ฐานเศรษฐกิจ: เปิดมุมมองทูต "อนิล วาธวา"
หากมองเลยไปจากเขตของภูมิภาคอาเซียนแล้ว อินเดียนับได้ว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีโอกาสสำหรับการลงทุนอยู่อีกมากสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการขยายฐานการผลิต
อนิล วาธวาทั้งนี้อินเดียมีความพร้อมและความน่าสนใจในฐานะแหล่งลงทุนทางเลือกอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านทูต อนิล วาธวา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ถึงศักยภาพของอินเดีย รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียและอาเซียนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้า
++ เมกะโปรเจ็กต์เขตอุตสาหกรรม
หนึ่งในโครงการที่อินเดียวางไว้เป็นรากฐานในการสร้างความน่าดึงดูดใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน คือโครงการระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (Delhi-Mumbai Industrial Corridor) โครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมมูลค่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งกินระยะทางประมาณ 1,500 กิโลเมตรผ่านพื้นที่ใน 6 รัฐ
ท่านทูตวาธวากล่าวว่า ระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลอินเดีย โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลและภาคเอกชนของญี่ปุ่น โดยเป็นการสร้างเขตอุตสาหกรรมให้กลุ่มธุรกิจเข้ามาสร้างโรงงานตามแนวพื้นที่ดังกล่าว ตลอดระยะทางของระเบียงมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้น 8 แห่ง โครงการนี้เริ่มต้นมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2560
ระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบจะช่วยย่นระยะเวลาการคมนาคมขนส่ง เป้าหมายหลักคือช่วยให้ระบบโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจไม่หยุดชะงักเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ ในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาติดตั้ง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงมีสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา พร้อมอยู่แล้ว ฉะนั้นนักลงทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพิ่มเติมอีก เพียงแค่นำเครื่องจักรมาติดตั้งก็สามารถดำเนินการได้ทันที
"แนวคิดคือให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการดำเนินธุรกิจ และด้วยความสะดวกของโลจิสติกส์ จะทำให้การลงทุนมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อโครงการแล้วเสร็จ เราตั้งเป้าหมายว่าภาคการผลิตจะมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% จากการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ระเบียง"
โครงการระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย ที่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนในด้านดังกล่าวประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนอกจากนี้ยังมีระเบียงอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งที่อยู่ในแผนการดำเนินงาน คือ เชนไน-บังกะลอร์ และบังกะลอร์-มุมไบ ประกอบกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกมาก ทั้งท่าเรือ ทางด่วน โกดังสินค้า เป็นต้น
++ เอื้อประโยชน์นักลงทุนไทย
สำหรับนักลงทุนไทยที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ๆ ท่านทูตวาธวามองว่า บริษัทไทยอยู่ในสถานะที่ดีที่จะได้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจเหล่านี้ เนื่องจากไทยอยู่ใกล้อินเดีย และกำลังจะมีการขยายข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้รวมถึงด้านบริการและการลงทุนด้วย ทั้งนี้อินเดียมีความต้องการในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่ง เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีบางบริษัทที่เข้าไปแล้ว อย่างพฤกษา หรืออิตัลไทย ด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ และชิ้นส่วนรถยนต์ที่อินเดียผลิตอยู่เช่นกัน มองว่ามีโอกาสที่บริษัทไทยและอินเดียจะประสานความร่วมมือ หรือร่วมทุนกันได้
ส่วนอุปสรรคหลักของการเข้าไปลงทุนในอินเดียในความเห็นของท่านทูตวาธวา คือเรื่องของความสะดวกในทำธุรกิจ "เราพยายามแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการจัดตั้งระบบหน้าต่างเดียวสำหรับดำเนินการเรื่องภาษีและยื่นคำร้องต่างๆ และถ้าเข้ามาลงทุนในระเบียงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะปราศจากปัญหาเรื่องการซื้อที่ดิน"
ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดสำนักงานขึ้นในอินเดีย และมีการลงนามความร่วมมือกับ อินเวสต์อินเดีย (InvestIndia) หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินเดีย เพื่อช่วยเหลือให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวดเร็วในทุกครั้งที่นักลงทุนต้องการข้อมูล
นอกจากนี้ เพื่อสนองความต้องการของบริษัทไทยที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนในบริเวณเดียวกัน อินเดียได้เสนอให้กลุ่มธุรกิจไทยเลือกพื้นที่ในการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม โดยอาจจะเป็นที่รัฐคุชราตหรือพื้นที่บางแห่งตามแนวระเบียงอุตสาหกรรม "นอกจากคุชราตแล้ว คิดว่ามานีเซอร์เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะอยู่ใกล้กับเดลี แต่เวลานี้ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะเป็นที่ใด ขึ้นกับนักลงทุนไทย"
++ เชื่อมโยงอินเดีย-อาเซียน
สำหรับโครงการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดียโครงการแรกที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ คือการสร้างทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมาร์-ไทย "อินเดียและอาเซียนจะสามารถเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ทางถนนได้ในปี 2559 ซึ่งโครงการทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมาร์-ไทย กำลังคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยทางอินเดียสร้างถนนจากชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงเมียนมาร์แล้วเป็นระยะทาง 182 กิโลเมตรจากระยะทางทั้งหมด 1,600 กิโลเมตร ไทยสร้าง 83 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือจะอยู่ในเขตเมียนมาร์"
ท่านทูตกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางการเมียนมาร์ได้ร้องขอให้อินเดียบริหารจัดการสะพาน 71 แห่งในเมียนมาร์ ซึ่งอินเดียตกลงรับดำเนินการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกทั้งอินเดียยังให้เงินกู้แก่เมียนมาร์เป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมียนมาร์ได้นำเงินในส่วนดังกล่าวมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาใช้เป็นทุนในการสร้างโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดียและอาเซียน นอกจากนี้ทางอินเดียยังมีความตกลงให้เงินกู้สำหรับการขยายโครงการทางหลวงดังกล่าวออกสู่ลาว กัมพูชา และเวียดนามต่อไปในอนาคตอีกด้วย
"โครงการนี้เป็นขั้นแรกของการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียและอาเซียน ซึ่งจะใช้เวลาถึงปี 2563 ในการดำเนินการ สำหรับอินเดียไทยเป็นประเทศแรกต่อจากเมียนมาร์ และจะเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจสำหรับอินเดียอย่างแน่นอน แต่ขั้นแรกต้องมีการเชื่อมโยงกันก่อน และโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย-อาเซียนก็เป็นเส้นทางนำไปสู่การเชื่อมโยงที่สำคัญ"
ท่านทูตวาธวากล่าวถึงศักยภาพของอาเซียนภายหลังการรวมกลุ่มเป็นเออีซีในปี 2558 ว่า อาเซียนมีศักยภาพสูง เนื่องจากทิศทางของอุตสาหกรรมเคลื่อนย้ายมายังเอเชีย
"อาเซียนมีเทคโนโลยี มีแรงงาน มีนวัตกรรม ที่จะช่วยให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญสำหรับอินเดีย และสำหรับประเทศอื่นๆ ด้วย"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,830 วันที่ 28 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2556