ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 85)
ผลไม้ไทยในอินเดีย โอกาสสดใสถ้าไปให้ถูกทาง
ช่วงนี้บ้านเราอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้มีผลไม้ออกมาให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวนำไปขายกันไม่ขาดมือ ถ้าลองเดินตามตลาดสดก็จะเห็นทั้งมังคุด ทุเรียน โดยเฉพาะเงาะผลใหญ่สีแดงจัดจ้านวางขายกันให้ดาษดื่น ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะต้องนำเรื่องผลไม้ไทยมาโยงใยกับอินเดียในคอลัมน์ "มองอินเดียใหม่" สัปดาห์นี้
ผู้อ่านหลายท่านที่ยังไม่เคยมาอินเดียก็อาจจะสงสัยว่า อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ภูมิประเทศและภูมิอากาศแตกต่างกันลิบโลดจากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก เขามีผลไม้อะไรวางขายให้ทานกันบ้าง และผลไม้ไทยจะพอมีโอกาสเข้าไปทำตลาดในอินเดียได้หรือไม่
จากการลองเดินสำรวจตลาดในเมืองต่างๆ ของอินเดียแบบผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องผลไม้เท่าไรนักของผู้เขียน ก็พอจะสรุปได้ว่า อินเดียมีผลไม้ท้องถิ่นให้เลือกรับประทานมากมายล้นเหลือจริงๆ มีตั้งแต่ผลไม้เมืองหนาวอย่างแอปเปิล องุ่น และสตรอเบอรี่ ไปจนถึงผลไม้เขตร้อนอย่างมะม่วง (มีเป็นร้อยๆ พันธุ์) มะละกอ หรือแม้แต่ละมุดและน้อยหน่าคล้ายบ้านเรา
แต่ผลไม้ไทยก็ใช่ว่าจะไม่สามารถขายได้ในอินเดีย เพราะทุกวันนี้เริ่มมีผลไม้ไทยให้เห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ มากขึ้น ซึ่งก็คงเป็นอานิสงส์จากความตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดีย ที่รวมเอาผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลำไย องุ่น มะม่วง แอปเปิล และทับทิม ไว้ในรายการสินค้าลดภาษี Early Harvest Scheme (EHS) ประกอบกับความพยายามส่งเสริมผลไม้ไทยของหน่วยงานราชการไทยในอินเดีย โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง
ที่ผ่านมา สคร. ก็ได้ทำงานเป็นทีมประเทศไทยกับทั้งสถานทูตและสถานกงสุลอย่างแข็งขัน จัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทยหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำผู้ค้าผลไม้ร่วมงานแสดงสินค้า การจัด in-store promotion ในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ รวมถึงการนำผู้ประกอบการไทยมาเจรจาซื้อขายกับฝ่ายอินเดีย โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะนำผลไม้ไทยบุกอินเดียเพื่อให้ผลประโยชน์ตกไปยังผู้ส่งออกและที่สำคัญที่สุดเกษตรกรไทย
แนวทางหนึ่งที่ทีมประเทศไทยในอินเดียใช้ในการส่งเสริมผลไม้ไทยในอินเดียคือการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผลไม้ไทยด้วยการสร้างแบรนด์ความเป็นผลไม้คุณภาพ แทนการขายแบบยกเข่งเน้นปริมาณแต่ไม่เน้นคุณภาพ ผลไม้ช้ำนอกช้ำในจากการขนส่งผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด ราคาขายก็สูงลิ่วเพราะต้องบวกค่ายี่ปั๊วซาปั๊วและค่าขนส่งยิบย่อย อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ สถานทูตไทยได้ร่วมมือกับสถานกงสุลและสคร. ประจำเมืองมุมไบ นำบริษัท สวิฟต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกผลไม้คุณภาพชั้นนำของไทยที่มาจากเครือข่ายของกรมส่งเสริมการเกษตร มีดีกรีเป็นถึงผู้นำผลไม้ไทยไปขึ้นห้างหรูในยุโรปและญี่ปุ่น แถมยังเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเลิศ ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งแบบไม่เอาเปรียบเกษตรกร ไปพบกับบริษัทค้าปลีกและนำเข้าผลไม้ยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ได้แก่ Future Group และ Reliance Retail ที่มุมไบ โดยสคร.ใช้เครือข่ายธุรกิจที่แน่นปึ้กกับบริษัททั้งสองจัดแจงนัดหมายให้ทั้งหมด
ผลที่ได้ก็ก็คือ บริษัท Future Group ซึ่งทำธุรกิจค้าปลีกใน 61 เมืองทั่วอินเดีย มีลูกค้ารวม 200 ล้านคนต่อปี เป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์อย่าง Foodhall แสดงความสนใจผลไม้คุณภาพของสวิฟต์ ผู้บริหาร Future Group ตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด จัดการแนะนำให้สวิฟต์รู้จักกับเอเยนต์นำเข้าผลไม้ของ Foodhall เสร็จสรรพ ซึ่งก็หวังว่าจะนำไปสู่การซื้อขายกันได้ในไม่ช้า
ขณะที่ Reliance Retail ซึ่งมีธุรกิจค้าปลีกมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะเน้นตลาดระดับล่าง-กลาง ให้ความสำคัญกับปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่การที่สวิฟต์มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร Reliance Retail ก็ทำให้เห็นช่องทางการค้าใหม่ Reliance Retail สนใจผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปประเภทอบแห้งของสวิฟต์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นเจรจาซื้อขายกันแล้ว และยังมีการพูดคุยถึงการตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ในอินเดียด้วย
แต่ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุด คือการได้เปิดประตูให้กับบริษัทผลไม้ไทยระดับคุณภาพให้มีโอกาสเข้าถึงตลาดอินเดียผ่านคู่ค้าที่มีระดับและเชื่อถือได้ ที่พร้อมจะนำเสนอผลไม้ไทยในฐานะผลไม้เกรดเอ ซึ่งก็ตรงตามเป้าของทีมประเทศไทยในอินเดีย บริษัทสวิฟต์เองก็ยืนยันว่า ผลไม้คุณภาพของไทยมีโอกาสสูงในตลาดอินเดีย เพียงแต่ต้องเข้าให้ถูกทางและทำการศึกษาตลาดและรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมให้ละเอียดรอบคอบ งานนี้หน่วยงานไทยในอินเดียจึงนับว่าไม่เสียประโยชน์ที่ใช้ภาษีคนไทยไปช่วยคนไทยด้วยกัน
การส่งเสริมผลไม้ไทยในอินเดียนั้นทำได้หลายทาง แต่การส่งเสริมผ่านเอกชนไทยที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพและมาตรฐาน ที่สำคัญมีความพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับตลาดใหม่ๆ น่าจะเป็นการ "เดินถูกทาง" ที่จะช่วยให้เราจะสามารถนำพาผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกได้แบบผู้ปลูกได้ ผู้ประกอบการได้ ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
โดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,861 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556