ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 65)
ITD ปักธงไทยที่สนามบินใหม่เมืองกัลกัตตา เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา เที่ยวบินของสายการบินแอร์อินเดียก็ได้ฤกษ์เบิกโรงออกบินจากอาคารสนามบินแห่งใหม่ของเมืองกัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกและอดีตเมืองหลวงของประเทศอินเดีย มุ่งหน้าสู่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังประธานาธิบดีอินเดียทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน
อาคารผู้โดยสารที่ทันสมัยและครบวงจรของสนามบินนานาชาติเนตชิ สุภาส จันทรา โพส (Netaji Subhas Chandra Bose International Airport) แห่งนี้ มีความสำคัญกับประเทศไทยตรงที่เป็นอาคารสนามบินที่รับเหมาก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนท์ (ITD) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ไปประสบความสำเร็จในธุรกิจก่อสร้างในประเทศอินเดีย
มองอินเดียใหม่ คราวนี้ จึงต้องขอนำ success story และประสบการณ์ของบริษัทไทยแห่งนี้มาเล่าสู่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทไทยอื่นๆ ที่กำลังทำหรือสนใจทำธุรกิจในอินเดีย
ที่มาที่ไปมีอยู่ว่า ประมาณปี 2550 เศรษฐกิจของอินเดียในขณะนั้นค่อนข้างร้อนแรง GDP เติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ต่อปี รัฐบาลอินเดียพยายามเร่งสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ทันกับความต้องการที่ถีบตัวสูง
รัฐเบงกอลตะวันตก ในสมัยนั้นอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ขานรับนโยบายรัฐบาลกลาง ประกาศโครงการเม็กกะโปรเจ็คมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินเมืองกัลกัตตา” ที่มีมูลค่าสูงถึง 18,000 ล้านรูปี หรือ ประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
แต่เพราะรัฐบาลเบงกอลตะวันตกเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารสนามบินกัลกัตตาที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล เพื่อดึงดูดให้สายการบินต่างชาติมาใช้บริการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จึงเปิดกว้างให้บริษัทต่างชาติเข้ามาประมูล
อาคารสนามบินกัลกัตตาก่อนการเข้ามาของ ITD
ITD เห็นโอกาสตรงนี้จึงไม่รอช้า จับมือ ITD Cementation India Ltd. กระโดดเข้ามาประมูลงานโครงการนี้ จนชนะการประมูลโครงกล่าวยักษ์ใหญ่นี้ โดยจะต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสายทั้งภายในและระหว่างประเทศที่จะรองรับผู้โดยสารปีละ 20 ล้านคน (จากเดิมปีละ 7 ล้านคน) พื้นที่ใช้สอยกว่า 2 แสนตารางเมตร ก่อสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 11 หลุม รวมถึงพื้นที่บริการและลานจอดรถอีกด้วย
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ITD ทำอย่างไรถึงชนะการประมูล คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งและเข้าตากรรมการรัฐบาลเบงกอลตะวันตก
ประการที่หนึ่ง การที่ ITD เข้าซื้อบริษัท Skanska Cementation India Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดียและดำเนินการในอินเดียมานานกว่า 70 ปี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ITD Cementation India Ltd.) และร่วมทุนกันประมูลโครงการ ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีบางประเภท ทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง
ประการที่สอง ผลงานของ ITD ในการสร้างอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะชาวอินเดียเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองไทยปีละเกือบล้านคน (ล่าสุดปี 2555 ตัวเลขทะลุ 1 ล้านคนไปแล้ว) ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิที่คนอินเดียเห็นกันเจนตากลายเป็นสนามบินในฝันของชาวอินเดียไปโดยปริยาย
สุดท้าย ประสบการณ์ของ ITD ในโครงการขนาดย่อมอื่นๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต มูลค่า 1,220 ล้านรูปี โดยร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นของอินเดีย ก็น่าจะทำให้ ITD แซงหน้าเข้าเส้นชัย
แต่หนทางของ ITD ในโครงการนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว การก่อสร้างเริ่มต้นช่วงปลายปี 2551 ใช้เวลากว่า 4 ปีจะแล้วเสร็จ มีอุปสรรคและความท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน เพราะการทำงานให้ได้คุณภาพต้องมีการบริหารจัดการจ้างแรงงานที่ดี แรงงานไทยและอินเดียมีความชำนาญต่างกัน
ในช่วงที่มีการก่อสร้างมากๆ ITD ต้องนำคนไทยทั้งวิศวกร นายช่างและพนักงานเสมียน มาถึง 700 กว่าคน ขณะที่ต้องจ้างคนอินเดียอีกเป็นถึง 4,600 คน แถมต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องค่าจ้างและความปลอดภัยในการก่อสร้าง
อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ฝีมือ ITD
แต่ในที่สุด งานต่างๆ ก็ผ่านไปด้วยดี การก่อสร้างเสร็จสิ้นเกือบทั้งหมด แอร์อินเดียเป็นสายการบินแรกที่ย้ายไปดำเนินการในอาคารใหม่ ส่วนสายการบินที่เหลืออีกประมาณ 10 กว่าสาย รวมทั้งสายการบินเอื้องหลวงของไทย ก็จะค่อยๆ ทยอยกันย้ายที่ทำงาน คาดว่าอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่จะทำงานเต็มกำลังภายในเดือนมีนาคม ศกนี้
คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การเข้าไปทำธุรกิจในอินเดียนั้นไม่ง่ายเสียทีเดียว ต้องอาศัยจังหวะ โอกาส ความเข้าใจและความอดทน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ยากเกินความสามารถของคนไทย อย่างที่ ITD แสดงให้เห็น สำคัญควรมีคู่ธุรกิจในอินเดียที่ไว้ใจได้ อาจต้องลงทุนลงแรงมากหน่อย แต่ผลที่ได้เกินคุ้มแน่นอน
นายภาณุภัทร ชวนะนิกุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา