ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 78)
ความตกลงประกันสังคมไทย-อินเดีย
ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคมลที่ผ่านมา นายอารักษ์ พรหมณ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) นำทีมข้าราชการจาก สปส.พร้อมเจ้าหน้าที่บีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศ
บินลัดฟ้ามาอินเดียให้สถานทูตไทยในนิวเดลีเป็นหัวหอกนำไปจับเข่าคุยกับ Mr.Atul KumarTiwari อธิบดีประจำกระทรวงกิจการอินเดียโพ้นทะเล (Ministry of OverseasIndian Affairs) เพื่อหาทางในการจัดทำความตกลงประกันสังคมร่วมกัน
ถือเป็นการหารือร่วมกันรอบที่ 2 หลังจากคณะผู้แทนสำนักงานประกันสังคมได้เคยเข้าหารือกับอธิบดีคนเดิมแล้วเมื่อเดือนธันวาคม2554 ระหว่างการเยือนอินเดียของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาประชุมคณะกรรมาธิการร่วม(Joint Commission) หรือ JC ครั้งที่ 6 เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ในหลายๆ เรื่องที่ 2 ฝ่ายติดค้างกันและต้องการความคืบหน้า
เรื่องความร่วมมือประกันสังคม เป็นประเด็นร้อนที่หน่วยงานทีมประเทศไทยรวมถึงสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ในอินเดีย ติดตามมาโดยตลอด เพราะเป็นความต้องการของภาคเอกชนไทยหลายรายในอินเดีย ในการเยือนอินเดียทั้ง 2 ครั้งในปี 2555 นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ชินวัตร ก็พูดยํ้าให้ความสำคัญเรื่องนี้กับภาคเอกชน และเร่งภาคราชการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ความสำคัญของความตกลงประกันสังคมไทย-อินเดีย ที่กำลังจะเริ่มการเจรจาเร็วๆ นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลโดยตรงกับภาคเอกชนไทยที่มาลงทุนทำธุรกิจในอินเดียอยู่แล้ว แต่จะมีความสำคัญต่อภาพรวมของลูกจ้างและแรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศด้วย
อินเดียเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาก่อนไทย เพราะจำนวนประชากรอินเดียโพ้นทะเล (OverseasIndians) มีสูงถึง 25 ล้านคน มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของอินเดียที่มีต่อโลก และในบางประเทศชาวอินเดียโพ้นทะเลก็เข้าไปมีบทบาทและมีอิทธิพลในทางการเมือง
ชาวอินเดียถูกส่งออกไปเป็นแรงงานในต่างประเทศมากที่สุดในช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษปกครองอินเดีย มีการตั้งรกรากอย่างกลมกลืนกับชุมชนท้องถิ่น กระทรวงกิจการอินเดียโพ้นทะเลหรือ Ministry of Overseas IndianAffairs ที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2547 จะดูแลคนอินเดียหรือผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียในต่างประเทศเหล่านี้ รวมถึงลูกจ้างสมัยใหม่ที่มีศักยภาพ 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะสูง เช่น ด้านไอทีการแพทย์ กลุ่มแรงงานทักษะ และกลุ่มนักเรียน ที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญา ที่ส่วนใหญ่ไปอาศัยทำงานอยู่ในประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และอีกกลุ่มคือแรงงานที่มีทักษะและไร้ทักษะจำนวนมากที่ทำงานในตะวันออกกลางและเอเชีย เช่นมาเลเซีย
หลายประเทศที่คนอินเดียไปทำงานมีการตั้งกฎเหล็กเรื่องประกันสังคมที่แรงงานต่างชาติต้องจ่ายเงินสมทบ ทำให้คนอินเดียเสียประโยชน์เนื่องจากอายุการทำงานไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมของประเทศที่ทำ งานอยู่ เพราะไม่สามารถถอนเงินสมทบเมื่อหมดสัญญาทำงานหรือจะต้องกลับบ้านที่อินเดียหรือย้ายไปทำงานต่อในประเทศอื่น
เมื่อเดือนตุลาคม 2552 อินเดียจึงออกระเบียบประกันสังคมฉบับใหม่ที่ใช้เฉพาะแรงงานนานาชาติขึ้น เพื่อบังคับให้แรงงานต่างชาติในอินเดียเข้าสู่ระบบประกันสังคมของตนเองเช่นกันต่อมาในเดือนตุลาคม 2554 ก็ปรับข้อกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต่างชาติจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราที่สูงขึ้น ตั้งข้อกำหนดว่าจะถอนเงินสมทบได้ก็ต่อเมื่ออายุครบ 58 ปี และที่สำคัญคือเงินในกองทุนบำนาญ (กองทุนของอินเดียมี 2 ส่วนคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนบำนาญ (Pension Fund) ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต้องรับผิดชอบจ่ายทั้ง 2 กองทุน) จะถอนออกได้ก็ต่อเมื่อแรงงานนั้นมาจากประเทศที่มีความตกลงประกันสังคม (Social SecurityAgreement - SSA) กับอินเดีย
แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานอินเดียเริ่มเล่นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์แก่แรงงานของตนในต่างประเทศ สอดคล้องกับการส่งเสริมให้แรงงานอินเดียไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการรวมเรื่องการเปิดเสรีแรงงานเข้าไปในความตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและFTA กับหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่นศรีลังกา แคนาดา มอริเชียส
หลายประเทศเริ่มไหวตัวทำความตกลง SSA กับอินเดีย เพราะประเทศเหล่านั้นก็มีแผนเข้ามาลงทุนและส่งแรงงานของตนเองเข้ามาทำงานในอินเดียเช่นกัน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนีเนเธอร์แลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดนประเทศสำคัญอื่นๆ เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับอินเดียในเรื่องนี้
ลูกจ้างและบริษัทไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร?
ปัจจุบันนี้ มีลูกจ้างอินเดียที่ทำงานในไทยและอยู่ในระบบประกันสังคมของไทยกว่า 3,600 คน ในขณะที่ลูกจ้างไทยที่ทำงานในอินเดียที่มีจำนวนราว 1,300 คน ได้รับผลกระทบจากกฎเหล็กที่อินเดียตั้งไว้ทำให้ลูกจ้างในบางบริษัทที่มีกิจการใหญ่ๆ ของไทยในอินเดีย ไม่สามารถถอนเงินสมทบได้และค้างอยู่ในระบบของอินเดีย บางบริษัทสูงถึง 300 ล้านรูปี
เงินจำนวนนี้ นอกจากจะกระทบกับตัวลูกจ้างชาวไทยที่ทำงานในอินเดียแล้ว เพราะเหมือนเงินออมที่ฝากไว้ที่อินเดียไม่สามารถถอนคืนได้เมื่อต้องกลับประเทศ ก็กระทบกับศักยภาพการแข่งขันของบริษัทไทยในตลาดอินเดียที่มีโอกาสมากมาย เพราะเป็นภาระของบริษัทที่ต้องกันเงินทุนส่วนหนึ่งไว้จ่ายเข้าระบบประกันสังคมของอินเดียให้ลูกจ้างคนไทย
เป็นเรื่องน่ายินดีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทำงานร่วมกับทีมประเทศไทยในอินเดียและกรุงเทพฯอย่างแข็งขันและกระตือรือร้น เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้คืบหน้า ซึ่งจะต้องเริ่มจากการแก้ไขกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เสียก่อน เพื่อให้ลูกจ้างคนไทยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของไทยต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายเข้ากองทุนของอินเดีย และในขณะเดียวกันก็จะเปิดช่องให้มีการโอนเงินผลประโยชน์ที่ลูกจ้างไทยได้จ่ายไปแล้ว กลับมาให้ลูกจ้างที่หมดสัญญาและเดินทางกลับประเทศหรือไปทำงานต่อที่อื่นคาดว่าภายในปลายปี 2556 นี้ การเจรจาอย่างจริงจังเพื่อจัดทำ SSAร่วมกันน่าจะตกลงกันได้ หากสำเร็จภาคเอกชนก็จะเบาใจได้มากขึ้นเพราะอุปสรรคในการทำธุรกิจในอินเดียถูกแก้ไขไปแล้วหนึ่งเปลาะเป็นการปูทางให้เอกชนและธุรกิจไทยรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเก็บเกี่ยวโอกาสในอินเดียต่อไป
การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังเป็นการปฏิรูปการทำงานของภาคราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานประกันสังคม สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ในอินเดียและกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด
หากสำเร็จ SSA ฉบับนี้ระหว่างไทย-อินเดีย จะเป็นฉบับแรกของไทย ซึ่งอาจจะเบิกทางไปสู่การทำ SSA กับประเทศอื่นๆ เพื่อปกป้องประโยชน์ของลูกจ้างและแรงงานไทยในต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอกชนไทยในตลาดโลก ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร thaiindia.net จะนำมารายงานต่อไป
โดย คณิน บุญญะโสภัต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,845 วันที่ 19-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556