กรุงเทพธุรกิจ: Inside India (ทูตควรเป็นเซลส์แมนหรือนักการตลาด)
ในยุคที่เศรษฐกิจไทยต้องแข่งขันกับทั่วโลก ทั้งด้านการส่งออก ลงทุน ท่องเที่ยว และหาวัตถุดิบ เช่น แหล่งพลังงาน แขนขากลไกของรัฐบาลที่เกี่ยวกับงานด้านต่างประเทศจึงได้รับการคาดหวังสูงว่า จะมีส่วนช่วยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจและภาคธุรกิจเอกชนโดยตรง
หัวหน้าแขนขาที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในต่างประเทศก็คือ เอกอัครราชทูต ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมประเทศไทย มีเพื่อนร่วมงาน นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็มักมีจากหน่วยราชการอื่นๆ เช่น จากกระทรวงกลาโหมที่เรียกว่าผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร จากกระทรวงพาณิชย์ ที่ควรเรียกว่า ผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์ เป็นต้น และอาจมีเสริมจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายการเกษตร อุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุน แรงงาน วิทยาศาสตร์และ ททท.
พวกเราที่อยู่กรุงเทพฯ มักได้เห็นการทำงานและการมีบทบาทของทูตต่างประเทศในบ้านเรา คอยวิ่งเต้นปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ทั้งของภาครัฐและเอกชนจากประเทศเขาในบ้านเราอยู่เนืองๆ
ทูตไทยของเราในต่างประเทศก็ทำงานไม่ต่างไปจากทูตต่างประเทศในบ้านเรา เพียงแต่ไม่ได้เห็นหรือสัมผัสได้เหมือนในกรุงเทพฯ
ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานของทีมประเทศไทยในอินเดีย พอพูดเต็มปากได้ว่า เน้นวาระงานเรื่องการส่งเสริมการส่งออก ลงทุนและท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกเหนือจากบทบาทโดยตรงของสถานทูตในเรื่องงานศาสนา วัฒนธรรม การศึกษาและการดูแลทุกข์สุขคนไทยในอินเดีย
หน้าที่แรกที่ตอบความต้องการเอกชนไทยคือการติดตามและกรองสถานการณ์ จับชีพจรเศรษฐกิจอินเดีย ชี้ช่องโอกาสผ่านทางเว็บไซต์ thaiindia.net ที่จัดทำขึ้นเพื่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดอินเดียโดยเฉพาะ
เมื่อพวกเราไปสำรวจโอกาสทางธุรกิจในรัฐราชสถาน ตอนแรกก็คิดว่าคงมีแต่มุมมองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่พอไปเห็นเข้าจริง กลับเป็นเรื่องพลังงานน้ำมันและก๊าซใต้ทะเลทรายที่น่าสนใจ จึงเสนอรายงานทั้งในเว็บไซต์ข้างต้น ในบทความ นสพ.ด้านเศรษฐกิจ แล้วยังส่งหนังสือพร้อมเอกสารข้อมูลตรงไปถึงผู้บริหาร ปตท.สผ.
หน้าที่ที่สองที่เอกชนไทยอยากได้รับบริการ คือ การใช้ตำแหน่งทูตที่ประเทศเจ้าภาพ เช่น อินเดียให้เกียรติอย่างมาก เปิดประตูให้นักธุรกิจไทยได้เข้าพบผู้นำรัฐบาลและเอกชนทั้งส่วนกลางและระดับรัฐ
เช่นที่ได้นำนักธุรกิจไทยเข้าพบมุขมนตรีรัฐคุชราต เพื่อหารือเรื่องการหาที่ดินตั้งโรงงานของนักลงทุนไทยที่ไม่ต้องปวดหัวเรื่องน้ำไฟไม่พอ หรือปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ ฯลฯ หรือการขอสนับสนุนต่างๆ เพื่อเปิดเที่ยวบินตรงของการบินไทยกับรัฐคุชราต
จากนั้นไม่นานบริษัทไทยชั้นนำบริษัทหนึ่งได้ตกลงจะตั้งโรงงานที่รัฐคุชราต ผลิตสินค้าจาน ชามเมลานินอันเป็นที่นิยมของแม่บ้านอินเดียแทนการส่งออกไปอินเดีย
น่าดีใจที่การบินไทยมีคนเก่งทำงานในอินเดีย ไทยสไมล์จึงได้เปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ – อัมเมดาห์บัด สัปดาห์ละ 2 เที่ยว กำลังขยายเป็น 4 เที่ยว เดือนตุลาคมนี้ โดยนายนรินทรา โมดี มุขมนตรี ตัวเก็งผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปีหน้า ยังหาเวลาเขียนหนังสือตอบทูตไทย ยืนยันว่า ข้อเสนอของการบินไทย / ไทยสไมล์ (เรื่องการลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินรัฐตน) จะได้รับการพิจารณาด้วยดี ตลาดธุรกิจการบินของอินเดียมีแต่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด การบินไทย / ไทยสไมล์ จึงควรมุ่งงานเชิงรุกเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดจุดบินตรงกับรัฐอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงต่อไป
หน้าที่ที่สามที่เอกชนไทยคาดหวังจากภาครัฐ คือการช่วยแก้ไขอุปสรรค เช่น การขอวีซ่าธุรกิจ/วีซ่าทำงานจากสถานทูตอินเดียในไทย และปัญหาการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมของอินเดีย ที่กว่าจะได้เงินคืนก็ต้องรอจนอายุ 58 ปี ซึ่งทั้งสองปัญหาก็ได้รับการแก้ไขไปหลายระดับแล้ว
นอกจากนี้ สถานทูตยังจ้างบริษัทที่ปรึกษาคอยช่วยแนะนำภาคเอกชนไทยเป็นรายๆ โดยเฉพาะ และมีอีกหลายกรณีที่ทูตไทยไปพูดแก้ต่างให้บริษัทก่อสร้างไทยหรือขอฝ่ายทางการอินเดียช่วยปัดเป่าอิทธิพลท้องถิ่นที่รบกวนอีกบริษัทของไทย
สำหรับผู้ประกอบการระดับเล็กหรือย่อยของไทย เช่น สินค้าผลไม้ โอทอป ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มที่สถานทูตมีใจให้มากกว่าบริษัทใหญ่ระดับอินเตอร์ในหลายด้าน เพราะบริษัทใหญ่ของไทยในอินเดียต่างมีสายป่านยาว มีเซลแมน มีนักการตลาด หรือแม้ห้องแสดงสินค้าพร้อม แต่ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย
งบประมาณที่สถานทูตได้รับ ถึงแม้จะจำกัด จึงมุ่งเน้นโครงการที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นหลัก และต้องชื่นชมว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และตัวแทนในต่างประเทศได้ทำงานได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้
ยกตัวอย่างคุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ผอ.อาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าประจำมุมไบ เป็นข้าราชการฉับไว ทำงานเชิงรุก คิดแล้วทำและทำงานเป็นทีมแบบไร้รอยต่อ
ภายหลังการไปบุกรัฐต่างๆ ด้วยกัน คุณอดุลย์จะเข้าไปตามเก็บเกี่ยว โดยลงไปที่ตัวสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น เพชร อัญมณี ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมประมง สำหรับผลไม้ไทยที่หลายๆ ชนิดเป็นที่นิยมของชาวอินเดียมีระดับ เช่น ลำไย มังคุด มะขาม ฝรั่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณอดุลย์ก็จัดการนำรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ที่พยายามใช้เทคโนโลยีปรับปรุงคุณภาพผลไม้ไทยไปกับผู้ประกอบการผลไม้ไทย พบหารือกับผู้นำเข้ารายใหญ่ของอินเดียถึงสองรายในวันเดียวกัน
สำหรับทูตไทยทั่วโลก รัฐมนตรีต่างประเทศได้มอบการบ้านให้สนับสนุนการส่งออกสินค้าหลักที่เป็นสินค้าเกษตรอย่างน้อยหนึ่งรายการ ที่อินเดีย ทั้งสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ นอกจากดำเนินโครงการต่างๆ ของตนแล้ว ยังจับมือร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ไม่ให้มีการทำซ้ำกัน แต่ใช้บทบาท จุดแข็งของแต่ละคนมาเสริมกันมาโดยตลอด
เอกอัครราชทูตมีจุดแข็งในวิชาชีพตรงความน่าเชื่อถือ และมักได้รับเกียรติอย่างสูงในสังคมนั้นๆ อยู่ในสถานะที่สามารถสร้างเครือข่ายระดับสูงและเข้าถึงผู้มีบทบาทในประเทศนั้นๆ ได้มากกว่าฝ่ายอื่นๆ ของไทย จึงสามารถทำหน้าที่ "ผู้นำเสนอประเทศไทย" ในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้อย่างมีความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญกว่าการพูดอย่างเดียวก็คือ ต้องสามารถมองทะลุว่า ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยอยู่ตรงไหนในประเทศนั้นๆ และจะต้องทำอะไร อย่างไร จึงจะได้เก็บเกี่ยวผลนั้นๆ
เมื่อรู้จักใช้จุดแข็งข้างต้นของตนให้เป็น รู้จักทำงานเป็นทีม เอกอัครราชทูตก็คงไม่ต้องเป็นเซลแมนหรือนักการตลาดในรายละเอียดของสินค้า เพราะมีภาคส่วนอื่นๆ ของไทยที่ชำนาญและทำได้ดีกว่า พร้อมจะรับลูกต่ออยู่แล้ว
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
(ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India หน้าทัศนะวิจารณ์ ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556)