ทีมไทยแลนด์ร่วมงาน Vibrant Gujarat 2013 เปิดประตูบานใหญ่ให้ธุรกิจไทย
จากการผลักดันของทีมไทยแลนด์ในอินเดีย รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย(BOI) ได้นำเอกชนระดับผู้บริหาร 2 ท่าน เดินทางไปร่วมงาน Vibrant Gujarat Summit 2013 กับสถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานส่งเสริมการค้าเมืองมุมไบ ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ ที่เมืองคานธีนคร รัฐคุชราต ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคมที่ผ่านมา ตามคำเชิญของมุขมนตรีคนดัง นาเรนทรา โมดี
งานนี้เป็นความริเริ่มของมุขมนตรีที่ต้องการดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ นาทีนี้ คุชราตจึงเป็นรัฐที่ถูกกล่าวขวัญถึงในฐานะเป็นรัฐที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงสุดของอินเดีย และเป็นแหล่งลงทุนของบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก
งาน Vibrant Gujarat จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เริ่มขึ้นในปี 2546 ปีนี้เป็นปีที่ 6 ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ทั้งด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 5 หมื่นคนจาก 22 รัฐในอินเดีย และต่างชาติอีกประมาณ 1,800 คน จาก 120 ประเทศ มีบุคคลสำคัญระดับรัฐมนตรีจากแคนาดา ประธาน JETRO ของญี่ปุ่น ประธานสภาธุรกิจอินเดีย-สหรัฐฯ และอินเดีย-สหราชอาณาจักร ผู้บริหารบริษัทชั้นนำจากแคนาดา ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมในงานกว่า 30 รายการ ปีนี้มีแคนาดากับญี่ปุ่นเป็น partner country โดยแคนาดาพาทัพนักธุรกิจมาร่วมงานกว่า 200 คน และญี่ปุ่นมีกว่า 100 คน ในงานนี้งานเดียวมีการลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านรูปี
ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ไทยไม่มาร่วมไม่ได้ กิจกรรมที่ไทยจัดในงาน คือ การจัดการสัมมนาส่งเสริมการลงทุนของ BOI มีนักธุรกิจอินเดียสนใจร่วมฟังประมาณ 100 คน ในการกล่าวเปิดงาน นายพิศาล มาณวพัฒน์ ทูตไทยสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนอินเดียว่า นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งจัดงานแต่งงานยอดฮิตของคนอินเดียแล้ว ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ หลายชนิด กับทั้งยังมีความพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ ที่สำคัญ รัฐบาลมีโครงการเมกะโปรเจ็คด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายร่วมกับรัฐบาลพม่า ที่นักธุรกิจอินเดียสามารถมีส่วนร่วมลงทุนได้
จากนั้น รองเลขาธิการ BOI นางวาสนา มุทุตานนท์ ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจของไทย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับ และยังมีนักธุรกิจชั้นนำร่วมเป็นวิทยากร คือ ดร.อนุสรณ์ มุทราอิศ ผู้บริหารบริษัท Delta Electronics และคุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน
นอกจากงานสัมมนา BOI ยังจัดบูธในงานนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนในประเทศไทย งานนี้ มีชาวอินเดียเยี่ยมชมงานเป็นหลักหมื่น
โอกาสสำคัญสำหรับการเข้าร่วมงานครั้งนี้ คือทูตไทยพร้อมด้วยทูตต่างชาติได้เข้าพบมุขมนตรีนาเรนทรา โมดี ซึ่งแจ้งว่า ต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติในสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชายฝั่งซึ่งยาวกว่า 1,600 กม.
ทูตไทยใช้โอกาสนี้แจ้งข่าวดีให้ทราบว่า ไทยสไมล์พร้อมเปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด 1 เมษายน ปีนี้ และขอให้มุขมนตรีช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในรัฐคุชราตในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวไทยที่ยังไม่ค่อยรู้จักคุชราตดีนัก มีโอกาสไปเที่ยวชมรัฐคุชราตซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความงามทางธรรมชาติ
ในพิธีปิดที่จัดอย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับพิธีเปิดในห้องประชุมใหญ่ของศูนย์การประชุม Mahatama Mandir ทูตไทยได้รับเกียรติให้ขึ้นพูดบนเวทีด้วย จึงถือโอกาสนี้ประกาศข่าวดีเรื่องการเปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด ของไทยสไมล์ต่อหน้านักธุรกิจอินเดีย นักธุรกิจต่างชาติ ต่างชาติ และสื่อมวลชนทุกสาขาของอินเดียและเครือข่ายสื่อมวลชนสำคัญระดับนานาชาติที่มาร่วมงานอย่างคับคั่งหลายพันคน ข่าวดีนี้เป็นสิ่งที่ทั้งมุขมนตรีและชาวคุชราตต้องการจากไทย งานนี้ ไทยจึงได้ใจชาวคุชราตอีกมาก
ส่วนสาขาที่มุขมนตรีต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติในเรื่องพลังงานสีเขียว ทูตไทยได้กล่าวเปิดทางให้บริษัทเดลต้าของไทยว่า ในคณะผู้แทนไทยมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำของโลกที่ทำธุรกิจพลังงานสีเขียว ผลิตอุปกรณ์พลังแสงอาทิตย์และอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งได้คุยกับ iNDEXTb หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐแล้วเมื่อคืนก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้พบว่าคุชราตเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัทอยู่แล้ว และยังมองเห็นลู่ทางที่จะไปตั้งโรงงานผลิตที่คุชราต
เรื่องนี้ ทีมประเทศไทย ทั้งที่นิวเดลีเดลีและมุมไบจะติดตามกับรัฐบาลคุชราตอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับที่มุขมนตรีเชิญให้เอกชนไทยไปร่วมลงทุนเรื่องการประมงเพื่อพัฒนาชายฝั่งของรัฐ เพราะไทยมีบริษัทด้านการประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องหลายบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่ง ออท.พิศาล ได้มอบให้นายอดุลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ที่เมืองมุมไบเป็นผู้ประสานงานนำนักธุรกิจ นักลงทุนไทยสาขาประมงและอาหารทะเลที่มีความน่าเชื่อถือ เดินทางไปสำรวจโอกาสการลงทุนของรัฐด้วยตัวเอง
สถานทูตจึงขอแจ้งข่าวดังๆ ว่า หากเอกชนไทยรายใดทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาขาประมง พลังงานสีเขียว รวมถึงด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา และต้องการจะขยายธุรกิจในต่างประเทศ คุชราตเป็นโอกาสของท่านแล้ว เพราะรัฐนี้เป็นรัฐเดียวในอินเดียที่มีไฟฟ้า น้ำประปาเหลือเฟือ มีหน่วยงานอำนวยความสะดวกนักลงทุนต่างชาติที่ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาขอใบอนุญาตสารพัดชนิดนานเป็นเดือนๆ มีระบบ logistics และการเชื่อมโยงทางคมนาคมที่รองรับการขนส่งสินค้าและการส่งออกได้ดี บริษัทชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนดา เดนมาร์ก เกาหลี จีน ไต้หวัน ที่ลงทุนในรัฐนี้แล้ว เป็นหลักประกันอย่างดี
คุชราตที่มีประชากรถึงกว่า 60 ล้านคน เป็นรัฐคนรวยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวและรักเมืองไทยเป็นทุนอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ ถ้าชาวคุชราตจะไปเมืองไทย ต้องเดินทางไปต่อเครื่องบินที่นิวเดลีหรือมุมไบ นับจาก 1 เมษายน ปีนี้เป็นต้นไป เมื่อไทยสไมล์มีเที่ยวบินตรงแล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเตรียมรับทรัพย์จากนักท่องเที่ยวไฮโซ นักธุรกิจชั้นนำชาวคุชราตได้เลย เพราะมุขมนตรีบอกแล้วว่า มีกี่เที่ยวบินก็มีผู้โดยสารเต็มลำแน่
ชาวไทยก็จะได้มีโอกาสไปเที่ยวรัฐคุชราต ที่มีของดีอยู่เยอะแต่คนไทยน้อยคนจะรู้จัก คุชราตเป็นรัฐบ้านเกิดของมหาตมคานธี บิดาแห่งชาติของอินเดีย มีอาศรมที่มหาตมคานธีอาศัยอยู่เมืองคานธีนคร ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่าน นอกจากนี้ ที่รัฐคุชราต ยังมีพุทธสถานที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเมืองสังเวชนียถานทั้ง 4 แห่ง มีโบราณสถานฮินดู และธรรมชาติแปลกตา เช่นทะเลทรายสีขาวและศูนย์กลางเจียระไนและส่งออกเพชรที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย เรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวของรัฐคุชราตเหล่านี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ จากงาน Vibrant Gujarat Summit ผู้อ่านโปรดติดตามจาก Thaiindia.net ต่อไป
_____________________________
ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์
รายงานจากกรุงนิวเดลี
14 มกราคม 2556