ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 60)
วิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย : การรื้อฟื้นความเป็นปึกแผ่นของชาวเอเชีย
โดย ดร. สุนทร ชัยยินดีภูมิ
ผ่านพ้นไปอีกงานหนึ่งสำหรับการประชุมครั้งสำคัญส่งท้ายปีเก่า 2555 นั่นคือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียสมัยพิเศษ (ASEAN-India Commemorative Summit) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้นำของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเดินทางไปเยือนกรุงนิวเดลี และได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงห์ ของอินเดียเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้
ความจริงผู้นำของอาเซียนและอินเดียก็เพิ่งพบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 10 ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 และห่างกันเพียงหนึ่งเดือน แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าเพราะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่อินเดียเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่อาเซียนและอินเดียมีความสัมพันธ์ในฐานะคู่เจรจากันมาเป็นเวลา 20 ปีพอดี
อินเดียเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และเริ่มมีการประชุมสุดยอดระดับผู้นำเมื่อปี พ.ศ. 2545 ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตามลำดับ ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง (มีความร่วมมือในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย) และในด้านเศรษฐกิจ (มีความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันซึ่งมีผลบังคับใช้สำหรับการค้าสินค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ส่วนการเจรจาการค้าบริการและการลงทุนก็ตกลงกันได้แล้วในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็สูงถึง 76,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียเป็นคู่ค้าลำดับ 9 ของอาเซียน และอาเซียนก็เป็นคู่ค้าลำดับ 5 ของอินเดีย) ในด้านสังคมก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะพวกเราต่างได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดียทั้งนั้น
แล้วการประชุมสมัยพิเศษครั้งนี้มีอะไรใหม่? แน่นอนครับ แม้จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี แต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้มาทบทวนความสัมพันธ์และวางวิสัยทัศน์ในอนาคตด้วยการออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย (Vision Statement of the ASEAN-India Commemorative Summit) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อินเดียขึ้นไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งนอกจากจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์สองฝ่ายตามแผนปฏิบัติการที่มีอยู่แล้ว ยังจะร่วมมือกันผลักดันผลประโยชน์ร่วมกันในเวทีต่าง ๆ ด้วย
ประเด็นหลักของวิสัยทัศน์นี้ก็คือ ความตั้งใจที่จะรื้อฟื้นความผูกพันและบูรณาการระหว่างเอเชียอาคเนย์กับชมพูทวีปให้มีความเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประเทศตะวันตกได้เข้ามาล่าอาณานิคมและทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแตกกระจายกันในช่วงคริตส์ศวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ยะวะฮาร์ลาล เนห์รู ของอินเดีย
การรื้อฟื้นความผูกพันและบูรณาการก็ด้วยการประกาศสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้ที่มีประชากรรวมกันถึง 1,800 ล้านคน และมีพลังทางเศรษฐกิจโดยวัดจากผลผลิตรายได้ประชาชาติ (GDP) รวมกันถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถพึ่งพาตนเองได้อีกครั้งหนึ่ง และมีอำนาจการต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น กลไกที่จะนำไปสู่การบูรณาการร่วมกันก็คือ โครงการพัฒนาปรับปรุงถนน 3 ฝ่าย จากรัฐอัสสัมทางภาคตะวันออกของอินเดียผ่านพม่าไปยังไทยและประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน การผลักดันความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีอยู่แล้วให้มีความครอบคลุมและเข้มข้นมากขึ้น และการเริ่มต้นเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ที่อาเซียนเป็นผู้ริเริ่มและตกลงที่จะเริ่มการเจรจากับอีก 6 ประเทศได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ นอกจากนี้ก็จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-อินเดียขึ้นมา การที่อินเดียจะเข้ามาร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีรากฐานร่วมกัน เช่น นครวัตในกัมพูชา เจดีย์โบโรพุทโธในอินโดนีเซีย พุทธสถานในเมืองพุกามของพม่า และมรดกทางประวัติศาสตร์ของสุโขทัย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเราไม่ลืมถึงความผูกพันทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน ก่อนหน้าที่ประเทศตะวันตกจะแทรกเข้ามาในภูมิภาคนี้
การจัดกิจกรรม ASEAN-India Car Rally ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 ที่อินโดนีเซีย และสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการโดยผู้นำอาเซียนและอินเดียให้การต้อนรับที่กรุงนิวเดลีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรื้อฟื้นเส้นทางการติดต่อทางบกระหว่างกัน ในขณะที่เรือฝึกสุธาชินี (INS Sudarshini) ของกองทัพเรืออินเดียซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศอาเซียนและจะกลับถึงอินเดียในเดือนมีนาคม 2556 ก็เป็นการตอกย้ำถึงการค้าทางทะเลที่มีมาช้านานก่อนชาวยุโรปจะเข้ามาถึงบ้านเรา
วิสัสทัศน์อาเซียน-อินเดียยังสะท้อนถึงแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี เนห์รู ที่ต้องการให้พวกเราชาวเอเชียสามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในภูมิภาคได้ มิใช่ให้ใครที่ใหญ่กว่านอกภูมิภาคเข้ามามีบทบาทบังคับพวกเรา โดยการประกาศสนับสนุนให้ภูมิภาคนี้มีเวทีการหารือในหลายด้าน (Multi-track regional arrangement) เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ทั้งนี้อินเดียได้ประกาศยอมรับบทบาทการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมด้านการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียน (ASEAN Centrality) และเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการหารือต่าง ๆ กับอาเซียน เช่น EAS, ARF, ADMM Plus อย่างแข็งขัน นอกจากนี้ยังได้ประกาศสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 อย่างเป็นรูปธรรมโดยใช้กองทุนต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน รวมทั้งแสดงความพร้อมเข้ามาสนับสนุนกรอบการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคของอาเซียน เช่น BIMSTEC, GMS, BIMP-EAGA เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นการซื้อใจและสร้างความผูกพันกับอาเซียนมากขึ้น
ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกของอาเซียนยังมีความกังวลเรื่องจีนจะขึ้นมามีบทบาทอย่างสันติและสร้างสรรค์ได้หรือไม่ วิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดียนี้จะทำให้อาเซียนสบายใจและไม่ต้องกังวลกับภูมิภาคตะวันตกของอาเซียนที่พร้อมจะร่วมมือกันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรื้อฟื้นความเป็นปึกแผ่นของชาวเอเชียด้วยกัน แต่ก็คงต้องรอดูว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร?