ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 81)
บอลลีวูด ดินแดนสวรรค์ของคนทำหนัง
หากท่านผู้อ่านได้ติดตามคอลัมน์ "มองอินเดียใหม่" เมื่อสัปดาห์ก่อน คงได้ทราบกันไปแล้วว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียนั้น มีมากกว่าบอลลีวูดที่เราคุ้นหูกัน ชื่อเรียกอย่าง "ทอลลีวูด" และ "คอลลีวูด" ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียมีชื่อเสียงระดับโลก
แต่ถ้าจะถามว่าเหตุใด "บอลลีวูด" ที่มาจากคำว่า "บอมเบย์" สนธิกับ "ฮอลลีวูด" จึงยังเป็นที่รู้จักมากกว่าจนถูกใช้เรียกแทนหนังอินเดียทั้งหมดจนติดปาก ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะมาจากเมืองบอมเบย์หรือไม่ก็ตาม ก็คงต้องตอบว่า เป็นเพราะบอลลีวูดคือศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
เบื้องหลังของความสำเร็จก็คงมาจากการที่รัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองบอมเบย์ หรือ มุมไบนั้น ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในอินเดีย ประมาณ 40% ของประชากร (อินเดียมีภาษาทางการมากกว่า 20 ภาษา) มาตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน ทำให้ได้รับความนิยมสูงสุด และนำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรอย่างรวดเร็ว
โดยตั้งแต่เมื่อปี 2520 รัฐบาลของรัฐมหาราษฏระได้ก่อตั้งฟิล์มซิตี้ (Filmcity) บนพื้นที่กว่า 1,260 ไร่ มีโรงถ่ายทำหรือที่ภาษาวงการเรียกว่า "สตูฯ" 15 แห่ง ตลอดจนฉากในร่มและกลางแจ้ง ทั้งฉากธรรมชาติและประดิษฐ์รวม 46 ฉาก ลูกค้าหลักของฟิล์มซิตี้เป็นกองถ่ายภาพยนตร์บอลลี รายการโทรทัศน์และละครท้องถิ่น โดยมีกองถ่ายจากฮอลลีวูดแวะเวียนไปใช้บริการอยู่เนืองๆ
งานหลังการถ่ายทำ หรือ post production อย่างการตัดต่อ ทำ visual effects (VFX) ฯลฯ ก่อนจะได้ภาพยนตร์สำเร็จนั้น บุคลากรบอลลีวูดก็ไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะงานแอนิเมชันที่ค่อนข้างก้าวหน้าไปกว่าบ้านเรา นับตั้งแต่มีการผลิตแอนิเมชัน 2 มิติครั้งแรกในอินเดียเมื่อปี 2517 บริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันของอินเดีย อย่าง Prana Studio (มุมไบ) ของ Adlabs Entertainment Ltd. ก็ก้าวหน้าขนาดได้รับความเชื่อถือ ผลิตแอนิเมชันให้กับค่ายวอลท์ดิสนีย์ ทำงาน visual effects ร่วมกับสตูฯ ฮอลลีวูดชื่อดังหลายแห่ง
พักหลังบอลลีวูดเริ่มขยับขยายไปถ่ายทำหนังในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ส่วนประเทศไทยก็เริ่มได้รับความนิยม เพราะเมื่อเปรียบกับประเทศตะวันตก ไทยคุ้มค่ากว่าเห็นๆ จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เมื่อปี 2555 มีภาพยนตร์อินเดียมาถ่ายทำในไทยถึง 125 เรื่อง
เห็นอย่างนี้ วงการภาพยนตร์ไทยก็น่าจะลองเข้าไปชิมลางในบอลลีวูดดูซักหน่อย เพราะมีทั้งสตูฯ ที่ทันสมัยและมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ ราคาน่าจะย่อมเยา เร็วๆ นี้ ก็เห็นจะมีเพียงแต่ภาพยนตร์เรื่อง ปัญญาเรณู 3 ที่เข้าไปถ่ายทำในอินเดียและใช้นักแสดงอินเดียประกอบ และนักแสดงไทยบางคนที่พยายามไปแจ้งเกิดในภาพยนตร์บอลลีวูด
ในด้านธุรกิจโรงภาพยนตร์ในบอลลีวูด ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะยังมีพื้นที่ให้ขยับขยายได้อีกมาก เพราะปัจจุบันถือว่ามีอุปทานและการแข่งขันไม่มากนัก อย่างที่เมืองมุมไบ มีจำนวนจอภาพยนตร์เพียง 232 จอ หรือประมาณ 19 จอต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่มหานครอย่างนิวยอร์ก หรือเซี่ยงไฮ้มีจำนวนจอภาพยนตร์ 501 จอ (61 จอต่อล้านคน) และ 670 จอ (28 จอต่อล้านคน) ตามลำดับ ทำให้คุณภาพเมื่อเทียบกับราคาตั๋วหนัง ที่สูงพอ ๆ กับที่กรุงเทพฯ ยังเทียบไม่ได้กับในหลายประเทศ
โอกาสในการเข้าไปเติมเต็มช่องว่างธุรกิจนี้ในบอลลีวูดจึงยังมีอยู่มากโข เอกชนไทยก็ถือว่ามีความเชี่ยวชาญในธุรกิจและการบริหารจัดการโรงภาพยนตร์แบบ multiplex อยู่ไม่น้อย น่าจะลองศึกษาลู่ทางและโอกาสในด้านนี้ ทางที่ดีควรหาหุ้นส่วนอินเดียที่จะช่วยเจรจาพาที และช่วยแนะนำให้รู้จักกับวัฒนธรรมอินเดียอย่างการหยุดพักครึ่ง 10 นาทีระหว่างฉายภาพยนตร์ เพื่อทำการขายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้รับความนิยมโดยชาวอินเดียมาก
สุดท้าย ถ้าถามถึงโอกาสของภาพยนตร์ไทยในการท้าชนกับหนังบอลลีวูดในอินเดีย ก็ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะสังคมอินเดียมีความอนุรักษนิยมสูง และยังรักหนังประเภทร้องๆ เต้นๆ แต่พักหลังเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หนังบอลลีเริ่มมีกลิ่นอายตะวันตกทั้งในเนื้อหา และเทคนิคการถ่ายทำ แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ภาพยนตร์บู๊แอกชันสนั่นจอจากเมืองไทยอย่างต้มยำกุ้ง องค์บาก และเกิดมาลุย ก็เป็นที่นิยมในอินเดียพอสมควร ถือเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ประเภทนี้ขายได้ในตลาดอินเดีย
โปรดติดตามต่อในสัปดาห์หน้ากับเรื่องราวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากทางภาคใต้ของอินเดีย ที่รับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้บอลลีวูดแน่นอน
โดย สรยศ กิจภากรณ์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,853 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556