ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 82)
มนต์รักคอลลีวูด สีสันของภาพยนตร์อินเดียใต้
หากท่านได้ติดตามคอลัมน์ "มองอินเดียใหม่" ใน 2สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คงจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า ภาพยนตร์อินเดียในแต่ละภูมิภาคนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามแหล่งที่ผลิต วัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ในภูมิภาคต่างๆ ที่ทำให้แต่ละพื้นที่จะมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตัวเอง สัปดาห์นี้เราจะลองไปดูกันว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภาคใต้ของอินเดียนั้นมีอะไรให้น่าติดตาม
มนต์รักคอลลีวูด ภาพยนตร์รักดรามาที่นิยมของคนใต้
ภาคใต้ของอินเดีย ประกอบด้วยรัฐ 4 รัฐด้วยกัน คือ รัฐทมิฬนาฑู รัฐกรณาฏกะ รัฐอานธรประเทศ และรัฐเกรละ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวดราวิเดียน รูปร่างค่อนข้างเล็กและมีผิวคล้ำ แตกต่างกับชาวอินเดียทางเหนือที่จะสูงใหญ่และผิวขาวกว่า เพราะมีเชื้อสายเผ่าพันธุ์อารยันหรือเปอร์เชีย โดยรัฐในภาคใต้ใช้ภาษาหลัก 4 ภาษา คือ รัฐทมิฬนาฑูใช้ภาษาทมิฬ รัฐกรณาฏกะใช้ภาษากันนาดา รัฐอานธรประเทศใช้ภาษาเตลูกู และรัฐเกรละใช้ภาษามาลายาลัม
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทางอินเดียใต้ หรือที่เรียกรวมกันว่า คอลลีวูด (Kollywood) ก็คือหลายคนเชื่อว่าเป็นแหล่งที่ผลิตภาพยนตร์ได้มากที่สุดในประเทศ บางคนบอกว่า ถ้าพูดถึงจำนวนหนังที่ผลิตออกมา อาจสูงถึง 65 - 70% ของจำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตในอินเดียทั้งหมด มากกว่าที่ผลิตในบอลลีวูดหลายขุม แต่ด้วยผู้ชมที่มากกว่าทั้งในและนอกประเทศ เพราะใช้ภาษาฮินดีเป็นสื่อ ทำให้หนังบอลลีวูดได้รับความนิยมและทำเงินมากกว่า ขณะที่คอลลีวูดเน้นขายในตลาดภาษาท้องถิ่น
ในแง่ของรสนิยมการชมภาพยนตร์ของคนทางใต้ ส่วนใหญ่จะยังหลงใหลภาพยนตร์ดรามาสะท้อนชีวิต ประมาณเดียวกันกับละครน้ำเน่าของไทย เช่น มหากาพย์แห่งความรัก พระเอกและนางเอกหลงรักกันแต่ถูกกีดกันเพราะความยากจน คล้ายๆ กับ แผลเก่า หรือ มนต์รักลูกทุ่งของไทยในอดีต ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมภาพยนตร์สไตล์มนต์รักคอลลีวูดจึงมีอิทธิพลต่อคนทางใต้มาก เรียกได้ว่าฝังรากลึกในจิตวิญญาณของชาวอินเดียใต้กันเลยทีเดียว
ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปชมภาพยนตร์คอลลีวูดที่โรงหนังแห่งหนึ่งในเมืองเจนไน เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู เลยได้เห็นพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ที่ทำให้เชื่อเลยว่า คนอินเดียใต้นั้นอินกับภาพยนตร์มากจริงๆ เพราะในฉากบู๊ก็จะมีคนดูส่งเสียงเชียร์พระเอกกันดังลั่นโรง ฉากรักโรแมนติกก็จะมีการผิวปากแซวหรือปรบมือแสดงความยินดี หนักเข้าหากเพลงในหนังจังหวะถูกใจก็จะลุกขึ้นมาเต้นตามไปด้วย เรียกว่าได้บรรยากาศการชมภาพยนตร์แบบถึงพริกถึงขิงกันจริงๆ
ชยา ลลิตา อดีตนักแสดง ปัจจุบันเป็นผู้นำรัฐทมิฬนาฑู
ส่วนเรื่องความนิยมในตัวดารานักแสดง ที่ทางใต้ก็ไม่แพ้บอลลีวูดเช่นกัน ดารายอดนิยมของคอลลีวูดจะมีสถานะเปรียบเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ของประชาชนเลยก็ว่าได้ มีแฟนคลับเหนียวแน่นจำนวนมาก ขนาดที่มีแฟนบางคนแยกไม่ออกระหว่างตัวจริงนอกจอกับตัวละครในจอ ดาราดังๆ หลายคนถึงสามารถหันไปเล่นการเมืองจนประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างเด่นๆ ก็มีนางสาวชยา ลลิตา ชยาราม มุขมนตรีรัฐทมิฬนาฑูคนปัจจุบัน ที่อดีตเคยเป็นนางเอกดังของวงการภาพยนตร์ทมิฬนาฑูมาก่อน
เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์คอลลีวูดทางใต้ของอินเดียก็มีสีสันและได้ความนิยมไม่น้อยไปกว่าบอลลีวูดเลย ก็ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญหากเอกชนไทยในสาขานี้สนใจจะลองศึกษา ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่นโรงภาพยนตร์ ที่เหมือนกับบอลลีวูดคือยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ครบวงจรแบบ Entertainment Complex ภาพยนตร์คอลลีวูดก็เริ่มนิยมไปถ่ายทำในไทยมากขึ้นตามลำดับ น่าจะสร้างรายได้ให้ไทยได้อีกมากหากได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนไทย
สัปดาห์หน้าเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการร่วมฉลอง 100 ปี อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย เราจะปิดท้ายด้วยการพาท่านกลับไปเยือนแหล่งกำเนิดของภาพยนตร์อินเดียที่เมืองกัลกัตตา โปรดอย่าลืมติดตามกันนะครับ และหากท่านสนใจอ่านบทความตอนก่อนหน้านี้ สามารถหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ของเรา thaiindia.net
โดย ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,855 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556