กรุงเทพธุรกิจ: Inside India (ท่องเที่ยวไทย : ของดี มีคุณค่า ราคาต้องแพงขึ้น)
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการรายงานผลสำรวจประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอินเดียในปี 2555 จัดทำโดยผู้ให้บริการท่องเที่ยวระดับโลก ปรากฏว่า ใน 10 อันดับแรกเป็นของไทยถึง 3 แห่ง คือ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต
ที่สำคัญกรุงเทพฯ ได้รับโหวตเป็นเมืองยอดนิยมอันดับหนึ่ง ตามด้วยสิงคโปร์ ดูไบ พัทยา ฮ่องกง ลอนดอน ภูเก็ต นิวยอร์ก กัวลาลัมเปอร์ และลาสเวกัส
สาเหตุที่ไทยได้รับความนิยมตามเหตุผลที่ประมวลโดยเว็บไซต์ Hotels.com นี้ คือ ราคาคุ้มค่าเงินเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย และสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีกลายมีชาวอินเดียกว่าหนึ่งล้านคนเดินทางมาเที่ยวบ้านเรา ซึ่งทำให้อินเดียเขยิบขึ้นมาเป็นอันดับ 6 รองจากจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้
และไม่น่าแปลกใจว่า ปีกลายไทยได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศที่ดีที่สุด รางวัลประเทศสถานที่จัดงานแต่งงานในต่างประเทศดีที่สุดจากนิตยสาร Travel and Leisure รางวัลสถานที่ถ่ายทำหนังในต่างประเทศที่ดีที่สุดจากงาน Cinemascapes 2012 (อินเดีย) หรือรางวัลสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในแง่ความคุ้มเงินจากการสำรวจโดย Lonely Planet (India edition)
เมื่อพิจารณาความสะดวกสบายของการเชื่อมต่อการเดินทางโดยเครื่องบิน ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยม กล่าวคือ อินเดียและไทยมีเที่ยวบินตรงเชื่อมต่อกันถึง 154 เที่ยวต่อสัปดาห์ ราคาตั๋วโดยสารบางทีถูกกว่าบินภายใน ประเทศด้วยซ้ำ
การบินไทยได้เห็นความสำคัญของตลาดอินเดียมากว่า 50 ปี ที่เปิดเที่ยวบินเชื่อมกัลกัตตาเป็นเมืองแรกๆ ปัจจุบันนอกจากบินเชื่อมกับ 6 เมืองใหญ่ทั่วอินเดียแล้ว ไทยสมายล์ยังเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างอาห์เมดาบัด-กรุงเทพฯ นิวเดลี-ภูเก็ต และมุมไบ-ภูเก็ตตั้งแต่ต้นเมษายนเป็นต้นมา ผลการตอบรับดีขนาดต้องเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ และกำลังสำรวจจุดเพิ่มของไทยสมายล์อีก
คำแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อสัปดาห์ก่อนที่กรุงเทพฯ ก็สะท้อนความมุ่งมั่นที่ทั้งสองฝ่ายจะขยายการเชื่อมโยงทั้งทางอากาศ ถนนและทะเลเพิ่มเติม
ในแง่การทำงานของตัวแทนภาครัฐบาลในอินเดียที่เรียกว่าทีมประเทศไทย ก็ได้เน้นเรื่องข้างต้นเป็นวาระสำคัญยิ่งที่สถานทูต สำนักงาน ททท. และสำนักงานการบินไทย ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โชคดีของไทยที่ตัวแทนสำนักงาน ททท. ทั้งที่กรุงนิวเดลีคือ คุณรัญจวน ทองรุต และที่มุมไบคือ คุณเศรษฐพันธ์ พุทธานี กับทีมงานของการบินไทย นำโดย คุณกรกฏ ชาตะสิงห์ ต่างเป็นคนมีความสามารถ มุ่งมั่นในการทำงาน และทำงานกันเป็นทีม
ปีกลาย สวนหลังทำเนียบไทยในกรุงนิวเดลี ได้ถูกเนรมิตเป็นศาลาไทยสุดหรูสำหรับงาน A Night of Silk and Jewels เพื่อเสนอแฟชั่นผ้าไหมไทยและเครื่องประดับไทยที่เป็นของดีมีระดับต่อแขกรับเชิญชาวอินเดียที่มีรสนิยมของแพง โดยการร่วมมือระหว่างทีมประเทศไทยกับ Lotus Arts de Vivre จากประเทศไทย
แม้งานแข่งโปโลกลางกรุงนิวเดลีที่ไฮโซอินเดียนิยมไปกัน โลโก้ ททท.และไทยสมายล์อยู่ทาบรัศมีกับโลโก้สินค้าแบรนด์เนมระดับมหาเศรษฐีของฝรั่ง
เมื่อทีมประเทศไทยได้มีโอกาสรายงานเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รอง นรม./รมว.คลัง และผู้บริหารกระทรวงการคลังเมื่อไม่นานมานี้ เป็นที่น่ายินดีว่าความเห็นของท่านสอดรับกับความเห็นทีมประเทศไทยเหมือนเล่นดนตรีโน๊ตเดียวกัน
ประการแรก อินเดียเป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญที่จะมีแต่ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่ ททท. ทำอยู่ถือว่ามาถูกทางแล้ว คือเน้นกลุ่มผู้มีฐานะ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแบบครอบครัว งานแต่งงานของเศรษฐี หรือท่องเที่ยวแบบเสริมสุขภาพและกอล์ฟ กลุ่มคนเหล่านี้พร้อมจะจับจ่ายไม่อั้นถ้าถูกใจ
ประการที่สอง ตัวเลขชี้วัดน่าจะเป็นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งน่าดีใจว่า ททท. ได้มีตัวเลขชี้วัดด้านนี้ชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวอินเดียมีสถิติการใช้เงิน 5,281 บาท ต่อคนต่อวัน รวมค่าใช้จ่ายทั้งปีมากกว่า 37,228 ล้านบาท สูงเป็นอันดับสามรองจากสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย
ประการสุดท้าย เป็นแนวคิดที่รอง นรม.และขุนคลัง เสนอเองว่ารัฐบาลน่าลองทำ คือการออกวีซ่าท่องเที่ยวแบบเข้าออกได้หลายครั้ง มีอายุ 5 ปี - 10 ปี
ฝ่ายสถานทูตขานรับว่า การเก็บค่าวีซ่าระยะยาวแก่นักท่องเที่ยวอินเดีย และอาจขยายไปถึงนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ที่มาไทยแบบไม่เสียค่าวีซ่าเลย จะทำให้รัฐบาลไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละหลายหมื่นล้านบาท จะทำให้งานเอกสารแผนกวีซ่าลดลง และฝ่ายไทยอาจโดยสารภาระตรวจสอบของอังกฤษ/สหรัฐฯ ว่า ใครก็ตามที่ได้รับวีซ่าเข้าอังกฤษ/สหรัฐฯ ระยะยาว 5 - 10 ปี แล้ว สถานทูตไทยก็ไม่ควรเสียเวลาตรวจสอบเอกสาร เอาเวลาไปตรวจสอบคัดกรองคนที่ดูน่าจะมีเจตนาแฝงคงมีประโยชน์กว่า
คนไทยเวลาจะไปเที่ยวเมืองนอกบางประเทศ แทบจะต้องหาเส้นสายวิ่งเต้นกราบกรานกันเพื่อให้ได้วีซ่า แม้จะเก็บค่าวีซ่าอีกสูงลิบ ประเทศเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 40-50 ล้านคน อนึ่ง ยังมีรายงานข่าวอีกว่าอังกฤษจะเริ่มมาตรการเก็บค่าบริการเล่มด่วนอีกห้าหมื่นรูปีหรือสามหมื่นบาท นอกจากค่าวีซ่าที่แพงลิบอยู่แล้วจากนักธุรกิจอินเดียที่ต้องการได้วีซ่าภายในวันเดียวกัน
น่าจะถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะหันไปเก็บค่าวีซ่าแบบมีอายุใช้งานได้นานๆ หลายปี ให้เกือบหรือเท่ากับที่เขาเก็บเรา แต่บริการให้สะดวกกว่า รวดเร็วกว่า คนเหล่านี้ว่างเมื่อไรก็สามารถมาเที่ยวไทยได้ทันที
เมื่อรัฐบาลได้เงินตรามหาศาลจากค่าวีซ่า ก็สมควรจะคืนบางส่วนให้เมือง ชุมชน วัดวาอาราม แม่น้ำ ท้องทะเล ชายหาด ป่าเขา อุทยาน และดูแลเรื่องความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวมีความอุ่นใจในบ้านเรายิ่งขึ้น เพราะปัจจัยเหล่านี้ บวกความเป็นไทยในด้านศิลปะ วัฒนธรรม อาหารและอัธยาศัยน้ำใจต่างหากที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศยอดนิยมของอินเดียและชาติอื่นๆ ตลอดไป
ทำเมืองไทยให้แพงขึ้นและปลอดภัยขึ้นเถอะ เขาพร้อมจะมาชื่นชมของดีๆ ในเมืองไทยอยู่แล้ว
พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
(ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India หน้าทัศนะวิจารณ์ วันที่ 5 มิถุนายน 2556)