1. ภาพรวม
- อินเดียมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจรุดหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในช่วงปี 2549-2553 อัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.5 ต่อปี
(ในช่วง 2548-2551 อัตรา เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 9 แต่ลดลงเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2552) ทั้งนี้ คาดว่าอัตรา การเติบโตของ GDP ของปี 2554-2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 8.5
- อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจากจีนและญี่ปุ่น และเป็นอันดับที่ 10 ของโลก GDP ของอินเดียในปี 2553 มีมูลค่า 1,684 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ ภาคบริการ เช่น อุตสาหกรรม IT โทรคมนาคม การขนส่ง การท่องเที่ยวและการโรงแรม
- ตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และภาคการส่งออกที่มีปริมาณสูงขึ้น (ในปี 2553/2554 รายได้จากการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่าง เป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 38 ของ GDP มีมูลค่าถึง 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดจน การลงทุนและการออมทรัพย์ภายในที่สูงอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี อินเดียต้องพึ่งพา การนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการพัฒนา เศรษฐกิจ นอกจากนี้ การขาดดุลรายได้ของรัฐอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาระยะยาวทางศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของ GDP
- นักลงทุนและบริษัทต่างชาติให้ความสนใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายเปิดเสรีทางการค้าของอินเดียอย่างมากดังที่มีเงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าถึงร้อยละ 2.4 ของ GDP (ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2553 โดยบริษัทยักษ์ใหญ่หรือ ธุรกิจสำคัญๆ ของต่างชาติ ต่างมียุทธศาสตร์ที่จะเจาะตลาดอินเดีย โดยเฉพาะในสาขา การค้าปลีก ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนอินเดีย ก็ได้ลงทุนและควบซื้อกิจการในต่างประเทศ มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนักประเภทต่างๆ อาทิ เหล็กและยานยนต์
- จากการที่เศรษฐกิจของอินเดียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังนั้น ปัจจัย ภายนอกจึงส่งผลกระทบต่ออินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ วิกฤติด้านราคาอาหารและเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อสภาวะเงินเฟ้อในอินเดียที่กลายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป
2. ปัญหา / อุปสรรค
- อุปสรรคสำคัญที่ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ 1) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะ เป็นถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ 2) การขาดแคลนพลังงาน 3) ความล่าช้าในการผ่อน คลายกฎระเบียบการค้าการลงทุน และ 4) อัตราเงินเฟ้อ
- อัตราเงินเฟ้อของปี 2553 สูงถึงร้อยละ 12 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (อยู่ที่ร้อยละ 7.47 ณ วันที่ 7 พ.ค. 54) เนื่องจาก ปริมาณฝนที่ตกมามาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อของราคาอาหาร ลดลง โดยแตะระดับต่ำที่สุดของช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ในเดือน พ.ค. 54 ทั้งนี้ ราคาอาหารที่ สูงเป็นปัญหาสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของรัฐบาล โดยธนาคารกลาง ของอินเดียได้พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นถึง 9 ครั้ง ตั้งแต่เดือน มี.ค. 53
3. แนวโน้ม
- หากผลิตผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในปีนี้ ราคาอาหารจะช่วยให้สภาวะเงินเฟ้อ บรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและเชื้อเพลิงโลกยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งจะทำให้ระดับ ของอัตราเงินเฟ้อของอินเดียอยู่ในระดับที่สูง (มากกว่าร้อยละ 8) ต่อไป
- ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2554-2555 แม้ว่าความเร็วของการเติบโตจะ ชะลอตัวลงบ้าง การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานจากการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้ จ่ายของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและการบริการเป็นแรง ขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินเดีย อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อสูง สภาวะคอขวดของ โครงสร้างพื้นฐาน และการขาดดุลของงบประมาณรัฐอย่างมหาศาลจะเป็นตัวถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจอยู่ในระดับร้อยละ 8.5 ในสิ้นปี 2554
- นโยบายการคลัง งบประมาณแห่งรัฐปี 2554-2555 ให้ความสำคัญต่อการสานต่อนโยบาย จากปีที่แล้วมากกว่าการแนะนำมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ๆ นโยบาย ปัจจุบันให้ ความสำคัญต่อ 3 ประเด็น คือ การสนับสนุนรายได้เกษตรกร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการลดแรงกระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ จะคงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศที่จะเพิ่มรายจ่ายในสาขาสาธารณสุขการศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานในชนบท
- นโยบายการเงิน ธนาคารกลางอินเดียอาจปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก ปัจจุบัน อัตรา repurchase (repo) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางปล่อยเงินกู้ให้กับ ธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ร้อยละ 8.25 ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียอาจปรับ repo rate ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 หลังจากการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการเงินในวันที่ 25 ตุลาคม 2554