ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 67)
จับตามองยักษ์ใหญ่ Tata ยุคเปลี่ยนผ่าน
ข่าวช็อคโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ประกาศสละตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันแคทอลิก ด้วยเหตุผลพระชันษาที่เพิ่มขึ้น และพระวรกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้ทรงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทำให้แวดวงคริสตชนแคทอลิกทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา
การสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลก แต่การปรับเปลี่ยนผู้นำศาสนจักรหรืออาณาจักรใดๆ ย่อมเป็นที่จับตามองของสาธารณชน เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมหมายถึงเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ
ข่าวนี้ทำให้นึกย้อนถึงข่าวใหญ่เมื่อปลายปี 2555 เมื่ออาณาจักรทาทา (Tata) อันยิ่งใหญ่และมีประวัติธุรกิจอันยาวนานเคียงคู่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่อินเดีย มีอันต้องเปลี่ยนผู้นำเช่นเดียวกัน
เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 นาย Ratan Tata ประธานบริษัทแม่ของเครือ Tata คือ Tata Sons Ltd. ได้เกษียณอายุตัวเองที่ 75 ปี และส่งมอบตำแหน่งให้นาย Cyrus Pallonji Mistry รองประธานบริษัทวัย 44 ปี สืบทอดตำแหน่งประธาน Tata Sons คนใหม่ ซึ่งควบคุมดูแลบริษัทในเครือ Tata ทั้งหมด
นาย Ratan Tata (ซ้าย) กับนาย Cyrus Mistry (ขวา) (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ท)
แม้เรื่องดังกล่าวจะไม่เกินความคาดหวังของวงการธุรกิจอินเดีย เพราะคณะกรรมการบริษัทของ Tata ได้คัดเลือกนาย Cyrus ที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ให้เป็นประธานคนใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 แล้ว แต่นาวาชื่อ Tata ที่ต้องฝ่ามรสุมวิกฤติเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในอินเดียอยู่ในขณะนี้ ทำให้สื่อมวลชนจับตามองความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความท้าทายต่างๆ ที่นาย Cyrus จะต้องเข้ามาจัดการในฐานะผู้นำคนใหม่ของอาณาจักรธุรกิจเก่าแก่ของอินเดีย
ก่อนอื่น ต้องสังเกตว่ากระบวนการคัดสรรผู้นำของ Tata ที่วางแผนมากว่า 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังของบริษัทอย่างยิ่งยวด นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจ แม้นาย Cyrus จะไม่ใช่ประธานที่เป็นคนในสกุล Tata แท้ๆ (คนที่สองในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท) แต่ก็มีพี่สาวแต่งงานกับคนในตระกูล Tata แถมครอบครัว Mistry ก็เป็นหุ้นส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุด (17%) ของบริษัท Tata Sons ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เครือบริษัท Tata ถูกจับตาว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจขนาดยักษ์เจ้าหนึ่งที่จะเป็นความหวังภาคธุรกิจโลก หลังจากทะยานขึ้นเป็นบริษัทอินเดียบริษัทแรกที่มีสินทรัพย์มากเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินทรัพย์เหล่านี้มากกว่าครึ่งมีการลงทุนกระจายอยู่ทั่วโลก นอกอินเดียที่เป็นถิ่นเกิดของบริษัท
นักวิเคราะห์ชี้ว่า Tata เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวสู่โลกาภิวัฒน์ของอินเดีย ปัญหาภายในของอินเดียที่ต้องใช้เวลาสะสางยาวนานอย่างระบบราชการที่อุ้ยอ้ายและการกำจัดปัญหาคอร์รัปชั่น ทำให้นาย Ratan ประธานคนเก่าที่ก้าวมารับตำแหน่งในปี 2534 ใช้โอกาสประจวบเหมาะที่เศรษฐกิจอินเดียกำลังปรับเปลี่ยนเปิดประตูเสรี นำ Tata เข้าสู่ตลาดการแข่งขันโลก กว้านซื้อบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ครอบคลุมธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่เหล็ก รถยนต์ เหมืองแร่ เวชภัณฑ์ กระทั่งยา จนปัจจุบันนี้ ใต้ร่ม Tata มีบริษัทมากกว่า 100 แห่ง กระจายอยู่กว่า 80 ประเทศ
ช่วงเวลาที่นาย Ratan ดำรงตำแหน่งประธานจึงเห็นขยายตัวของบริษัทเข้าสู่ตลาดการแข่งขันระดับโลก และขนาดธุรกิจที่เพิ่มทวีคูณกว่า 50 เท่า จากจุดเริ่มต้นเดิมในปี 2411 คือธุรกิจสิ่งทอ ก่อนจะเติบโตเป็นอาณาจักรธุรกิจครอบจักรวาลในอินเดีย ทั้งยานยนต์ยี่ห้อ Tata สายการบิน และเครือโรงแรม Taj ที่โด่งดัง
ทำธุรกิจสากกระเบือยันเรือรบอย่างนี้ จึงไม่แปลกที่ดาราชื่อดังของไทย อมิตา ทาทา ยัง จะถูกตั้งชื่อตาม Tata ที่เห็นดาษดื่นตอนที่คุณแม่ของเธอมาเที่ยวอินเดีย
มีการวิจารณ์กันว่า ลักษณะการทำธุรกิจแบบครอบจักรวาล (Conglomerate) ของ Tata อย่างนี้ ซุกซ่อนปัญหาของบริษัทในเครือที่ประสบภาวะขาดทุนมากมาย และ Tata ในยุคนี้ ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจหลักสองส่วน คือ ด้าน IT ที่มี Tata Consultancy Services ทำกำไรให้มากกว่าครึ่งของทั้งเครือ และ Jaguar Cars Ltd. Land Rover หรือ JLR ที่ Tata ไปซื้อมาจากอังกฤษ
ส่วนบริษัทที่เหลือ ในปีล่าสุดที่ผ่านมามีข่าวว่าขาดทุนกันระนาว ทั้ง Tata Steel Europe ที่ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Corus บริษัทน้ำมันและพลังงาน Tata Power และบริษัทสื่อสาร Tata Telecommunications
หลายฝ่ายอาจจะลุ้นว่านาย Cyrus น่าจะหนักใจกับการประคองอาณาจักร Tata ให้อยู่รอด แต่นาย Ratan ที่เป็นผู้มอบตำแหน่งสืบทอดให้ ยืนยันความมีประสบการณ์และความละเอียดอ่อนของนาย Cyrus นอกจากนี้ ยังให้มุมมองส่วนตัวต่อนาย Cyrus ว่าเป็นคนประเภทที่ไม่เสียดายที่จะถอนการลงทุนหรือควบรวมกิจการกับใคร เพื่อป้องกันผลกระทบกับตัวเอง และยังทำนายอีกว่าจะได้เห็นการดำเนินกิจการในลักษณะนี้ในไม่ช้า
นาย Ratan มั่นใจในตัวนาย Cyrus แค่ไหน ดูได้จากคำแถลงถึงวิสัยทัศน์ในการประชุมประจำปีของบริษัทเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า Tata จะต้องวางเป้าหมายยอดรายได้ของบริษัทให้มากขึ้นเป็น 5 แสนดอลล่าร์สหรัฐ ภายในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ไป
อย่างไรก็ดี Tata ก็ยังไม่ทิ้งตลาดในบ้านของตัวเอง เห็นได้ชัดคือการนำเข้า Starbucks ที่กำลังแผ่ขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ เริ่มจากมุมไบ และนิวเดลี ให้คอกาแฟและคนรุ่นใหม่ได้กรี๊ดกร๊าด และร้านกาแฟสัญชาติอินเดียต้องกลัวเกรง นักวิเคราะห์ยังมองว่า นาย Cyrus มีภูมิหลังด้านธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จึงน่าจะขับเคลื่อนธุรกิจสาขานี้ในอินเดียได้ดีกว่าที่นาย Tata เคยทำมา
แต่ใช่ว่า Tata ในยุคของนาย Cyrus จะไร้เงาอดีตประธาน Ratan โดยสิ้นเชิง เพราะหลังจากสละเก้าอี้ นาย Ratan ยังรั้งเก้าอี้ประธานกิตติมศักดิ์และกิตติคุณของ Tata Sons และนั่งตำแหน่งประธานกองทุนที่ถือหุ้น 66 เปอร์เซ็นต์ของ Tata Sons โดยจะทำงานเน้นด้านการกุศลและการพัฒนาสังคม พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทในบางครั้ง
เรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของ Tata จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่แง่มุมอย่างหนึ่งในเรื่องนี้คือธุรกิจของยักษ์ใหญ่ระดับโลกยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดอินเดียอยู่ ผู้บริหารวิสัยทัศน์ไกลของไทยน่าจะลอกเลียนกลยุทธ์นี้ไปใช้ได้แบบไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์
คณิน บุญญะโสภัต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี