ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 62)
นายกรัฐมนตรีพูดอะไรกับนักธุรกิจไทยที่นิวเดลี
ปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย โดยเมื่อเดือนมกราคม 2555 นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้เป็นแขกเกียรติยศพิเศษเพียงคนเดียว ในงานพิธีเฉลิมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐของอินเดีย พอมาถึงเดือนธันวาคม 2555 อินเดียก็เชิญผู้นำประเทศอาเซียนทั้งสิบประเทศ มาร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่จัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี เพื่อฉลองโอกาสครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ที่เวียนมาครบ 20 ปีในปีนี้
เรียกได้ว่าปี 2555 เป็นปีทองของความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ที่สุกงอมได้ที่ ถ้าเป็นหนุ่มสาวก็คงจะถือฤกษ์ดีประกาศหมั้นหรือประกาศแต่งงานให้คู่อื่นๆ อิจฉาเล่น
ในการเยือนทั้งสองครั้ง มีกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจไทยในอินเดียอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี กับทีมประเทศไทยและนักธุรกิจ โดยมีการพูดคุยกันถึงอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่ภาคธุรกิจประสบและต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไข รวมถึงบทบาทภาครัฐในการส่งเสริมการค้าการลงทุนของไทยในอินเดีย
ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยที่ลงทุนแล้วในอินเดียได้หยิบยกปัญหาและเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยราชการต่างๆ ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น ปัญหาเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับการขอวีซ่ามาทำงานในอินเดีย ปัญหาการจ่ายเงินสมทบทุนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของอินเดีย ปัญหาเรื่องภาษี ปัญหาเรื่องการหาที่ดินในการตั้งโรงงานลงทุนในอินเดีย เป็นต้น
ในการพบปะกันล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีมประเทศไทยในอินเดียที่เป็นด่านหน้าในการแก้ปัญหาให้กับนักธุรกิจ นำโดยทูตไทย ก็ได้รายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ เพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ตอบโจทย์เกือบหมดแล้ว เหลือแต่ปัญหาสองเรื่องที่ต้องทำในประเทศไทย คือ เรื่องการขอวีซ่ามาทำงานในอินเดีย ซึ่งดีขึ้นมากแล้วแต่ก็ยังต้องตามให้สถานทูตอินเดียที่กรุงเทพฯ วางระบบที่โปร่งใสยิ่งขึ้น กับการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของอินเดีย ที่มีเงื่อนไขไม่เอื้อต่อแรงงานต่างชาติ (ต้องรอถึงอายุ 58 ปี จึงจะได้รับเงินคืน) ที่ส่วนกลางกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะทำความตกลงกับอินเดียเรื่องการประกันสังคม
นอกจากนี้ ทูตไทยยังได้รายงานเรื่องโครงการให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปี ทั้งการแก้ปัญหา และชี้ช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการสัมมนาทั้งในกรุงนิวเดลี กรุงเทพฯ และรัฐ คุชราตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพานักธุรกิจไปพบมุขมนตรี และเยี่ยมชมที่ดินตั้งโรงงานแบบที่จะไม่มีปัญหาตามมา นอกจากนั้น สถานทูตยังหาตัวช่วยเป็นบริษัทที่ปรึกษาท้องถิ่น คอยรับเรื่องปัญหาการทำธุรกิจในอินเดียจากนักธุรกิจไทย ไปแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ในช่วงตั้งแต่กลางปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับแก้ไขปัญหาไปแล้ว 3 บริษัท ปัญหาที่หลากหลายเหล่านั้นก็มีทั้งเรื่องที่ดินในการลงทุน เรื่องภาษี และเรื่องระเบียบที่ฝ่ายอินเดียมักจะเปลี่ยนแปลงให้นักลงทุนและนักธุรกิจตกใจเล่นอยู่เสมอ
ซึ่งการดำเนินงานในรัฐคุชราต ก็จะแตกยอดออกหน่อในระหว่าง 11-13 มกราคม 2556 ที่ไทยจะเข้าร่วม Vibrant Gujarat Summit 2013 ที่เป็นงานส่งเสริมการลงทุนและโชว์ศักยภาพของรัฐคุชราตที่ใหญ่ที่สุด
การส่งเสริมภาคธุรกิจไทยที่มาลงทุนค้าขายในอินเดีย จึงเป็นภารกิจต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล โดยในการพบปะกันครั้งล่าสุดนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจไทย ที่หน่วยงานหลักๆ ได้แก่ BOI กระทรวงพาณิชย์ และสถานทูตไทยในฐานะหน่วยงานหลักทีมประเทศไทยในอินเดีย ต้องดำเนินการร่วมกัน
นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้กล่าวถึง ร่าง พรบ.งบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมโยงและโอกาสสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนไทย
เรื่องใหม่ในการพบปะกับนักธุรกิจของนายกรัฐมนตรีและทีมประเทศไทยในครั้งนี้ นอกจากนักธุรกิจจะได้รับทราบแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจล่าสุดจากปากผู้นำไทยอย่างใก้ลชิด เป็นกันเองแล้ว ที่สำคัญก็คือ ความเชื่อมั่นที่ภาครัฐให้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะช่วยเหลือภาคธุรกิจในอินเดียอย่างเต็มที่ต่อไป
*สถานทูตไทยในอินเดียว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาท้องถิ่นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ผู้สนใจใช้บริการสามารถแจ้งปัญหาผ่าน Thaiindia.net ได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คณิน บุญญะโสภัต
และ พจมาศ แสงเทียน