ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 71)
ใครก็เป็นราชาได้จากขุมทรัพย์ในราชาสถาน
ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ ฉบับประจำวันที่ 17-20 มีนาคม 2556
ผ้า Throw ที่ร้านหัตถกรรมท้องถิ่นทำตามใบสั่งของยี่ห้อ Hermes
ผู้อ่านที่ติดตามเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย คงจะเคยผ่านตาคำกล่าวที่ว่า อินเดียเป็นขุมทรัพย์ใต้กองขยะ จากคุณพลเดช วรฉัตร เอกอัครราชทูตประจำศรีลังกา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำที่สถานทูตนิวเดลี
คำกล่าวนี้แสดงข้อเท็จจริงสองอย่าง อย่างแรกคือ ในมุมมองของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ยังไม่เข้าใจอินเดียดีพอ ยังไม่มีข้อมูลว่ามีของดีอะไร และยังยึดติดกับภาพลักษณ์เก่าๆ หรือแนวคิดเก่าๆ ที่มองข้ามอนุทวีปแห่งนี้
อย่างที่สอง คือการสะท้อนให้เห็นความพยายามของทีมประเทศไทยในอินเดีย ที่มองเห็นแล้วว่ามีขุมทรัพย์อะไรซ่อนอยู่ที่นี่ และพยายามชี้ช่องให้ภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามาทำการค้าขายลงทุนมากขึ้น จะได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน ทั้งของอินเดียเอง และเพิ่มศักยภาพของเอกชนไทยในตลาดสำคัญๆ ของโลก
แน่นอนว่า ในดินแดนอันหลากหลายและกว้างใหญ่แห่งนี้ การจะเข้าถึง “ของดี” หรือ “ขุมทรัพย์” ก็ต้องผ่านด่านอรหันต์ประลองความอดทนและฝีมือกันสักหน่อย ว่าแล้วผมในฐานะตัวแทนทีมงาน Thaiindia.net ก็หยิบหมวกอินเดียน่าโจนส์ขึ้นมาสวม แล้วคว้ากระเป๋าตบเท้าตามทูตไทยประจำนิวเดลีไปตะลุยรัฐราชาสถานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ราชาสถานเป็นดินแดนรุ่มรวยอารยธรรม เป็นอดีตดินแดนแห่งพระราชา เจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ น้อยใหญ่ พื้นที่ 3.4 แสนตารางกิโลเมตร มีประชากร 68.6 ล้านคน กว้างใหญ่และหลากหลายทั้งที่เป็นเขตทะเลทราย ป่าเขา และทะเลสาบกระจายอยู่ทั่วรัฐ
คนส่วนใหญ่จะนึกถึงราชาสถานในแง่ของการท่องเที่ยว ปราสาท ราชวัง และป้อมปราการของมหาราชาอันวิจิตร ราชาสถานจึงเป็นรัฐแนวหน้าของอินเดียในเรื่องการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวราชาสถานนับเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาอินเดีย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาให้มีความหลากหลายและมีตัวเลือกหลายระดับ ความนิยมของนักท่องเที่ยวมีทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ป้อมปราการ อนุสรณ์สถาน และพระราชวัง รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และทะเลทราย นอกจากนี้ ยังมีบริการรถไฟหรูให้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก เช่น Royal Rajasthan on Wheels และ Palace on Wheels ซึ่งเป็นต้นแบบการบริการรถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยวให้รัฐอื่นๆ ไปลอกเลียนแบบ
ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมของราชาสถานที่มีมาก ในจำนวนโรงแรมมากกว่า 150 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วรัฐ ประมาณ กว่า 1 ใน 3 เป็นโรงแรมที่ดัดแปลงจากพระราชวัง ป้อมปราการ หรือปราสาทเก่า (Heritage Hotels) ทำให้เป็นที่นิยมแก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรมหรือบรรยากาศแบบโบราณๆ สไตล์มหาราชา นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมูลค่าป้อมปราการเหล่านี้ ด้วยการให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหาร จัดการแสดงศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรม โรงแรม Heritage Hotels ก็เป็นที่นิยมของคนดังทั้งในอินเดียและต่างชาติ จัดงานเลี้ยง งานฉลอง งานแต่งงาน หรืองานต่างๆ อยู่เนืองๆ
แต่ไม่เพียงแต่ด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น ราชาสถานยังมีของดีซุกซ่อนอยู่มากกว่าที่เราคิด
เครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน งานขึ้นชื่อของเมืองโยธปุระ
โยธปุระ (Jodhpur) เป็นศูนย์กลางหัตถกรรมของอินเดียแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะหัตถกรรมเครื่องเรือนโบราณ ทั้งที่ดัดแปลงจากของเก่าเหลือใช้ และของทำเลียนแบบของเก่าที่มีฝีมือ อุตสาหกรรมหัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์เก่านี้ ส่งออกไปหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มูลค่าการส่งออกต่อปีสูงถึง 3.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องเรือนเก่านี้ เกิดขึ้นจากแรงงานที่มีฝีมือ และเจ้าของกิจการชาวราชาสถานที่มีวิสัยทัศน์และเก่งเรื่องการบริหาร มีหลักการทำงานที่เป็นสากล
นอกจากหัตถกรรมเครื่องเรือนชิ้นใหญ่ๆ แล้ว ที่เมืองโยธปุระยังมีงานหัตถกรรมผ้าทอทั้งที่เป็นฝ้าย ไหม หรือแบบที่ผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เช่นใยไผ่ และขนสัตว์ ทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง รับผลิตให้กับยี่ห้อดังๆ อย่างเช่น Kenzo, Armani, Etro และ Hermes
ราชาสถานยังมีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่ในรูปของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในภาคตะวันตกของรัฐที่เมืองบาร์เมอร์ (Barmer) และไจซัลเมอร์ (Jaisalmer) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายทาร์ อีกทั้งอากาศที่ร้อนจัดและสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยยังทำให้มีศักยภาพในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลม ตอนนี้ Cairn ที่เป็นบริษัทสำรวจน้ำมันของอังกฤษ ได้ร่วมกับ ONGC ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของอินเดีย ลงทุนมูลค่า 4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สร้างศูนย์กระจายน้ำมัน Mangala Processing Terminal (MPT)ในเขตสัมปทาน Mangala ซึ่งอยู่ในทะเลทรายทาร์เขตเมืองบาร์เมอร์ ซึ่งมีแท่นขุดเจาะกระจายอยู่ในพื้นที่กว้างกว่า 4,549 เอเคอร์
ขุมทรัพย์ด้านพลังงานของราชาสถานจึงน่าจะผลักดันให้รัฐนี้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานแห่งหนึ่งของอินเดีย เพื่อป้อนให้กับรัฐอื่นๆ และขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจประเทศ
ขุมทรัพย์อีกอย่างหนึ่งที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ ก็คือพลอย อัญมณี และเครื่องประดับ ที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในเมืองหลวงของรัฐคือชัยปุระ ซึ่งพ่อค้าพลอยและเครื่องประดับของราชาสถานและของไทย ต่างได้ประโยชน์เต็มๆ ภายใต้การยกเว้นภาษีในกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย
สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ ราชาสถานตั้งเป้าจะส่งเสริมให้ครบทุกด้านที่กำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยเฉพาะ ยานยนต์ เวชภัณฑ์ เซรามิค การเงินและการธนาคาร ราชาสถานจะเป็นรัฐที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากโครงการ Delhi Mumbai Industrial Corridor (DMIC) คือ 39 เปอร์เซ็น โครงการเส้นทางขนส่งสินค้าและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอินเดียนี้ จะพาดผ่านเมืองสำคัญๆ ในรัฐฝั่งตะวันตกของประเทศ จากนิวเดลีไปจนถึงท่าเรือในเมืองมุมไบ ในราชาสถาน กลุ่มอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้มาตั้งนิคมอุตสาหกรรมลงทุนกันแล้ว เพื่อรอรับประโยชน์จากเส้นทางสินค้านี้ แต่ยังไงก็ตาม รัฐบาลราชาสถานก็พร้อมอำนวยความสะดวกการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ระบบ Single Window Clearance ที่รัฐจัดทำขึ้น (www.bipraj.raj.nic.in) พิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างดี
ใครที่สนใจอย่ารอช้า เชิญคว้าหมวกอินเดียน่าโจนส์ที่ฝุ่นจับของท่านมาร่วมทางล่าขุมทรัพย์ไปกับทีมประเทศไทยในอินเดียกันครับ
คณิน บุญญะโสภัต