ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 73)
วันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันสตรีโลกแล้วก็ยังเป็นวันสำคัญของประเทศไทยในเมืองมุมไบด้วยนะคะ เมื่อหน่วยงานภาครัฐอย่างสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ได้สร้างประวัติศาสตร์ จัดการแสดงทางวัฒนธรรมไทย ในโรงละคร Tata Theatre ที่เป็นโรงละครสำคัญอันดับหนึ่งของเมืองมุมไบ เป็นครั้งแรกในงาน Destination Thailand 2013
กิจกรรมนี้ สถานกงสุลใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก แบบจัดเต็ม เอื้อเฟื้อคณะนาฏศิลป์ 16 ชีวิต ทำการแสดงถึง 16 ชุด ทั้งฟ้อนขันดอกและฟ้อนผางประทีป ซึ่งแสดงความสวยงามอ่อนช้อยของการร่ายรำแบบไทย ไปจนถึงการเซิ้งในจังหวะสนุกสนานเร้าใจในการแสดงชุดระบำกลองยาว ระบำดีดกุ้งและเซิ้งแหย่ไข่มดแดง
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนตอนหนุมานจับนางเบญจกายและโขนยกรบ และการแสดงศิลปะการต่อสู้ดาบสองมือและง้าวซึ่งนักแสดงได้แสดงอย่างเข้าถึงบทบาทสมจริงเป็นอย่างยิ่ง เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมนับพันคนกึกก้องทั้งโรงละครเลยทีเดียวค่ะ
งานนี้ ผู้เช้าชมงานยังได้มีโอกาสเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารไทย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ จัดเสิร์ฟก่อนเริ่มการแสดง มีทั้งเปาะเปี๊ยะทอดไส้ผักและไก่สะเต๊ะ เรียกว่าได้เอร็ดอร่อยกันถ้วนหน้า อาหารหมดเกลี้ยงเลยค่ะ
ได้ยินมาว่า เคล็ดลับในการเลือกมาเสิร์ฟก็คือการอาหารมังสวิรัติและเนื้อไก่เป็นหลัก เพราะเข้ากับธรรมเนียมการรับประทานของคนอินเดียทุกเชื้อชาติศาสนา และยังเป็นอาหารที่สามารถหารับประทานได้ในร้านอาหารไทยที่เมืองมุมไบทุกแห่ง สามารถหาซื้อวัตถุดิบทำทานเองที่บ้านได้อย่างง่ายดายด้วยค่ะ ซึ่งก็ถือเป็นการโปรโมตกระแสความนิยมอาหารไทยและเครื่องปรุง/วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารไทยไปในตัวด้วย
หลังการแสดงจบ แขกเหรื่อยังต้องตื่นตาตื่นใจกับของที่ระลึกสุดไฮโซที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่นใด แต่คือ "ลำไย" นั่นเองค่ะ อันนี้ก็ไม่ต้องประหลาดใจนะคะ เพราะลำไยที่นี่ราคาแพงมาก ขายส่งอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 350 รูปี (ประมาณ 210 บาท) แถมยังเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานถูกปากชาวอินเดียเป็นอย่างยิ่ง แต่ชาวอินเดียส่วนมากยังเข้าใจผิดว่าลำไยเป็นลิ้นจี่พันธุ์หนึ่ง สถานกงสุลใหญ่ เลยต้องทำ tag อธิบาย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดค่ะ
นอกจากลำไยแล้วผู้เข้าชมงานทุกท่านยังได้รับสายรัดข้อมือสีธงไตรรงค์เป็นของที่ระลึกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้โชคดีบางท่านยังได้รับบัตรโดยสารเครื่องบินไปเที่ยวเมืองไทยด้วยค่ะ เรียกได้ว่า "ชมฟรี ทานฟรี เที่ยวฟรี" ทีเดียว
สำหรับงาน Destination Thailand 2013 ครั้งนี้ สถานกงสุลฯ ยังได้สองหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของอินเดีย ได้แก่ National Centre for the Performing Arts (NCPA) และ Indian Council for Cultural Relations (ICCR) ช่วยสนับสนุนการจัดงานทั้งในด้านงบประมาณและการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่าง ๆ ที่เมืองมุมไบค่ะ
งานนี้ นอกจากจะแสดงถึงการทำงานกันเป็นทีมของทีมประเทศไทย ทั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ และทีมประเทศไทย ที่ช่วยกันทำมาหากินเต็มที่แล้ว ความสำเร็จของงาน จำนวนคนที่มาชมงานนับพันคน การได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอินเดียอย่างเต็มที่ อาหารและผลไม้ไทยที่หมดเกลี้ยง บ่งบอกถึงความนิยมไทยของคนอินเดียที่มีอยู่มากโข ดังนั้น หากเอกชนไทยจะนำความนิยมนี้ไปต่อยอด ก็น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจได้สบายนะคะ
กิจกรรมที่เล่ามาทั้งหมดนี้จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างเล็กๆ ของกิจกรรมที่ภาครัฐของไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตหรือสถานกงสุลทั่วโลกทำ เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย สร้างความนิยมไทยด้วยการทูตสาธารณะ ด้วยความงดงามของวัฒนธรรมและความเอร็ดอร่อยของอาหารไทย และที่สำคัญเพื่อชี้ช่องโอกาสทางธุรกิจให้กับเอกชนไทยที่กำลังมองหาตลาดใหม่ แต่ยังไม่แน่ใจในตลาดขนาด 1,200 ล้านคนอย่างประเทศอินเดีย
โดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,833 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2556