ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 66)
ภาคอีสานอินเดีย มีอะไรในกอไผ่
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
เมื่อก่อนนี้ ถ้ามีใครพูดถึงภาคอีสานของไทย คนก็จะนึกถึงความยากจนแร้นแค้น แห้งแล้งทุรกันดาร ชาวนาชาวไร่ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ภาคอีสานของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศได้นำพาความเจริญก้าวหน้าไปสู่อีสานบ้านเฮากันถ้วนหน้า
ภาคอีสานอินเดียอยู่ใกล้ประเทศไทยกว่าบางพื้นที่ของอินเดีย
ถ้ามองในมุมเดียวกัน ภาคอีสานของอินเดียก็คงไม่ต่างอะไรมากจากภาคอีสานไทย ดินแดนที่คนอินเดียเรียกกันติดปากว่า นอร์ธอีสต์ (Northeast) ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐเล็กใหญ่ 7 รัฐ ได้แก่ รัฐอัสสัม (Assam) มิโซรัม (Mizoram) มณีปุระ (Manipur) รัฐนากาแลนด์ (Nagaland) รัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) รัฐเมฆาลัย (Meghalaya) และรัฐตรีปุระ (Tripura) ก็เป็นดินแดนที่เคยไกลปืนเที่ยง การพัฒนายังเข้าไม่ถึง แต่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
รัฐบาลอินเดียในช่วงหลังผลักดันนโยบายกระจายความเจริญไปยังรัฐเจ็ดรัฐที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่ารัฐเจ็ดสาวน้อยนี้อย่างจริงจัง โดยนำนโยบายนี้ไปผูกกับนโยบายมองตะวันออก (Look East) โดยชูให้ภาคอีสานของอินเดียเป็นประตูสู่อาเซียน เพื่อเป็นกุญแจสำคัญเปิดประตูการค้าและธุรกิจให้หลั่งไหลจากอาเซียนเข้าสู่นอร์ธอีสต์และเข้าสู่อินเดียตอนเหนือ
ฝ่ายอาเซียนของเราก็ขานรับอย่างแข็งขัน ประเด็นการเชื่อมโยง (Connectivity) โดยเฉพาะทางถนนระหว่างอาเซียนกับอินเดียผ่านพม่า ซึ่งเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงทุกที่ทุกเวลาในการประชุมระดับสูงอาเซียน-อินเดีย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าอีสานอินเดียจะมาแน่ไม่ช้าก็เร็ว
ประชุมอาเซียน-อินเดียซัมมิตธันวาคมที่ผ่านมา connectivity เป็นเรื่องที่ถูกย้ำมากที่สุด
แต่สำหรับท่านที่ยังไม่แน่ใจว่ามีอะไรในกอไผ่ให้ไขว่คว้าในภาคอีสานของอินเดีย ที่มีประชากรอยู่ไม่มาก ประมาณ 40 ล้านคน (เมื่อเทียบกับประชากรอินเดีย 1,200 ล้าน) นอกจากการเป็นทางผ่านเข้าสู่อินเดียสำหรับอาเซียน คงต้องคิดกันใหม่ ที่หลายฝ่ายต้องย้ำกันนักหนาถึงความสำคัญ เพราะอีสานอินเดียมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มหาศาล ที่ยังไม่มีใครเข้าไปพัฒนาและใช้ประโยชน์กันสักเท่าไหร่
ยกตัวอย่างเช่นไม้ไผ่ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีเหลือเฟือในอีสานอินเดีย (จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องนั่นเอง) ในรัฐมิซอรัมและนากาแลนด์รวมกันมีต้นไผ่ปลูกในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบัน ถูกนำไปใช้เพียง 1 % ยังเหลืออีก 99 % ที่ยังไม่มีใครแตะต้อง
ปริมาณต้นไผ่ที่มหาศาลเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไผ่ เช่น กระดาษ
ทรัพย์ในดินอย่างแร่ธาตุและเชื้อเพลิงก็มีไม่น้อย ในรัฐอรุณาจัลประเทศมีทั้งถ่านหิน โดโลไมท์ หินอ่อน และหินปูน ทำให้รัฐนี้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแหล่งใหญ่ของภาคอีสานอินเดีย
รัฐอัสสัม ที่นอกจากจะมีชื่อเสียงเรื่องชา (Assam Tea) ผลิตชามากเป็น 1 ใน 6 ของชาที่ผลิตกันทั่วโลก ยังเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของอินเดีย จากการสำรวจมีน้ำมันดิบกว่า 1.3 พันล้านตัน (คิดเป็น 20% ของทั้งอินเดียและมากกว่าที่บรูไนมีทั้งประเทศ) และก๊าซธรรมชาติ156 พันล้านคิวบิกเมตร (ครึ่งหนึ่งของที่ประเทศไทยมีทั้งหมด)
เท่านั้นยังไม่พอ รัฐตรีปุระยังเป็นแหล่งปลูกต้นยางพาราที่สำคัญของประเทศอินเดีย มีพื้นที่ปลูกยางมากเป็นอันดับสองของอินเดีย รองจากรัฐเกรละ ประมาณ 4 แสนไร่ ผลิตยางได้ 29,000 ตันต่อปี และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะที่รัฐเมฆกัลยาขึ้นชื่อเรื่องไม้ประดับ มีพันธุ์ไม้ดอกกว่า 3,000 สายพันธุ์ กล้วยไม้กว่า 300 พันธุ์
ที่เอ่ยมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม แหล่งวัตถุดิบย่อมมากับโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย ยิ่งถ้าลองมาระยะยาว เมื่อโครงการมาสเตอร์แพลน Connectivity อาเซียน-อินเดียประสบผลสำเร็จ ในช่วงที่อาเซียนกลายเป็น AEC เต็มตัว การไหลเวียนของสินค้าและผู้คนผ่านแว่นแคว้นแดนอีสานของอินเดียแห่งนี้จะมีมากแค่ไหน ความเจริญน่าจะอยู่ไม่ไกล อีสานไทยหรืออีสานอินเดียใครจะไปไกลกว่าใคร ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป