ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.25% ลงมาอยู่ที่ 7.25% เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่เตือนต้องคุมเงินเฟื้อ
หลังจากที่ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบระวังตัวมาตลอด เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ธนาคารกลางอินเดีย หรือ RBI ก็ตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยปรับลดลง 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงมาอยู่ที่ 7.25%
การออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ก็เป็นไปตามที่ทั้ง FICCI และ ASSOCHAM ประเมินสถานการณ์ไว้ ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ต่ำลง เช่นเดียวกับราคาทองคำ ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงจนมาแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 5.96% ทำให้ธนาคารกลางพอมีช่องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง ขณะที่ PHD Chamber เห็นว่า ธนาคารกลางควรลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75%
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการไหลออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติม หลังจากช่วง เมษายน 2555 – กุมภาพันธ์ 2556 การลงทุน FDI จากต่างชาติลดลงไป 38% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ธนาคารกลางอินเดียเสนอให้มีมาตรการควบคุมการโยกย้านเงินทุน เพื่อให้เงินยังคงอยู่ในประเทศและมีการนำไปลงทุนในประเทศต่อไป
จากข้อมูลของธนาคารกลาง สถานะถึงวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในอัตราที่เติบโตน้อยลง โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินเชื่อภาคเกษตรเคยเติบโตที่อัตรา 13.3% ขณะที่ปีนี้เติบโต 8.1% ขณะที่สินเชื่อภาคบริการและภาคการเงิน (ที่ไม่ใช่ธนาคาร) เติบโตช้าลง 1% และเกือบ 10% ตามลำดับ
หลายฝ่ายเชื่อว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลางครั้งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยคลายความตึงเครียดของบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมได้ แต่ในขณะที่ราคาสินค้าทั่วไปในตลาดยังคงปรับตัวลดลงเรื่อยๆ หลายฝ่าย โดยเฉพาะตลาดหุ้นและตลาดเงินตรา ยังคงรอดูท่าทีของธนาคารกลางอินเดียว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียจะมีการประชุมเพื่อประเมินนโยบายทางการเงินกลางไตรมาส ในวันที่ 17 มิถุนายน นี้ ซึ่งน่าจะมีการประเมินผลของการประกาศลดดอกเบี้ยในครั้งนี้และความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปด้วย
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
10 พฤษภาคม 255
6