ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 83)
ทอลลีวูด จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย
สัปดาห์นี้เรามาปิดท้ายการร่วมฉลองอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียครบ 100 ปี ด้วยการกลับไปยังถิ่นกำเนิดของภาพยนตร์อินเดียที่เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก เพื่อไปทำความรู้จักกับ "ทอลลีวูด" (Tollywood) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมที่ทำรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับอินเดียมากมายในปัจจุบัน
ท่านผู้อ่านคงยังพอจำได้ว่า ภาพยนตร์ได้เข้าไปในอินเดียครั้งแรกที่เมืองกัลกัตตา สมัยเป็นเมืองหลวงของอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ และชื่อ "ทอลลีวูด" ได้ถูกใช้กันมาก่อนที่จะมีคำว่า "บอลลีวูด" เสียอีก แต่แน่นอน เมื่อกาลเวลาผ่านไป "บอลลีวูด" และภาพยนตร์ภาษีฮินดีได้กลายเป็นกระแสหลักของภาพยนตร์อินเดีย "ทอลลีวูด" จึงค่อยๆ ถูกกลบรัศมีไป ด้วยกลุ่มคนดูที่จำกัดอยู่ที่ผู้ใช้ภาษาเบงกอลีในดินแดนรอบอ่าวเบงกอลเท่านั้น
แต่ถึงแม้ในภาพรวม "ทอลลีวูด" จะเทียบรุ่นกับ "บอลลีวูด" ไม่ได้แล้ว แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทอลลียังคงศักดิ์ศรีของความเป็นผู้บุกเบิก ที่ยังมีร่องรอยของความรุ่งเรืองให้ได้เห็นผ่านจอกันอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหนังทอลลีวูดยังมีผู้ชมอย่างกว้างขวาง จากการสัมภาษณ์ นาย Ajay Jhunjhunwala ผู้อำนวยการบริษัท Morpheus Media Ventures ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตหนังที่ใหญ่ที่สุดในทอลลีวูด ได้รับการยืนยันว่า ธุรกิจภาพยนตร์ทอลลีวูดเป็นธุรกิจที่ยังมีการแข่งขันสูงมาก มีหนังคุณภาพที่ถูกผลิตออกมาป้อนตลาดไม่ขาดสาย แต่ละเรื่องจะอยู่ในโรงภาพยนตร์ได้ไม่เกินสองสัปดาห์ก็จะถูกแทนที่ด้วยหนังใหม่
เอกลักษณ์ของภาพยนตร์ทอลลีวูดก็คงไม่หนีเรื่องเพลงภาษาและจังหวะเบงกอลี ที่สนุกสนานและเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ทำการชมภาพยนตร์ได้รับความนิยมและกลายเป็นกิจกรรมของคนในครอบครัว โรงภาพยนตร์แบบ Multiplex และ Entertainment Centre ที่รวมการช้อปปิ้ง สวนสนุกสำหรับเด็ก และร้านอาหารเข้าด้วยกันกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ โดยเฉพาะในกัลกัตตา แต่ด้วยตัวเลือกที่ยังไม่มีมากนัก ทำให้สนนราคาค่าตั๋วภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ประเภทนี้ยังถือว่าแพงอยู่ ตกที่ราคาประมาณ 200 กว่าบาทเลยทีเดียว
ถ้าพูดถึงเรื่องการไปถ่ายทำในต่างประเทศ ภาพยนตร์ทอลลีวูดก็เริ่มนิยมไปถ่ายทำภาพยนตร์ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและความเป็นอินเตอร์ให้กับหนัง สถานที่ถ่ายในต่างประเทศที่ผู้ผลิตหนังทอลลีวูดนิยมชมชอบก็คือประเทศไทยของเรานั่นเอง เพราะระยะทางที่ใกล้และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าไปถ่ายทำที่เมืองมุมไบด้วยซ้ำ ตึกสูงสวยๆ ในกรุงเทพหรือทะเลเมืองพัทยาของเราถือว่าช่วยเพิ่มสีสันให้ภาพยนตร์ได้ไม่น้อย อย่างหนังเรื่อง "Bye Bye Bangkok" (2011) ก็ไปถ่ายทำและตัดต่อที่เมืองไทย และเรื่อง "Rangbaaz" (2013) ที่มีพระเอกคนดังอย่างเทพ (DEV) แสดงนำ ก็กำลังถ่ายทำที่บ้านเรา
พระเอก Dev (เทพ) ผู้โด่งดังแห่งทอลลีวูด
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคอื่นๆ ของอินเดีย ความคลั่งไคล้หลงใหลในตัวนักแสดงก็ยังมีให้เห็นในระดับที่ช่วยให้นักการตลาดทำการโฆษณาสินค้าในอินเดียได้อย่างสะดวก พระเอกที่กำลังเป็นที่นิยมในทอลลีวูดอย่าง DEV ตอนนี้อยู่บนหน้าหีบห่อและป้ายโฆษณาสินค้าเกือบทุกรายการในกัลกัตตา ซึ่งก็คงไม่ต่างจากบ้านเรามากเท่าไหร่ ที่พระเอกดังอย่างณเดชน์ หรือเจมส์ จิรายุ ก็เวียนกันออกโฆษณาแทบทุกรายการ ก็คงเป็นสูตรที่คิดได้ไม่ยากหากสินค้าไหนอยากขายดีในแถบนี้ก็คงต้องหาวิธีติดต่อให้ดาราดังๆ มาเป็นแบรด์แอมบาสเดอร์ให้
ขณะนี้กำลังมีความพยายามของนักสร้างหนังทอลลีที่ต้องการทำให้ทอลลีวูด กลับมาฉายแสงอีกครั้ง โดยการสร้างกระแส Indian New Wave ทำภาพยนตร์ทางเลือก หรือ Parallel Cinema ที่ไม่เน้นการทำหนังเพื่อการพาณิชย์ แต่ทำหนังที่สะท้อนสังคม มีเนื้อหาสาระที่มาจากเรื่องจริงและจรรโลงสังคมมากขึ้น ซึ่งถือว่าทอลลีวูดขณะนี้เป็นผู้นำในด้านดังกล่าว เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทอลลีวูดจะกลับฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์อินเดียได้อย่างในอดีตเมื่อ 100 ปีก่อนหรือไม่
ท้ายนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้และเห็นสีสันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียที่ได้ขึ้นชื่อว่าโด่งดังไม่แพ้ฮอลีวูดของอเมริกาเลยแม้แต่น้อย และหวังว่าเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นจาก "บอลลีวูด" "คอลลีวูด" หรือ "ทอลลีวูด" จะสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านที่อยู่ในวงการหรือนอกวงการ ให้หันมามองอินเดียใหม่ ในฐานะแหล่งผลิตและตลาดภาพยนตร์ที่สำคัญ และมีผลประโยชน์ให้เอกชนไทยได้ลองไขว่คว้าไม่ใช่น้อย
โดย ภาณุภัทร ชวนะนิกุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2556