ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 86)
ถ้าใครเคยเดินทางทางเครื่องบินเข้าออกประเทศอินเดีย โดยเฉพาะแถบเมืองกัลกัตตา ก็คงจะคุ้นกับภาพชาวอินเดียที่ยืนออรอรับกระเป๋าที่สายพาน แบกขนถุง กล่อง กระเป๋าสารพัดพะรุงพะรังออกไปจากสนามบินกันให้ขวักไขว่
คนเหล่านี้ไม่ใช่ใครอื่นไกล พวกเขาก็คือ คนขนสินค้า ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้านอกระบบระหว่างไทยกับอินเดียที่น่าสนใจไม่น้อย มองอินเดียใหม่สัปดาห์นี้ จะมาไขข้อข้องใจว่า คนเหล่านี้เขาทำอะไร ขนอะไรกัน ทำไมต้องขนมาจากประเทศไทย และเราได้ประโยชน์อะไร
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ได้เริ่มมีกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียที่นิยมเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเลือกซื้อสินค้านำกลับไปขายในอินเดีย ในลักษณะเดียวกับที่คนไทยเคยนิยมไปขนสินค้าที่ฮ่องกง หรือซื้อตู้เย็นขนาดใหญ่จากสหรัฐฯ เพื่อกลับมาขายในไทยยังไงยังงั้น
เหตุผลที่เกิดเทรนด์การนำสินค้าไทยเข้าสู่อินเดีย ก็เป็นเพราะคนอินเดียเห็นว่า สินค้าไทยมีคุณภาพและมาตรฐานสากล หากสินค้าชิ้นนั้นๆ ผลิตในประเทศไทย หรือมีตรา Made in Thailand ก็จะให้ความรู้สึกมั่นใจได้ว่า ได้สินค้าดี มีคุณภาพ และจะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าของที่ผลิตในอินเดียหรือผลิตที่อื่น จึงทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยและสินค้าแบรนด์ไทย (Thailand Brand) เป็นที่นิยมชมชอบของชาวอินเดีย
การดำเนินธุรกิจการค้าแบบบินไปซื้อมาขายนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อพ่อค้าอินเดียเริ่มมีการผูกสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ขายในไทย ไม่ว่าจะเป็นที่พาหุรัดหรือประตูน้ำ ก็เริ่มมีการร่วมงานกันเป็นระบบมากขึ้น ปัจจุบัน ถึงกับมีการสั่งซื้อของล่วงหน้า บางรายถึงกับซื้อขายแบบใช้เครดิต แถมยังมีการนำสินค้าอินเดียมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าไทย (barter system) แบบดั้งเดิมด้วย
"คนขนของ" (Trader/carrier) จึงเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของคนอินเดียหรือคนไทยเชื้อสายอินเดียที่เดินทางด้วยเครื่องบินข้ามไปมาระหว่างไทย-อินเดีย เพื่อขนสินค้าต่างๆ ตามออร์เดอร์ของผู้ซื้อผู้ขาย โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-กัลกัตตา ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นเส้นทางสายไหมระหว่างไทยกับอินเดียไปแล้ว เพราะกัลกัตตาเป็นจุดกระจายสินค้าที่สะดวก ระยะทางใกล้กับไทยและค่าตั๋วเครื่องบินถูกที่สุด สินค้าสามารถจะถูกส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ในอินเดียได้ ไม่ว่าจะเป็นมุมไบ บังกะลอร์ หรือนิวเดลี ทั้งทางรถไฟและรถยนต์
สินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนอินเดียโดยมากจะเป็นของเล่นเด็กและเสื้อผ้า บ้างก็เป็นชุดส่าหรีที่นำผ้าไปจากอินเดียและนำมาผ่านการตัดเย็บที่ประณีตจากฝีมือคนไทยแล้วนำกลับไปขายต่อที่อินเดียในราคาแพงๆ แต่ที่ขาดไม่ได้ คือเสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้า ชุดชั้นในสตรี เรียกได้ว่ายืนยันความเป็น "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" ในสายตาคนอินเดียอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ สินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากไทยก็กำลังเป็นที่นิยม โทรทัศน์จอแบนแบบ LED ที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยี่ห้อโซนี่และซัมซุง เป็นที่ต้องการมากในตลาดอินเดีย เนื่องจากเมื่อเทียบราคากันแล้ว โทรทัศน์จากประเทศไทยรุ่นเดียวกันขนาดเท่ากันมีราคาต่างกันเกือบสองเท่า พอๆ กันกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต ทั้งระบบแอนดรอยด์และ iOS
การค้าผ่านคนขนของนี้จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ทั้งสินค้า แบรนด์ไทยและต่างชาติที่ผลิตในไทยได้ไปเติบโตในอินเดีย สร้างประโยชน์ให้กับผู้ผลิต ตลอดจนผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว โรงแรมหรือแม้แต่สายการบินที่ทำหน้าที่ขนคนเหล่านี้เข้าออกไทยปีละหลายหน (คนขนของส่วนมากเป็นลูกค้าบัตรทองของสายการบิน)
คนขนของกลุ่มนี้ไม่ได้ขนสินค้าไทยไปขายในอินเดียเท่านั้น พวกเขายังได้รับออร์เดอร์จากพ่อค้าไทยให้นำสินค้าจากอินเดียไปขายในไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ ข้าวบาสมาติที่ขึ้นชื่อของอินเดีย ผ้าส่าหรีของอินเดีย ตลอดจนงานศิลปะ เช่น พระพุทธรูป รูปหล่อพระพิฆเนศ ที่มีกลิ่นอายของศิลปะอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธแฝงอยู่
ไม่ว่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียจะก้าวหน้าไปเพียงใด คนขนของบนเส้นทางสายไหมระหว่างไทย-อินเดียนี้ก็น่าจะยังคงมีให้เห็นอยู่ต่อไป เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีโอกาสศึกษาและทดลองสินค้า อีกทั้งเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าวาณิชไทยกับอินเดียได้เป็นอย่างดี
โดยภาณุภัทร ชวนะนิกุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,863 วันที่ 21 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556