ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 70)
“ซีพีเอฟ กัลกัตตา” โบจานา – คามารา – คัดยา
เมื่อจะพูดถึงธุรกิจไทยที่เข้าไปประสบความสำเร็จในประเทศอินเดีย ก็คงต้องซูฮกเครือบริษัทซีพี ที่มองการณ์ไกลเข้าไปบุกตลาดอาหารในแดนภารตะตั้งแต่ปี 2540 เริ่มด้วยธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและเพาะเลี้ยงกุ้งที่เมืองเจนไน จนทุกวันนี้ขยายไปตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก เพาะฟักลูกไก่ และทำ contract farming เลี้ยงไก่เนื้อ ในอีก 6 รัฐทั่วอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นกรณาฏะ อานธรประเทศ มหาราษฎระ ปัญจาบ อุตตรประเทศ และเบงกอลตะวันตก
สำหรับในภาคตะวันออกของอินเดีนั้น บริษัท ซีพีเอฟ ไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองกัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก โดย “ซีพีเอฟ กัลกัตตา” เริ่มเข้าไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 โดยครอบคลุมรัฐเบงกอลตะวันตก พิหาร โอริสสา ฌาร์ขัณฑ์ สิกขิม และเจ็ดสาวน้อย 7 รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงหนือ
เหตุที่ซีพีเอฟเลือกภูมิภาคนี้ เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากคนเบงกาลีรับประทานเนื้อสัตว์กันสูงถึง 85 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้สัดส่วนในการบริโภคไก่และไข่ มีโอกาสเติบโตสูงกว่าในภาคอื่นๆ ของอินเดีย ที่มีชาวมังสวิรัติอยู่หนาแน่น เช่น รัฐทางตะวันตกและทางใต้
ภาพจาก www.cpfworldwide.com
ปัจจุบันธุรกิจอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟ กัลกัตตา ยึดหลักการทำธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทแม่ คือ Feed – Farm – Food หรือ โบจานา – คามารา – คัดยา ในภาษาเบงกาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในเมืองกัลกัตตานั่นเอง โดยแบ่งโมเดลธุรกิจออกเป็นสามกลุ่ม คือ Integration, Feed mill และ Breeder
1) Integration คือธุรกิจแบบครบวงจรทั้งด้านการผลิต การตลาดของไก่เนื้อ และไข่ไก่
2) Feed mill คือการทำโรงงานอาหารสัตว์ และ
3) Breeder คือการเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่เนื้อเพื่อผลิตลูกไก่ที่มีคุณภาพ
โดยเริ่มทำโรงงานอาหารสัตว์ (Feed Mill) ที่ Bhanduwan District และซื้อที่ดินที่ Birbhum เพื่อทำฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ (Breeder) และขณะนี้ธุรกิจอาหารสัตว์ก็กำลังไปด้วยดี ด้านไก่เนื้อก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าเนื่องจากเป็นไก่เนื้อที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
ด้านไข่ไก่คุณภาพ ซีพีเอฟจะเริ่มโครงการผลิตในปีนี้ด้วย เคล็ดลับความสำเร็จก็อยู่ที่นำรูปแบบธุรกิจที่ดีและประสบความสำเร็จของประเทศไทยมาเป็นต้นแบบ และได้มีทีมงานซีพีเอฟคนไทยเราเข้ามารับหน้าที่เป็นโค้ชให้กับชาวอินเดียไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้ผู้เลี้ยงชาวอินเดียปฏิบัติตามวิธีการแบบซีพีเอฟ หรือการทำ contract farming กับเกษตรกรในพื้นที่
แม้บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่จะขยาดการเข้าไปดำเนินธุรกิจในอินเดียเพราะปัญหาด้านแรงงาน ทั้งการประท้วง ทะเลาะวิวาทของสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง เช่น การประท้วงโรงงานก่อสร้างรถยนต์ Suzuki Maruti ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากถึงขั้นเผาโรงงาน
แต่สำหรับ ซีพีเอฟ กัลกัตตา ไม่เป็นห่วงปัญหานี้เนื่องจากมีการประกาศใช้นโยบาย “3 Benefits” เช่นเดียวกับบริษัทแม่ นั่นคือ Country Benefit, Company Benefit และ Employee Benefit ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ พนักงานอินเดียแฮปปี้กันถ้วนหน้า บริษัทก็เดินหน้าไปได้ด้วยดี รัฐบาลอินเดียก็ได้ประโยชน์จากการลงทุน
ส่วนแผนงานในอนาคต ซีพีเอฟ กัลกัตตาตั้งเป้ายอดขายไว้ภายใน 5 ปีที่ ประมาณ 8,000 ล้านรูปี (หรือกว่า 4,200 ล้านบาท)
ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่ทำให้ซีพีเอฟ กัลกัตตามั่นใจก็คือ คุณภาพของสินค้ามาตรฐานซีพีเอฟ ที่เข้มงวดตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซีพีเอฟมั่นใจ ลูกค้าหรือเกษตรกรที่ใช้สินค้าของซีพีเอฟจะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคู่แข่ง
ภาพจาก www.cpfworldwide.com
แผนธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของซีพีเอฟ กัลกัตตา คือการรุกตลาดเนื้อสุกร เพื่อผลิตเนื้อสุกรที่สะอาดและมีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ซีพีเอฟเป็นธุรกิจรายแรกในอินเดียที่จะเป็นผู้เลี้ยงสุกรเพื่อจำหน่าย
แม้โครงการนี้จะท้าทายกับความเชื่อด้านการบริโภคเนื้อสุกรของชาวอินเดียที่เชื่อว่าสุกรเป็นสัตว์ที่สกปรก แต่ซีพีเอฟพร้อมที่จะสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคเห็นว่า ซีพีเอฟผลิตเนื้อสุกรมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย ที่มีกระบวนการผลิตจากฟาร์มที่ทันสมัย จึงมั่นใจว่าจะเปิดตลาดเนื้อสุกรในอินเดียได้อย่างแน่นอน
เห็นความพยายามกับการดำเนินธุรกิจอย่างเข้าใจในสภาพตลาดและแรงงานท้องถิ่นของบริษัทซีพีเอฟ กัลกัตตา แล้ว ทีม thaiindia.net ก็ชื่นใจ และอยากเห็นเอกชนไทยหันมาให้ความสำคัญกับตลาดอินเดีย หวังว่าอีกหน่อยเราคงได้ยินวลีภาษาท้องถิ่นอย่าง โบจานา – คามารา – คัดยา กันมากขึ้นอีกนะครับ
ภานุภัทร ชวนะนิกุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,825 วันที่ 10 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2556