ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 74)
ขุมทรัพย์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในราชาสถาน
ในบทความก่อนหน้า ผมได้เล่าภาพรวมขุมทรัพย์ต่างๆ ใน ราชาสถาน ให้ผู้อ่านที่สนใจได้รับฟังกัน วันนี้ จะขอเจาะลึกขุมทรัพย์ที่น้อยคนจะรู้ว่ามีซ่อนอยู่ในรัฐนี้ด้วย คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ในภาพรวมเรื่องพลังงานของอินเดียนั้น สถิติปี 2554 อินเดียบริโภคพลังงานสูงอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เหตุก็เพราะเศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราสูง แม้จีดีพีของปี 2555 จะอยู่ที่ 6.5 % ลดลงจาก 8.5 % ในปีก่อนหน้า แถมจำนวนประชากรที่มีมาก นับเป็น 17.5 % ของประชากรโลก ทำให้อินเดียต้องเร่งผลิตและเสาะหาแหล่งพลังงานเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายใน
แม้ภาคการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอินเดียมีขนาดใหญ่กว่า 15 % ของจีดีพีประเทศ แต่อินเดียก็พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 82 % ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ ในระดับโลก อินเดียบริโภคน้ำมันสูงเป็นอันดับ 6 และเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบสูงเป็นอันดับ 9
อย่างไรก็ดี ความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะสูงขึ้น 4-5 % ต่อปี จนถึงปี 2558 ซึ่งปริมาณความต้องการในการบริโภคจะเพิ่มเป็น 4.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เพราะความกระหายพลังงานอย่างหนักนี้เอง อินเดียจึงเปิดให้ลงทุน FDI ในสาขาพลังงาน 100 % โดยการเปิดประมูลการลงทุนและขุดค้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่นอกชายฝั่งและใต้พื้นดินของประเทศ จะถูกกำกับโดย Directorate General Hydrocarbon (DGH) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางควบคุมดูแลการลงทุนแหล่งพลังงานปิโตรเลียม ภายใต้ New Exploration and Licensing Policy (NELP) ที่เป็นนโยบายหลักในเรื่องนี้ DGH มีหน้าที่ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการขุดค้นแหล่งพลังงานของอินเดีย ซึ่งบริษัทเอกชนที่สนใจสามารถรับข้อมูลได้จาก DGH โดยตรง
ภายใต้ NELP ได้มีการเปิดประมูลแหล่งขุดค้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปแล้ว 9 รอบ รอบต่อไปคือรอบที่ 10 คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในห้วงปี 2556 - 2557 ซึ่งจะมีการประกาศตามสื่อต่างๆ
ศักยภาพในอินเดียยังมีอีกมาก ภาคเอกชนรอไม่ไหว เลยพยายามเสนอรัฐบาลให้คลอดนโยบาย OALP (Oil Acreage Licensing Policy) ตามแบบประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นกระบวนการประมูลการลงทุนขุดค้นและผลิตน้ำมันแบบต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอการประกาศตามนโยบาย NELP ขณะนี้รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาเรื่องนี้
การขุดค้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนโดยบริษัทอินเดียที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ บริษัทต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาร่วมทุนและตั้งสำนักงานอยู่ในอินเดีย ที่สำคัญๆ ก็มีเช่น Cairn India, Essar Oil, Shell, British Gas และ British Petroleum
ภาคเอกชนมีความตื่นตัวที่จะให้ภาครัฐผ่อนคลายระเบียบ เพื่อให้การขุดค้นพลังงานในประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐเลิกใช้งบประมาณอุดหนุนสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาซื้อ-ขายภายในค่อนข้างต่ำ โดยอยากให้ราคาถูกกำหนดโดยกลไกตลาด
คาดว่าจากสถานการณ์บีบคั้นรอบด้าน ทั้งความต้องการบริโภคภายในประเทศ และความผันผวนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์โลก ทำให้อินเดียต้องผ่อนปรนระเบียบมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีจากต่างชาติมาใช้สำรวจขุดค้นพลังงานในประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสของเอกชนต่างชาติเข้ามาขุดขุมทรัพย์กัน
ในส่วนของราชาสถานที่มีนโยบายย่อยของรัฐคือ Rajasthan Mineral Policy 2011 ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของชาติ โดยในนโยบายนี้ รัฐบาลของรัฐจะทำการส่งเสริมการลงทุนด้วยการเร่งกำหนดจุดที่น่าจะมีแหล่งพลังงานซ่อนอยู่ เพื่อแจ้งแก่รัฐบาลกลางอินเดีย ให้เปิดประมูลตามช่องทางปกติ
แหล่งพลังงานในราชาสถาน มีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงมีเทนจากถ่านหิน (CBM) ซึ่งถูกค้นพบในภาคตะวันตกของรัฐที่เมืองบาร์เมอร์ (Barmer) จะลอร์ (Jalore) และไจซัลเมอร์ (Jaisalmer) ขณะนี้ มีการสำรวจที่แอ่ง Barmer-Sanchore ที่เมืองจะลอร์ และแอ่งย่อย Shahgarh ที่เมืองไจซัลเมอร์
บริษัท Cairn India (บริษัทลูกของ Vedanta Resources) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันเอกชนรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ทำการสำรวจน้ำมันในเมืองบาร์เมอร์และพบหลุมน้ำมันกว่า 25 หลุม บ่อน้ำมัน Mangala ที่ถูกค้นพบในปี 2547 เป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2528 การผลิตน้ำมันดิบที่บ่อน้ำมัน Mangala เริ่มต้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2552 และจนถึงปี 2554 มีการผลิตน้ำมัน 74.45 ล้านบาร์เรล
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 สื่อมวลชนอินเดียรายงานว่า บริษัท Cairn India ได้ขุดค้นพบหลุมน้ำมันหลุมที่ 26 ในแหล่งสัมปทานของบริษัทในราชาสถาน ผู้บริหาร Cairn India แสดงความมั่นใจในแผนการขุดค้นแหล่งน้ำมันในราชาสถานไปเรื่อยๆ โดยในห้วง 2 ปีข้างหน้า มีแผนจะขุดเจาะบ่อน้ำมันให้ถึง 100 บ่อ และใช้เงินลงทุนอีก 6 หมื่นล้านรูปี ในแอ่งบาร์เมอร์
สถานทูตไทยในอินเดียไม่รอช้า แจ้งลายแทงขุมทรัพย์ที่ถูกค้นพบเมื่อทูตไทยไปสำรวจราชาสถานเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ให้ ปตท.สผ.ทราบภายในแล้ว ซึ่งหาก ปตท.สผ.พร้อม ทูตไทยก็พร้อมจะนำทีมบุกไปราชาสถานอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาช่องทางธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่า Thaiindia.net จะรายงานให้ผู้อ่านทราบต่อไป
คณิน บุญญะโสภัต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,835 วันที่ 14 - 17 เมษายน พ.ศ. 2556