ระบบภาษีของอินเดีย
ระบบภาษีของประเทศอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่จัดว่ามีการจัดเก็บภาษีที่เป็นระบบ แม้จะยังมีความซับซ้อนอยู่บ้างในทางปฏิบัติ เพราะประเภทภาษีที่จัดเก็บหลากหลาย แต่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างภาษีที่เก็บโดยรัฐบาลกลาง และภาษีที่เก็บโดยรัฐบาลของแต่ละรัฐ โดยรัฐบาลกลางมีหน้าที่เก็บเพียงภาษีเงินได้ (income tax) (ยกเว้นเงินได้จากภาคเกษตรที่รัฐบาลรัฐสามารถจัดเก็บได้เอง) ภาษีศุลกากร (customs duties) ภาษีสรรพสามิตกลาง (central excise) และภาษีบริการ (service tax)
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อากรแสตมป์ (stamp duty) ภาษีสรรพสามิตของรัฐ ภาษีรายได้จากที่ดินและภาษีวิชาชีพ จะถูกเรียกเก็บโดยรัฐบาลของแต่ละรัฐ นอกจากนี้ หน่วยงานท้องถิ่นยังมีอำนาจในการเรียกเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ (property tax) ภาษีผ่านด่าน (octroi) และภาษีสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา และการกำจัดของเสีย เป็นต้น
ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ระบบภาษีของอินเดียได้ผ่านการปฏิรูปหลายครั้ง อัตราภาษีถูกปรับใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีถูกแก้ไขใหม่ให้สามารถปฏิบัติตามให้ง่ายขึ้น
1. ภาษีที่รัฐบาลกลางเป็นผู้เรียกเก็บ
1.1 ภาษีทางตรง
1.1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax on corporate income)
1.1.2 ภาษีเงินได้จากการขายหรือโอนหุ้น (Capital gain tax)
1.1.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal income tax)
1.1.4 มาตรการจูงใจด้านภาษี (Tax Incentives)
1.1.5 สนธิสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Taxation Avoidance Treaty)
1.1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax on corporate income)
ตามประมวลรัษฎากร (Income Tax Act) บริษัทที่มีถิ่นพำนักในอินเดีย (resident – incorporated in India or if it’s control and management is situated entirely in India) จะต้องเสียภาษีเงินได้จากรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากแหล่งหรือสำนักงานใดในโลก สำหรับบริษัที่ไม่มีถิ่นพำนักในอินเดีย แต่มีการดำเนินธุรกิจจนเกิดรายได้ในอินเดีย จากการติดต่อประสานงานกับบริษัทอินเดีย หรือ มีรายได้จากแหล่งในประเทศอินเดีย จะต้องเสียภาษีเงินได้ดังกล่าว
บริษัทท้องถิ่นจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราเบื้องต้น 35% บวก surcharge อีก 2.5% ขณะที่บริษัทต่างชาติเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 40% บวก surcharge 2.5% นอกจากนี้ ยังมีภาษีที่เรียกว่า Education Cess ซึ่งเก็บเพิ่มอีก 2% ของภาษีที่ต้องจ่าย บริษัทยังต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่ง 1% หากมีทรัพย์สินรวมมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านรูปี (ประมาณ $28,000) บริษัทท้องถิ่นอินเดียยังต้องจ่ายภาษีเงินปันผล (divided distribution tax) ในอัตรา 15% ด้วย
บริษัทยังจ่ายภาษีขั้นต่ำทางเลือก (Minimum Alternative Tax) ในอัตรา 7.5% (บวก surcharge และ edu. cess) ของผลกำไร หากภาษีที่เสียให้รัฐโดยการคำนวนปกติมีค่าน้อยกว่า 7.5% ของกำไรที่นำมาคิดภาษี
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจยกเลิกการเก็บ surcharge กับบริษัทที่มีเงินได้ต่ำกว่า 10 ล้านรูปี
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.incometaxindia.gov.in/
1.1.2 ภาษีเงินได้จากผลกำไรการถือครองทรัพย์สิน (Capital gain tax)
เงินได้จากการถือครองทรัพย์สินในระยะยาวจะถูกเรียกเก็บภาษีหาก:
- ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในครอบครองเกินกว่า 3 ปี
- ในกรณีการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในอินเดีย หรือ กองทุนร่วม (units of specified mutual fund) หากถือครองทรัพย์สินดังกล่าวมากกว่า 1 ปี
โดยในทั้งสองกรณี ผู้ถือครองจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ส่วนเงินได้จากการขายทรัพย์สิน เช่น หุ้น หรือ กองทุนร่วม จะได้รับยกเว้นจากการเสียภาษี
สำหรับการถือครองทรัพย์สินในระยะสั้น ผลกำไรที่ได้จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ในขณะที่การขายหรือโอนทรัพย์สินประเภทนี้จะถูกเรียกเก็บภาษี 10%
1.1.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal income tax)
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะถูกเรียกเก็บโดยรัฐบาลกลาง ควบคุมโดย Central Board of Direct Taxes ภายใต้กระทรวงการคลัง ตามข้อบัญญัติประมวลรัษฎากร โดยมีอัตราการเก็บภาษี ดังนี้
เงินได้ต่อปี (รูปี) | อัตรา % |
0-100,000 | ไม่เก็บภาษี |
100,000-150,000 | 10 |
150,000-250,000 | 20 |
250,000 หรือมากกว่า | 30 |
โดยสำหรับบุคคลที่มีเงินได้เกินกว่า 850,000 รูปี จะต้องเสีย surcharge เพิ่มอีก 10% ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสียทั้งหมด
ทั้งนี้ อินเดียให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีสำหรับกลุ่มสตรีและคนชรา โดยสตรีที่มีเงินได้ไม่เกิน 145,000 รูปี ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี สำหรับคนชราเงินได้สูงสุดที่ไม่ต้องเสียภาษีคือ 195,000 รูปี และสามารถลดหย่อนภาษีได้จากการทำประกันสุขภาพ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (Withholding tax)
อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลที่ไม่มีถิ่นพำนักในอินเดีย ได้แก่
ก) ดอกเบี้ย หัก 20 %
ข) เงินปันผลจากบริษัทอินเดีย ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ค) ค่าสิทธิ (royalties) 10%
ง) การให้บริการทางเทคนิค 10%
จ) การให้บริการอื่นๆ 30% สำหรับบุคคล และ 40% สำหรับบริษัท
อัตราดังกล่าว เป็นอัตราสำหรับบุคคลสัญชาติประเทศที่อินเดียไม่มีความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนด้วย
1.1.4 มาตรการจูงใจด้านภาษี (Tax Incentives)
รัฐบาลอินเดียมีมาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับ
- ผลกำไรของบริษัท
- ค่าเสื่อมสภาพในอัตราเร่ง (Accelerated depreciation allowance)
- การลดหย่อนค่าใช้จ่ายในบางกรณี
มาตรการเหล่านี้มีข้อแม้ในกรณีต่างๆ และใช้ได้กับการลงทุนในสาขาดังต่อไปนี้
- โครงสร้างพื้นฐาน
- พลังงาน
- การบริการโทรคมนาคมบางประเภท
- การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- การผลิตและกลั่นน้ำมัน
- การลงทุน R&D
- โครงการบ้านและที่อยู่อาศัย
- การลงทุนในรัฐบางรัฐ
- การแปรรูปอาหาร
- โรงพยาบาลในชนบท ฯลฯ
1.1.5 ความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน
อินเดียมีความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับ 65 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยสำหรับบุคคลสัญชาติที่มีความตกลงนี้กับอินเดีย อัตราภาษีต่างๆ จะเป็นไปตามที่ความตกลงนี้กำหนด โดยบริษัทอินเดียจะได้รับเงินภาษีที่จ่ายในประเทศนั้นๆ คืน เมื่อทำการยื่นเสียภาษีในแต่ละปี ไทยและอินเดียมีความตกลงดังกล่าว ลงนามตั้งแต่ปี 2528 (อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้)
1.2 ภาษีทางอ้อม
1.2.1 ภาษีสรรพสามิต (Excise Duty)
1.2.2 ภาษีศุลกากร (Customs Duty)
1.2.3 ภาษีบริการ (Service Tax)
1.2.4 ภาษีธุรกรรมหุ้น (Securities Transaction Tax)
1.2.1 ภาษีสรรพสามิต (Excise duty)
สินค้าที่ผลิตในอินเดียจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต ตาม พรบ. สรรพสามิต Central Excise Act 1944 และ Central Excise Tariff Act 1985 โดยนิยามของสินค้าที่อยู่ในข่ายกฎหมายนี้ คือ สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ กล่าวคือ มีชื่อเรียก ลักษณะ การใช้งาน และการตลาด รวมถึงหีบห่อที่ไม่ซ้ำกับสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 16% สินค้าบางอย่างอาจต้องเสียมากกว่า โดยจะมีค่า Education Cess เพิ่มอีก 2%
สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันเบนซินและดีเซล ภาษีสรรพสามิตอยู่ที่อัตรา 6% ขณะที่สินค้าบางประเภทได้รับการส่งเสริม ก็จะมีภาษีสรรพสามิตที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารบางประเภท ร่ม และรองเท้า เป็นต้น ขณะที่น้ำมันไบโอดีเซล ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เช่นเดียวกับอุปกรณ์กรองน้ำบางประเภทและท่อน้ำบางขนาด
สำหรับผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น บุหรี่ จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานที่ดูแลการเก็บภาษีสรรพสามิตได้แก่ Central Board of Excise and Customs (http://www.cbec.gov.in/)
1.2.2 ภาษีศุลกากร (Customs duty)
ภาษีศุลกากรของอินเดีย เป็นไปตาม พรบ. ศุลกากร Customs Act 1962 และ Customs Tariff Act 1975 โดยสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศอินเดียจะต้องเสียภาษีศุลกากรและ Education Cess. อัตราศุลการกรขั้นพื้นฐานสูงสุดอยู่ที่ 15% สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ภาษีศุลกากรอื่นๆ เพิ่มเติมมีค่าเท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิต เปรียบเสมือนสินค้านั้นผลิตในอินเดีย โดยการคำนวนจะใช้ราคาสินค้าที่ปรากฏในการซื้อขายนั้น
ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศที่อินเดียมีความตกลงเขตการค้าเสรีด้วย ได้แก่ ประเทศไทย ศรีลังกา BIMSTEC และประเทศในเอเชียใต้ และ MERCOSUR สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.cbec.gov.in/
ทั้งนี้ สินค้าที่ได้รับการส่งเสริมการนำเข้าจากต่างประเทศ จะได้รับส่วนลดภาษีศุลการกร โดยตรวจสอบอัตราได้จากเว็บไซต์เดียวกันนี้ สินค้าที่สำคัญที่ได้รับส่วนลด ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับระบบชลประทาน อุปกรณ์การแพทย์ น้ำมันพืช อาหารสัตว์ เภสัชกรรมและไบโอเคมี
1.2.3 ภาษีบริการ (Service tax)
ภาษีบริการของอินเดียมีอัตรา 10% บวก Education Cess 2% สำหรับบริการบางประเภท ภาษีบริการจะถูกยกเว้นหากผู้ให้บริการได้รับค่าบริการเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และเงินนั้นได้ถูกนำออกนอกประเทศ ทั้งนี้ ภาษีบริการถูกยกเส้นหากผู้ให้บริการเป็นบริการรายย่อย รายได้ไม่เกิน 8 แสนรูปีต่อปี
นอกจากนี้ รัฐยังจะเรียกเก็บภาษีบริการจากการจ้างเหมาบริการ (outsource) ในสาขาการทำเหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการทำธุรกิจ การให้บริการข้อมูลในการโทรคมนาคมและโฆษณา บริการจัดการทรัพย์สิน การออกแบบ
รายละเอียดเพื่อเติมที่ http://www.servicetax.gov.in/
1.2.4 ภาษีธุรกรรมหุ้น (Security transaction tax)
การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นและหน่วยกองทุนต่างๆ ในตลาดหุ้นที่ได้รับการรับรองจะต้องเสียภาษีในอัตรา ดังนี้
- Delivery base transactions ของหุ้นหรือหน่วยกองทุน 0.075%
- การขายหน่วยกองทุนให้กับกองทุนร่วม 0.15%
- Non delivery base transactions 0.015%
- ผู้ขายตราสารอนุพันธ์ Derivatives (futures and options) seller 0.01%
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.incometaxindia.gov.in/
2. ภาษีที่รัฐบาลแห่งรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้เรียกเก็บ
2.1 ภาษีการขาย หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Sales tax/VAT)
ภาษีการขายจะถูกเรียกเก็บจากการขายสินค้าที่เคลื่อนที่ได้ (movable goods) รัฐส่วนใหญ่ในอินเดียได้แทนที่ภาษีการขายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2549 โดยอัตรา VAT มีทั้งสิ้น 4 ระดับ ได้แก่
- 0% สำหรับสินค้าจำเป็น
- 1% สำหรับเงิน ทองและหินมีค่า
- 4% สำหรับวัตถุดิบอุตสาหกรรม และเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต และสินค้าสำหรับการบริโภคมวลชน
- สำหรับสินค้าที่นอกเหนือจากนี้ จะต้องเสีย VAT ที่อัตรา 12.5%
- สินค้าประเภทปิโตรเลียม ยาสูบ และแอลกอฮอล์ จะมี VAT สูงต่ำต่างกันไปในแต่ละรัฐ
2.2.1 ภาษีเทศบาล หรือ ภาษีท้องถิ่น (Municipal/Local Taxes)
2.2.2 ภาษีของรัฐ เช่น ภาษีอากรการนำเข้าทรัพย์สิน ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีรายได้จากการเกษตร และภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury tax)