Sparkle 2013 ความเป็นไทยฉายแสงในงานแสดงเพชรและอัญมณีคุชราต
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ขอบอกกล่าวเล่าเรื่องงาน Sparkle 2013 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐคุชราตตอนใต้ (Southern Gujarat Chamber of Commerce and Industry – SGCCI) และรัฐบาลคุชราต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เมื่อระหว่าง 4 – 7 ม.ค. 2556 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติเมืองสุราต รัฐคุชราต
Thaiindia.net เคยเล่าให้ผู้อ่านฟังแล้วถึงเมืองสุราต ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นเมืองที่ตัดและเจียระไนเพชรแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในรัฐคุชราต งาน Sparkle 2013 นี้ มีผู้ประกอบการกว่า 98 ราย โดยเฉพาะผู้ประกอบการชั้นนำของอินเดีย มาร่วมออกร้าน อาทิเช่น Shree Ram Krishna, Venus Jewel, M Suresh & Co., Kiran Gems, Rosy Blue, Karp, H Vinod Kumar & Co., Blue Star, Arjav Diamond, KISNA และ Tanishq นอกจากนี้ ก็มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) และไทยเข้าร่วมด้วย
ตลอดสี่วันของการจัดงาน มีผู้เข้าชมรวมประมาณ 8,000 คน โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Vibrant Gujarat 2013 ที่รัฐบาลคุชราตจัดขึ้นระหว่าง 11-13 ม.ค. 2556
ในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2556 นายนาเรนทรา โมดี มุขมนตรีรัฐคุชราต ที่เป็นประธานในพิธีกล่าวชื่นชมเมืองสุราตในฐานะเป็นเมืองตัวอย่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ตนดำรงตำแหน่งมุขมนตรี ซึ่งมีส่วนช่วยให้มีการเติบโตกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางของรัฐ เมื่อเทียบกับ 19-20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ปัจจัยหลายประการที่ช่วยส่งเสริม อาทิเช่น การพัฒนาทักษะของแรงงานที่มีคุณภาพ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี พลังงานไฟฟ้าไม่ขาดแคลน การรักษาความปลอดภัยที่ดีและ “Brand Gujarat” ที่แสดงถึงศักยภาพดึงดูดนักลงทุน
นอกจากนี้ นาย Modi ยังได้กล่าวชื่นชมจีนว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในอุตสาหกรรมการผลิต และขอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพชรและอัญมณีให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่ไร้ที่ติ (zero defect) มีบรรจุภัณฑ์ที่ดีและพัฒนายี่ห้อของบริษัทตนให้ได้มาตรฐานเป็นที่รู้จักทั่วโลก ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดที่ได้ฟังสุนทรพจน์ของมุขมนตรีโมดี มีประมาณกว่า 1,200 – 1,300 คน
นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังได้เชิญไทยให้ร่วมแสดงทางวัฒนธรรมในงาน Sparkle 2013 ในครั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มุมไบได้นำคณะนักแสดงจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 16 ชีวิต เดินทางมาเข้าร่วมการแสดงดังกล่าวที่จัดไปเมื่อ 5 ม.ค. 2556 การแสดงต่างๆ ของภาคอีสานของไทยโดยเฉพาะการแสดงโปงลาง สร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ชม 350 คน เป็นอย่างดี นับเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งแรกของไทยในรัฐคุชราต
หลังเสร็จสิ้นการแสดง ททท. ประจำมุมไบที่ร่วมทัพมาด้วย ยังได้จัด Thai Cuisine Festival บริการอาหารไทยสไตล์มังสวิรัติแก่ผู้ชมท้องถิ่น เสียงตอบรับล้นหลามเพราะชาวคุชราตกว่า 60 เปอร์เซ็นต์กินอาหารมังสวิรัติ แถมยังไม่รู้ว่าไทยมีอาหารมังสวิรัติที่อร่อยเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม งานนี้ผู้เข้าชมงานมีจำนวนน้อยกว่าที่ SGCCI ตั้งเป้าไว้ เพราะสุราตเป็นเมืองอุตสาหกรรมการตัดและเจียระไนเพชรแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชาวสุราตไม่ได้เป็นผู้บริโภคของสวยๆ งามๆ เหล่านี้ติดอันดับโลก ไม่เหมือนชาวอเมริกัน ชาวจีน และชาวอินเดียในเมืองอื่นๆ อีกอย่างคือราคาเพชร อัญมณีและทองคำของอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปีใหม่ ผู้บริโภคจึงชะลอการซื้อสินค้า ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จึงเป็นชาวเมืองสุราตและเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง
อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการด้านเพชรพลอยและอัญมณีที่จะมาออกงานในอินเดียคืองานแสดงสินค้าอัญมณีนานาชาติที่เมืองมุมไบ (India International Jewellery Show – IIJS 2013) ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 30 ระหว่าง 8-12 ส.ค. 2556 แต่ก่อนหน้าในช่วงเดือน ก.พ. จะมีงานย่อยของ IIJS ชื่องาน IIJS-Signature 2013 ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่เมืองมุมไบเช่นเดียวกัน ระหว่าง 22-25 ก.พ. 2556
งาน IIJS 2013 จึงเป็นงานใหญ่ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากมาย (800 ราย และจากต่างประเทศ 46 ประเทศ) ซึ่งสมาคมอัญมณีแห่งประเทศไทยนำนักธุรกิจมาเข้าร่วมกว่า 20-30 รายเป็นประจำ
สำหรับงาน Sparkle นั้น มุขมนตรีโมดีเข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปีและให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมเพชรและอัญมณีเมืองสุราตเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการเข้าร่วมงานในปี 2556 นี้ เป็นการเดินทางมาสุราตครั้งแรกหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นมุขมนตรีต่ออีกสมัยสดๆ ร้อนๆ และเพิ่งปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 26 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
รายงานจากเมืองมุมไบ
29 มกราคม 2556