ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 58)
เมื่อบริษัทไทยรับงานสร้างเขื่อนใหญ่ในอินเดีย
ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์
ในอินเดียมีบริษัทไทยระดับบิ๊กเข้าไปปักธงไทยทำธุรกิจอย่างสง่าผ่าเผยอยู่หลายบริษัท นับตั้งแต่บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดิเวลล็อปเมนต์ (ITD) ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แทบทุกภาค บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เริ่มลงหลักปักฐานตั้งแต่ 2535 มีธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ สัตว์บก และโรงงานรวม 9 แห่ง บริษัทไทยซัมมิท ที่ลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และบริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท ที่แม้เพิ่งเริ่มธุรกิจในอินเดียได้ไม่นาน แต่ธุรกิจบ้านจัดสรรระดับกลางก็ไปได้สวย โครงการแรกที่เมืองบังคาลอร์ถูกจับจองตั้งแต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ
หลายๆ โครงการที่บริษัทเหล่านี้ทำอยู่ เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย หนึ่งในโครงการที่น่าจะมีความท้าทายสูงสุด คือ โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโคลแดม (Koldam) ที่รัฐหิมาจัลประเทศ ห่างจากเดลีไปทางเหนือ ถ้านั่งรถไปก็ใช้เวลาประมาณ 8-9 ชั่วโมง
เขื่อนโคลแดมตั้งอยู่บนแม่น้ำสัตรุจ (Satluj) สูง 167 เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นเขื่อนที่สูงเป็นอันดับสองของอินเดีย และจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่บ้านเรือนรวมถึงพื้นที่การเกษตรของชาวอินเดียในหลายรัฐ กว่า 150 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็น รัฐหิมาจัลประเทศ หรยาณะ ปัญจาบ เดลี ราชาสถาน และจัมมูและแคชเมียร์ ด้วยกำลังผลิตถึง 800 เมกกะวัตต์ มากกว่าเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีกำลังผลิต 720 เมกกะวัตต์
ต้องถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างมาก ที่บริษัทไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลอินเดีย เพราะไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญของอินเดีย ด้วยจำนวนประชาชนกว่า 1 พันล้านคน แม้ว่ารัฐพยายามผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน พลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ ก็ยากมากที่จะผลิตได้เพียงพอ ผู้คนหลายร้อยล้านยังต้องแบ่งปันใช้ไฟฟ้ากันวันละไม่กี่ชั่วโมง
ฉะนั้น การมีส่วนร่วมของบริษัทไทยในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คุยได้เต็มปากว่า มีส่วนช่วยอินเดียในการพัฒนาประเทศ กับทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับคนอินเดียจำนวนมาก จากการว่าจ้างบริษัทอินเดียกว่า 40 บริษัท รวมถึงแรงงานอินเดียท้องถิ่นมากกว่า 1,000 คน ร่วมงานก่อสร้าง
เป็นการประกาศให้อินเดียรู้จักไทยในศักยภาพด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว อาหารอร่อย แหล่งช้อปปิ้ง หรือสถานที่จัดงานแต่งงาน
แต่การทำธุรกิจในอินเดีย เป็นที่รู้กันว่าไม่ง่าย ปัญหาใหญ่ของงานด้านการก่อสร้าง คือเรื่องการส่งมอบพื้นที่ โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่
การสร้างเขื่อนโคลแดม เริ่มตั้งแต่ปี 2547 โดยมีนายช่างประสิทธิ์ รัตนารามิก วิศวกรใหญ่มือดีของ ITD เป็นคนบุกเบิก ตั้งแต่การระเบิดเขาทั้งลูกให้เป็นพื้นที่ท้องเขื่อน การผันน้ำจากแม่น้ำสัตรุจให้ไหลไปทางอื่นในช่วงการก่อสร้าง จนถึงการขนย้ายเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดยักษ์เข้ามาใช้งานในพื้นที่ โดยมีคนงานไทยของ ITD อีกกว่า 100 ชีวิตเป็นเพื่อนร่วมงาน กับมีลูกมือชาวอินเดียอีกหลายร้อยที่ต้องคอยจี้สอนงานต่อเนื่อง
ปัญหาสารพัดเกิดขึ้นอยู่หลายระลอก ตั้งแต่ชาวบ้านไม่ยอมมอบพื้นที่ ทำให้คนงานเริ่มงานก่อสร้างได้ไม่เต็มร้อย ไม่สามารถนำดินมาใช้ถมเขื่อน ความล่าช้าในการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์การก่อสร้าง การแก้ไขเพิ่มเติมแบบก่อสร้างแบบนาทีสุดท้าย การสื่อสารกับคนงาน ไปจนถึงปัญหาย่อยๆ เช่น การสั่งวัสดุก่อสร้าง ปัญหาวีซ่าและใบอนุญาตของคนงานไทย ทั้งหมดนี้ ทำให้โครงการต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด แต่ก็ไม่ผิดปกติสำหรับการก่อสร้างทุกอย่างในอินเดีย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของอินเดีย (National Thermal Power Corporation Limited – NTPC) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ITD รู้สึกร้อนใจ ผู้บริหารการไฟฟ้าจึงมาพบทูตไทยถึงบ้านเพื่อขอให้ช่วยพูดจากับ ITD เป็นระยะตั้งแต่ต้นปี เพื่ออาศัยทางราชการเพิ่มน้ำหนักอีกทาง
ทูตไทยแสดงความเข้าใจและขอบคุณการไฟฟ้าอินเดียที่ให้ความยืดหยุ่นกับบริษัทในด้านต่างๆ อย่างดี แต่ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นหลายอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทซึ่งทำงานแบบมีมาตรฐาน ไม่ประนีประนอมคุณภาพ
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทูตไทยรับคำเชิญฝ่ายอินเดียไปไซต์งานสร้างเขื่อน โดยมี ดร.ณัฐวุฒิ อุทัยเสน รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ITD บินไปจากกรุงเทพฯ ทีมสถานทูตได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้บริหารการไฟฟ้าอินเดีย และมีการประชุมร่วมกันกับทีมงานกำกับดูแลการสร้างของฝ่ายอินเดีย ทำให้มีโอกาสได้รับฟังและขอร้องให้ทั้งทีมช่างไทยและช่างอินเดียช่วยเหลือกันด้วยความสามัคคีมากยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองทีมต่างก็มีเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นเดิมพันเหมือนกัน เมื่อไปตรวจไซต์งานด้วยกัน ทำให้ผู้บริหารฝ่ายอินเดียเข้าใจความลำบากของช่างไทยมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับการไปครั้งแรกเมื่อปีกลาย ทูตไทยและเพื่อนข้าราชการจากสถานทูตอีก 2 คน ถือโอกาสค้างคืนที่แคมป์ที่พักใกล้ไซต์งานก่อสร้าง หัวหน้าฝ่ายกงสุลได้มีโอกาสพูดคุยกับคนงานไทยเกือบ 100 คน ทูตไทยชื่มชมคนงานไทยทั้งหมดที่ใช้ความอดทนทำงานอยู่ในอินเดีย ซึ่งมีมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และรู้ดีว่าทุกคนอยากให้งานเสร็จเร็วๆ เพราะคิดถึงบ้าน
น่าชื่นใจที่ วิศกร นายช่าง คนงาน พนักงานทั้งชายและหญิง มีขวัญและกำลังใจที่ดี คนงานที่โคลแดมมีอาหารไทยรสเด็ดให้ได้อิ่มท้องทุกมื้อ ด้วยฝีมือแม่ครัวไทยที่ ITD จ้างให้ประจำอยู่ที่แคมป์ ไม่ใช่แค่นั้นยังมีห้องให้ฝึกซ้อมดนตรี อุปกรณ์ครบครัน ทั้งกลอง เบส กีตาร์ สนามแบดมินตัน และทีวีผ่านดาวเทียมที่ดูช่องไทยได้ทั้ง 3, 5, 7, 9 กับอินเตอร์เน็ทไร้สาย ทำให้ไม่รู้สึกห่างไกลจากเมืองไทย
ทำธุรกิจในอินเดีย มีทั้งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และความท้าทายที่เป็นแบบฝึกหัดให้ทดสอบ ถ้าผ่านอินเดียไปได้ ก็หายห่วงไม่ว่าจะต้องไปทำธุรกิจที่ไหนอีก คนไทยที่เขื่อนทุกคนจึงเป็นเสมือนทูตแรงงานของไทย ที่โชว์ฝีมือให้ต่างชาติได้ประจักษ์