เป็นที่นิยมของคนท้องถิ่นฐานะดีและนักท่องเที่ยว จากปกติที่ทำรายได้ตกเดือนละ 100,000 รูปี หรือ 60,000 บาท จะพุ่งกระฉูดในฤดูท่องเที่ยวถึงกว่าเดือนละ 200,000-300,000 รูปี หรือกว่า 120,000-180,000 บาท เจ้าของกิจการที่มีลูกจ้างช่วยงานเพียง 2 ราย จึงฟันกำไรไปเต็มๆ
ศิลปะและการบริการแบบไทยๆ เติบโตขึ้นได้ในกัว คงเพราะความนิยมในด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศของคนอินเดียที่มีฐานะและชาวต่างชาติ เป็นโอกาสให้คนไทยที่มีความสามารถในด้านบริการและศิลปะแบบไทยๆ ไปขายฝีมือ
สำหรับคนที่ต้องการสวัสดิการดีๆ และรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอ คงต้องไม่ลืมว่า การจะฝากชีวิตในต่างแดนอย่างอินเดียไว้กับนายจ้าง จะต้องทำการบ้านให้รอบคอบว่าเขาเข้าใจวัฒนธรรมคนไทยมากพอหรือไม่ และบริษัทหรือโรงแรมมีชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือมากเพียงใด ยิ่งถ้าเป็นบริษัทไทยที่มาบริหารจัดการในต่างแดนด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้การประกอบอาชีพลดเรื่องยุ่งยากกวนใจไปได้มาก และจะทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตมีความสุข
ส่วนผู้ที่รักการผจญภัยและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การทำธุรกิจส่วนตัวก็เป็นอีกโอกาสหนึ่ง ซึ่งต้องคำนึงเรื่องหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วยว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษา และประคับประคองเราให้อยู่ไปตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ ฝีมืออย่างเดียวคงจะไม่พอ อย่างในกรณีคนไทยที่เปิดโรงเรียนสอนแกะสลักและเสริมสวยที่กัว น่าจะได้คู่สมรสชาวอินเดียช่วยแก้ปัญหาสารพันให้
พื้นที่และตลาดก็เป็นส่วนสำคัญในการเปิดธุรกิจ อย่างเช่นที่กัวซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันดับหนึ่งและเป็นที่นิยมของชาวอินเดียมีอันจะกิน ความนิยมวัฒนธรรมอันวิจิตรแบบไทยๆ ก็ย่อมขายได้ดี สินค้าวัฒนธรรมในอินเดียจึงยังคงมีที่ทางเติบโตเสมอ
ชาวไทยที่มีฝีมือจึงควรรักษามาตรฐานไว้และพยายามผลักดันพัฒนาฝีมือให้ติดลมบน โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสร้างมูลค่า เพราะคุณค่าความภูมิใจของไทยย่อมไม่เป็นสองรองใคร แต่ความคิดสร้างสรรค์และมาตรฐานที่สูงจะเป็นแต้มต่อทางธุรกิจได้ ไม่ว่าที่อินเดียหรือที่ใดก็ตามในต่างแดน
คณิน บุญญะโสภัต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
*ขอบคุณข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ