กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India ตอน ศึกแย่งชิงน่านฟ้าภารตะ
ศึกแย่งชิงน่านฟ้าภารตะ
โดย นายพิศาล มาณวพัฒน์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2556
เป็นที่ทราบดีว่า ธุรกิจการบินพลเรือนในอินเดียมีจุดดึงดูดใจสูงด้วยขนาดเศรษฐกิจ ความกว้างใหญ่ของประเทศ และจำนวนผู้คนที่ต้องการเดินทางที่นับวันจะมีแต่มากขึ้น
แต่การให้บริการการบินก็เหมือนการทำธุรกิจอื่นๆ ในอินเดีย เต็มไปด้วยโอกาสที่จะทำกำไรงดงามจากปัจจัยบวกของเศรษฐกิจที่ใหญ่โตและกำลังมุ่งหน้าขึ้นแป้นอันดับสามของโลก และเต็มไปด้วยอุปสรรคสิ่งท้าทายจากปัจจัยที่ย่อท้อได้ง่าย
ธุรกิจการบินอาจยิ่งโหดกว่าการทำธุรกิจบริการอื่นๆ เกือบทั้งหมด เพราะต้องเผชิญค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุม โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แล้วยังเจอภาษีในอินเดียที่ทำให้น้ำมันมีราคาแพงกว่าในสิงคโปร์เกือบร้อยละ 60 ยังไม่นับค่าธรรมเนียมที่สนามบินหลัก เช่น มุมไบกับนิวเดลีตั้งใจจะเก็บกันอย่างไม่เกรงใจว่า จะทำลายความสามารถในการแข่งขันหรือบรรยากาศทางธุรกิจและการท่องเที่ยวเพียงไร
จึงไม่น่าแปลกใจที่สายการบินภายในอินเดียต่างมีผลประกอบการติดลบ เป็นหนี้สินรวมกันถึงสองหมื่นล้านเหรีญสหรัฐในปีที่ผ่านมา
แอร์อินเดียซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ต้องให้รัฐบาลกลางใช้เงินเข้าอุ้มกว่าหกพันล้านเหรียญ Kingfisher ของเจ้าพ่อเบียร์ดังชื่อเดียวกันก็หยุดทำการบินตั้งแต่ปีกลาย Jet Airways ที่มีชื่อเสียงดีที่สุดก็ไม่ได้มีผลประกอบการกำไรมา 5 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสายการบิน Ethihad ส่วน SpiceJet ก็กำลังหาบริษัทสายการบินที่มีเงินทุนสูงมาควบกิจการอยู่เช่นกัน
การที่ Kingfisher หยุดดำเนินการเพราะขาดทุนก็ดี Indigo ยกเลิกการบินตรงจากอินเดียมาสุวรรณภูมิเพื่อนำเครื่องบินไปเสริมเที่ยวบินภายในที่ทำเงินได้มากกว่าในเวลาบินน้อยกว่าก็ดี ทำให้บริษัทการบินไทยได้อานิสงส์ในการเพิ่มผู้โดยสารระหว่างจุดต่างๆ ในอินเดียทั้ง 6 เมืองใหญ่และกรุงเทพฯ ไปในตัว
แต่อานิสงส์นี้ คงเสมือนคลื่นลมสงบก่อนพายุลูกใหญ่ จึงไม่แปลกใจที่ตัวแทนมือดี มีความสามารถของบริษัทการบินไทยในอินเดีย นำโดยคุณกรกฏ ชาตะสิงห์ ต้องวางแผนปรับเปลี่ยนยุทธการเร่งด่วนที่จะป้องกันและขยายส่วนแบ่งตลาดของการบินไทย เชื่อว่าบางกอกแอร์เวย์ซึ่งบินเข้า 2 จุด ในอินเดียก็คงไม่ต่างกัน
พายุใหญ่ที่คาดว่ามาถึงเร็วๆ นี้ มาจากแอร์เอเชีย สายการบินแบบประหยัดชื่อดังระดับโลกที่เริ่มต้นด้วยการซื้อกิจการบริษัทด้วยเงินทุนเพียง 1 ริงกิต หรือ 10 บาท แลกกับเครื่องบิน
โบอิ้ง 737 เก่ามา 2 ลำ พร้อมหนี้สิน 400 ล้านบาท นายเฟอนานเดส นักธุรกิจหัวใสชาวมาเลเซียใช้เวลาอยู่สิบกว่าปีกว่าจะสามารถขยายแอร์เอเชียให้ผงาด เป็นสายการบินแบบประหยัดขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชีย ปลายปีที่แล้วฟันกำไรกว่า 600 ล้านเหรียญ สั่งซื้อเครื่องบินทีละ 200 ลำ ในปี 2554 และแอร์บัสอีก 100 ลำ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ข่าวใหญ่ครึกโครมสะท้านวงการบินก็คือ การจับมือระหว่างแอร์เอเชียกับบริษัททาทา ซันส์ ยักษ์ใหญ่ของอินเดียและเทเลสตาร์ที่ลูกชายแต่งงานกับลูกสาวนายลักษมี มิตตาล เจ้าพ่อเหล็กของโลก ร่วมทุนกันตั้งบริษัทแอร์เอเชียในอินเดียเพื่อขออนุญาตเปิดบริการการบินภายในอินเดีย นับเป็นกลุ่มนักลงทุนรายแรกที่ตอบสนองมาตรการเปิดเสรีธุรกิจการบินของรัฐบาล ดร.มานโมฮัน ซิงห์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ
แอร์เอเชียอินเดียจะใช้เจนไนเมืองหลักทางใต้รัฐทมิฬนาดูเป็นฐาน มีเครื่องแอร์บัส 3 – 4 ลำ เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่น้อยที่เหลือของอินเดียภายในปีนี้ การจับมือกับกลุ่มบริษัทชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือของอินเดียก็เพื่อใช้นักธุรกิจมีเครดิตสูงของอินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาล แก้ไขปัญหาอุปสรรคภายในอินเดียให้นายเฟอร์นานเดส
แอร์เอเชียหวังว่าการลงทุนสยายปีกเข้ามาในน่านฟ้าระหว่างเมืองต่างๆ ในอินเดีย จะเป็นยุทธการแย่งชิ้นปลามันที่ทำให้ตนเป็นที่หนึ่งครองใจชาวภารตะทั่วประเทศ โดยตั้งใจจะตัดราคาค่าโดยสารภายในประเทศให้สามารถโน้มน้าวคนอินเดียประมาณ 23 ล้านคนที่ใช้บริการรถไฟให้หันมาขึ้นเครื่องบินของตนแทน พร้อมๆ กับแย่งลูกค้าเดิมของบริษัทสายการบินอื่นๆ ในขณะนี้
บริษัทการบินต่างชาติที่มองตลาดอินเดีย ต่างอยากมีอภิสิทธิ์แบบที่บริษัทสายการบินของอินเดียมี กล่าวคือสามารถหยุดรับส่งผู้โดยสารตามจุดภายในประเทศที่สำคัญ เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้
การเป็นทองแผ่นเดียวกันระหว่างบริษัทแอร์เอเชียใหญ่กับแอร์เอเชียประจำประเทศสาขาที่มีอยู่ ทั้งในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และล่าสุดในอินเดียนี้ เท่ากับว่าแอร์เอเชียสามารถ กำหนดเที่ยวบินที่สอดคล้อง ทำให้แอร์เอเชียเสมือนได้สิทธิการบินที่รับส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองในอินเดียที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยบริษัทอื่น เช่นการบินไทย อยากทำแต่ทำไม่ได้
ตัวแทนการบินไทยในพื้นที่ทั่วอินเดียตระหนักถึงความรุนแรงของการแข่งขันชิงน่านฟ้าอินเดีย ทั้งซีกตะวันออกจากแอร์เอเชียและตะวันตกจากสายการบินของเศรษฐีอ่าวอาหรับอย่างดี จึงได้เปิดตัว THAI Smile ในปลายเดือนนี้ในสามเมืองหลัก คือ เดลี-ภูเก็ต มุมไบ-ภูเก็ต และอาเมห์ดาบัด-กรุงเทพฯ โดยชูจุดเด่นด้านราคาประหยัด แต่คุณภาพเหมือนเดิม
ชาวอินเดียโดยพื้นฐานชอบประเทศไทย ชอบเดินทางโดยสายการบินไทยอยู่แล้ว แต่เน้นความคุ้มค่าของราคา สายการบินไทยทั้ง 2 บริษัทจึงจะประมาทไม่ได้ในด้านราคาและบริการ เพราะสายการบินคู่แข่งสามารถลดราคาและเน้นบริการด้วยรอยยิ้มจากพนักงานคนไทยและชาติอื่นๆ ด้วยเครื่องบินที่ใหม่ ตารางการเปลี่ยนเครื่องบินในเครือที่สะดวกสบาย รวดเร็วกว่าด้วยซ้ำ
คำว่า “อย่ามองข้ามอินเดีย” อาจใช้เป็นคำแนะนำนักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ที่ยังกลัวๆ กล้าๆ ได้อีกนาน แต่สำหรับบริษัทการบินไทยถือได้ว่าได้มองเห็นขุมทรัพย์และโอกาสในอินเดียมากว่า 50 ปีแล้ว
สำหรับผู้สนใจการทำธุรกิจในอินเดียสามารถติดตามข่าวกรองช่องทางและโอกาสได้เป็นประจำจาก www.thaiindia.net รวมทั้งเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาแบบเจาะลึกเป็นรัฐและสาขาธุรกิจ ในวันที่ 19 มีนาคม ศกนี้ ที่กรุงเทพฯ